ในช่วงงานเทศกาลมอบรางวัล Adfest2016 เราอาจจะได้ฟังความเห็นและทัศนะของเหล่าครีเอทีฟงานโฆษณากันมามากมายแล้ว แต่ก็ยังมีอีกกระบวนการหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กับความคิดสร้างสรรค์ นั่นคือฝ่าย “โปรดักชัน” ซึ่งจะทำหน้าที่ถ่ายทอดผลงานที่เป็นเพียงความคิดไอเดียในหัว ให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่างสมจริงดั่งใจ
และในงาน Adfest2016 นี้เราได้ทราบมาว่า ไดเร็กเตอร์ระดับหัวกะทิชั้นนำของไทย ได้นั่งเป็น Jury President ของงานประเภทFilm Craft Lotus & New Director ด้วย ซึ่งคนไทยน้อยคนที่จะได้มีโอกาสมานั่งหัวโต๊ะสำคัญอย่างนี้ ดังนั้น เราจึงไม่พลาดที่จะขอโอกาสร่วมพูดคุยถึงการทำงานและภาพรวมของวงการโปรดักชันไทย ซึ่งก็คือ “เต้น สีหบุตร ชุมสาย ณ อยุธยา ไดเร็คเตอร์หนุ่มจาก Triton Film”
ในปีนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไปทั้งเทรนด์ และแพล็ทฟอร์มที่หลากหลายขึ้น สำหรับในส่วน Production มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้างหรือไม่?
แนวโน้มของเราดีขึ้นเรื่อยๆ คือมีความ integrate และมีความ interactive มากขึ้น แต่ในแง่ของการทำงานโปรดักชั่นเราก็ยังเหมือนเดิม แต่อาจจะมีแพล็ทฟอร์มที่เปลี่ยนแปลงไป และวิธีคิดก็เปลี่ยนไปด้วย ซึ่งงานในส่วนของโปรดักช์ก็จะต้องคิดตามให้ทัน เช่น วิธีการลงมีเดียอาจจะไม่เหมือนเดิมแล้ว ที่เคยลงช่อง 3,5,7,9 อาจต้องเปลี่ยนไป ไปลงในส่วนออนไลน์มากขึ้น ความยาวที่ไม่จำกัด แต่งานด้านครีเอทต้องมี Big Idea สำคัญที่สุด
เทรนด์งาน Online เป็นอย่างไรบ้าง?
เป็นเทรนด์ที่มาแรงจริงๆ ส่วนใหญ่ลูกค้าก็รีเควสงานออนไลน์ค่อนข้างเยอะ ซึ่งทำให้เราตัดสินใจเปิด Triton X เพื่อรับงานใน unit นี้เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพราะว่าเรามีเด็กจบใหม่เพิ่มขึ้น ตรงจุดนี้ก็จะมาเป็นเวทีให้เขาได้ทำงาน ได้แสดงความสามารถ
กับการทำงานลงบน online แตกต่างจากการทำงานลงบน TVC ปัจจุบันอย่างไร?
อันที่จริงแล้วเราไม่ได้จำกัดแค่การนำมาลง Youtube เพราะตอนนี้แพล็ทฟอร์มโซเชียลอื่นๆ ก็มีมาก อย่าง Facebook ก็มีวิดีโอเหมือนกัน ซึ่งเราอาจจะไม่ได้ทำถึงขนาดที่ว่าต้องเอาคนดูให้อยู่ภายใน 3-5 วินาทีแรก คือยังไม่ได้รับการขอให้ทำสู้กับพวก skip ad แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการที่ลูกค้าขอให้ Branding มาก่อนเลยในช่วงแรก คือลูกค้าอาจจะกลัวว่าคนดูจะยังไม่ทันเห็นงาน ดังนั้น ก็เลยขอให้ Branding โชว์เลยตั้งแต่ช่วงต้นๆ ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านงานในลักษณะ promo จะค่อนข้างเยอะ ดังนั้น ส่วนใหญ่ก็จะขอให้ Branding ขึ้นเร็วหน่อยอย่างน้อยก็ให้เห็นใน 5 วินาทีแรก
กับการสร้างงานให้ Viral มีเยอะไหม แล้วจะต้องทำอย่างไรให้เกิดการ Viral?
มีเยอะด้วยความที่เทรนด์มันมาที่ดิจิทัล แต่ตนก็มองว่า Viral มันก็คืออาการที่ติดและระบาดออกไป มันได้เฉพาะออนไลน์เท่านั้น ซึ่งใช้งบฯ น้อย แต่ประสบความสำเร็จสูง แต่การที่จะทำให้งาน Viral ได้นั้น มันก็มีหลายปัจจัย แต่สำคัญสุดคือเนื้อหา Content is king สำคัญมาก คือต้องบอกว่ามันไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว บางอันตั้งใจให้เป็นแต่เฟลก็มี
เทคโนโลยี และการใช้ดิจิทัล เข้ามาทำให้งานโปรดักส์ชั่นง่ายขึ้นหรือไม่?
ช่วยได้เยอะเลย การถ่ายทำหนังเดี๋ยวนี้ใช้เพียงแค่ iPhone เครื่องหนึ่งก็ทำได้แล้ว เทคโนโลยีช่วยในหลายสิ่งแต่อยู่ที่เราต่างหากที่จะนำมันออกมาใช้อย่างไร ช่วยให้ใช้งบฯ ที่น้อยลง แต่งานเราก็ต้องคงคุณภาพไว้
ภาพรวม Adfest ในปีนี้?
ส่วนตัวคิดว่างาน craft ไทยเราก็สามารถสู้กับต่างประเทศได้อยู่ แต่ที่เราสู้ไม่ได้มันไม่ใช่ปัจจัยจากที่เราไม่มีคุณภาพ แต่เป็นเรื่ององค์ประกอบในการถ่ายทำอื่นๆ อย่างแสง บรรยากาศ สถานที่ถ่ายทำ เราคงไปสู้แสงสวยๆ หรือบรรยากาศภูมิประเทศของนิวซีแลนด์แบบนั้นคงไม่ได้ เพราะเวลาที่เขาถ่ายทำออกมันสวยมาก บ้านเราแดดดีๆ มีไม่กี่ชั่วโมงแบบนี้
ทำไมในช่วงหลังงานไทยไม่ค่อยถูกจัดอันดับให้อยู่ใน ranking สูงๆ เท่าที่ควร?
อันที่จริงไม่ใช่เพราะคนไทยเราไม่เก่งหรือไม่มีงานดีๆ ออกมาเลย เพียงแต่เป็นเพราะว่า งานแบบคนไทยเขาไม่ตื่นเต้นกันแล้ว รสชาติแบบไทยๆ อาจจะเริ่มคุ้นเคยกันแล้ว ดังนั้น เราก็จะต้องหารสชาติใหม่มานำเสนอบ้าง
“คือกินแซ่บๆ นี่ยังไม่มี เราต้องหาทางหาอะไรใหม่ๆ ออกมาด้วย โดยที่ยังมีความเป็นไทยอยู่”
อะไรที่ยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายโปรดักชั่นกับเอเจนซี่และลูกค้า?
คงเป็นปัญหาเดิมๆ คือเรื่อง “เวลา” แล้วก็ “งบประมาณ” อยากจะเรียนว่าโปรดักชั่นมันคือการใช้เงิน และเวลาที่สำคัญมาก คือไม่มีใครต้องการทำงานไม่คุณภาพ เราก็อยากทำให้งานทุกชิ้นออกมาให้ดีที่สุด แต่บางคนยังมีความเข้าใจผิดว่าพอให้ทำงานไวรัล แล้วงบฯ ต้องน้อย แต่มันไม่ใช่ งานทุกงานที่เราทำมันคือคุณภาพเราต้องการทำให้มันดีที่สุด
“แต่ถ้าถามว่าเราต้องทำไงถ้าเจอสถานการณ์แบบนี้ก็คือต้องรอบคอบมากขึ้น ระมัดระวังในการทำงานมากขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบกับงบประมาณที่จำกัด”
เศรษฐกิจที่ค่อนข้างเนือย เรามีวิธีการปรับตัวอย่างไร?
โดยรวมอาจจะไม่แย่นัก แต่ที่เราต้องทำคือปรับตัวให้ได้เราต้องรอบคอบมากขึ้น แม่นมากขึ้น ที่ผ่านมาเราอาจจะใช้เงินในการแก้ปัญหาต่างๆ ได้ แต่เดี๋ยวนี้คงทำแบบนั้นไม่ได้ ซึ่งตอนนี้อย่าง Triton เราก็พยายามหาลูกค้าจากต่างประเทศมากขึ้น โดยปัจจุบันเรามีสัดส่วนลูกค้าในประเทศ 80% ต่างประเทศ 20% ส่วนใหญ่เป็นไต้หวัน
“แต่ก็จะมีปัญหาบ้างว่าเวลารับงานต่างประเทศเยอะๆ ไปสัก 1 ปี งานในประเทศก็หายไป ทำให้ตอนนี้เราต้องกลับมาโฟกัสงานในบ้านด้วย คือต้องบาลานซ์ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศให้ดี”
สิ่งที่คิดว่าไทยเรายังขาดและต้องพัฒนาต่อไป?
เราก็พัฒนามาเรื่อยๆ ไม่ได้มีอะไรด้อยกว่าที่อื่น อันที่จริงแล้วต่างประเทศชื่นชมในความสามารถของคนไทยด้วยซ้ำ เขาบอกเลยว่า Crew Thais is the best ไมว่าจะเรื่องวินัยหรือเรื่องทักษะในการทำงานก็ดี หรือ Service mind เราก็มีสูง ในส่วนของโปรดักชันตนไม่เห็นว่ามีอะไรขาดนะ
แต่สิ่งที่อยากฝากคงเป็นภาครัฐ คือถ้าในต่างประเทศจะมีสำนักงานกลางที่เรียกว่า Film Office ซึ่งจะเป็นหน่วยงานที่คอยประสานงานระหว่างฝ่ายทีมโปรดักส์ชั่นกับท้องถิ่น เช่น เรื่องการปิดถนน การใช้สถานที่ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มันจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับทีมงานได้เยอะ และทำให้งานเสร็จรวดเร็วขึ้นด้วย ที่สำคัญคือทำให้เป็นมาตรฐานสากล แล้วมันจะช่วยยกระดับของการเป็นประเทศที่เหมาะแก่การถ่ายทำภาพยนตร์ด้วย เพราะเท่าที่ตนได้ร่วมงานกับต่างชาติมาก็ได้ยินปัญหานี้มามากว่าทำไมไทยไม่ตั้งสำนักงาน Film Office ที่เป็นทางการขึ้น เพราะไทยเป็นประเทศที่มีหลายชาติอยากจะเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์มากมาย และถ้าเรามีส่วนนี้คอยบริการเขา ตนคิดว่าน่าจะช่วยอุตสาหกรรมฟิล์มบ้านเราให้พัฒนาขึ้นได้ และยังช่วยภาพรวมเศรษฐกิจไทยด้วย
Copyright © MarketingOops.com