ต่อจากคราวที่แล้ว ‘Online Marketing แบบไม่ต้องเสียเงิน (ตอนที่ 1)’
เครื่องมือฟรีจาก Google ที่จะมาช่วยในการทำตลาดยังมีอยู่อีกหลายตัวด้วยกัน มาทำความรู้จักกับเครื่องมือเหล่านี้กันต่อ และมาดูว่าเครื่องมือแต่ละตัวนั้นนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง
Google Base
Google Base หรือ ดาต้าเบสสาธารณะ เครื่องมือสำหรับการทำ Internet Promotion อีกตัวหนึ่งที่มาทำหน้าที่เป็นโฮสต์ให้ผู้ใช้สามารถอัพโหลดข้อมูลต่างๆ ขึ้นไปเองได้ โดยผู้ท่องอินเทอร์เน็ตรายอื่นๆ สามารถเข้ามาศึกษาหาข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติมได้
ข้อมูลที่จะโพสต์ขึ้นไป จะถูกแสดงให้เห็นทั้งรูป ข้อมูล และราคาสินค้า สามารถประกาศขายสินค้าของตัวเองได้ อีกทั้งยังรองรับบริการ Checkout เพื่อรองรับการชำระเงินค่าสินค้าได้ง่ายขึ้น โดยการโพสต์ข้อมูลขึ้นบนเว็บจะต้องป้อนข้อมูล 2 ส่วนด้วยกัน คือ ส่วน Labels ซึ่งจะเป็นคีย์เวิร์ด วลี ที่บ่งบอกว่าข้อมูลที่โพสต์ขึ้นไปนั้นเกี่ยวกับอะไร เช่น ตำราอาหาร กิจกรรม สินค้า เป็นต้น ส่วนข้อมูลอีกส่วนหนึ่งคือ คำอธิบายที่จะช่วยระบุให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น สินค้าที่โพสต์ขึ้นไปเป็นประเภทไหน มีคุณสมบัติอะไรบ้าง ซึ่งข้อความหรือรายละเอียดที่โพสต์ขึ้นไปนั้นต้องเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น เนื่องจากยังไม่รองรับภาษาไทย
ในขณะเดียวกันยังสามารถทำงานร่วมกับ AdWords ได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงเป้าหมายทั้งในประเทศและทั่วโลกได้มากขึ้น โดยไฟล์ที่ Google Base รองรับ มีทั้งไฟล์ประเภทออนไลน์ เช่น ลิงก์หน้าเว็บเพจ และไฟล์ประเภทออฟไลน์ เช่น ไฟล์รูปภาพ ไฟล์เอกสาร เป็นต้น โดยขนาดไฟล์ต้องไม่เกิน 20 MB
สำหรับประเภทของข้อมูลที่สามารถโพสต์ขึ้นไปได้นั้น มีหลากหลายประเภท อาทิ กิจกรรมต่างๆ งาน โรงแรม ผลิตภัณฑ์ รีวิว ยานพาหนะ บริการต่างๆ ตำราทำอาหาร เป็นต้น
Google Keyword Tool
เครื่องมืออีกชิ้นหนึ่งสำหรับ Webmaster ที่จะช่วยคาดคะเนคำที่ค้นหา จำนวนที่สืบค้น คู่แข่ง ราคา คำที่ใกล้เคียงเพื่อนำไปใช้พิจารณาในการซื้อโฆษณาบน Google AdWords และยังช่วยสร้างไอเดียใหม่ๆ ในการสร้างคีย์เวิร์ดให้กับนักการตลาดอีกด้วย
การวิเคราะห์คีย์เวิร์ดสามารถทำได้ 2 รูปแบบคือ ใส่คีย์เวิร์ดที่ต้องการเข้าไปเลย จากนั้นก็ให้เครื่องมือช่วยวิเคราะห์ให้ หรือจะให้หาคีย์เวิร์ดจากเว็บไซต์ หรือบล็อกที่ต้องการ จากนั้นเครื่องมืออัจฉริยะตัวนี้จะช่วยวิเคราะห์คีย์เวิร์ด หรือค้นหาคีย์เวิร์ดที่มีอยู่ในเว็บไซต์นั้นมาให้
นอกจากนี้เรายังสามารถเลือกรูปแบบการวิเคราะห์ได้ถึง 4 รูปแบบคือ Broad คำที่เป็นคีย์เวิร์ดที่ต้องการค้นหาจะอยู่ตรงส่วนไหนของเนื้อหาก็ได้ ไม่จำเป็นที่คีย์เวิร์ดนั้นต้องอยู่ติดกัน Phrase คีย์เวิร์ดที่ต้องการหาจะต้องอยู่ติดกัน โดยลักษณะการค้นหานั้น คีย์เวิร์ดคำนั้นจะอยู่ในเครื่องหมายคำพูด เช่น “green technology” เป็นต้น Exact คีย์เวิร์ดที่ต้องการหา จะต้องเป็นคำนี้เท่านั้น โดยลักษณะในการค้นหา คีย์เวิร์ดคำนั้นจะต้องอยู่ในเครื่องหมายก้ามปู เช่น [green technology] เป็นต้น
ผลลัพธ์ที่ได้จากการวิเคราะห์คีย์เวิร์ดหากคุณสนใจคำไหนก็สามารถ Add เข้าไปใน Account ของตัวเองใน AdWords ได้ทันที แต่อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าผลลัพธ์ที่ได้นี้เป็นเพียงไอเดียให้คุณเลือกใช้คำ ใช้คีย์เวิร์ด เพื่อการลงทุนใน AdWords อย่างเหมาะสม แต่ไม่ได้การันตีว่าคุณจะได้กำไรจากการลงทุนใน AdWords และไม่สามารถตรวจสอบราคาที่ใช้ในการ Bid ได้ ดังนั้นการเลือกใช้คีย์เวิร์ด คุณอาจจะต้องใช้เครื่องมือจากหลายๆ แห่ง เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจ และใช้เป็นไอเดียในการสร้างคีย์เวิร์ดเพื่อทำการตลาดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
Google Trends
เครื่องมืออีกชิ้นหนึ่งที่ขาดไม่ได้ ซึ่งจะมาช่วยในการทำ SEO ของคุณได้มาก โดยความสามารถของ Google Trends คือ การบอกความนิยม หรือเทรนด์ของคำ ข่าว หรือสิ่งที่คนนิยมค้นหาในอินเทอร์เน็ต ซึ่งความสามารถแบบนี้จะช่วยนักการตลาดให้สามารถเลือกคำ หรือคีย์เวิร์ดที่จะให้แสดงบนเว็บไซต์ของเราได้ง่ายขึ้น
เช่น ต้องการเปรียบเทียบคำว่า Google หรือ Yahoo ที่ได้รับความนิยมมากกว่ากัน เราก็ใส่คำว่า Google Yahoo เข้าไปในช่อง Search Trends (อย่าลืมใส่ comma ระหว่างคำที่ต้องการเปรียบเทียบ) จากนั้นก็จะมีผลลัพธ์แสดงขึ้นมาเป็นกราฟ ทั้งในแง่ของช่วงเวลา และวิเคราะห์ความนิยมเป็นประเทศ เมือง ทวีป ภูมิภาค ได้ด้วย ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะทำให้เราทราบว่าควรจะใช้คีย์เวิร์ดคำไหน ถึงจะทำให้ถูกค้นพบได้ง่ายกว่ากัน โดยการเปรียบเทียบนั้นสามารถเปรียบเทียบคีย์เวิร์ดพร้อมกันได้สูงสุด 5 คำ
นอกจากนี้ผลลัพธ์ที่ได้ยังแสดงข่าวที่เกิดขึ้นกับคีย์เวิร์ดที่ต้องการหา แสดงความถี่ของปริมาณการค้นหาของคำนั้นๆ แสดง Regions, Cities และ Languages ไหนบ้างที่สนใจคีย์เวิร์ดเหล่านี้อีกด้วย
Google Trends นอกจากจะช่วยเปรียบเทียบคีย์เวิร์ดแล้ว ยังสามารถเปรียบเทียบเว็บไซต์ได้ด้วยว่าเว็บไซต์ที่ไหนได้รับความนิยม เป็นแหล่งที่คนกำลังให้ความสนใจ โดยหลักการเปรียบเทียบจะเหมือนกับการเปรียบเทียบคีย์เวิร์ด แค่ใส่ชื่อเว็บไซต์ที่สนใจเข้าไปในช่อง search trends เช่น hi5.com, msn.com, myspace.com เป็นต้น จากนั้นกดปุ่ม Search Trends เพียงเท่านี้ก็จะมีผลลัพธ์ออกมาให้
ผลลัพธ์ที่แสดงออกมาได้แก่ ความถี่ของผู้เข้าเยี่ยมชมรายวัน 10 อันดับแรกของประเทศใน Regions ที่เข้าชมเว็บไซต์ที่ระบุสูงสุด ซึ่งเราสามารถคลิกเข้าไปดูรายละเอียดได้ด้วยว่าในประเทศนั้นๆ จังหวัดไหน รัฐไหน ที่เข้ามาเยี่ยมชมมากกว่ากัน 10 อันดับของภาษาที่นิยมใช้ในการค้นหาเว็บไซต์ ข่าวที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์ที่ต้องการ เป็นต้น โดยเราสามารถเลือกดูผลลัพธ์ตามช่วงเวลาที่ต้องการได้ด้วย
Google Groups
เครื่องมือที่มาช่วยบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า ที่สุดแสนจะมีประโยชน์ และยังฟรีอีกต่างหาก โดยเครื่องมือตัวนี้จะเป็นช่องทางการกระจายข่าวสารทางหนึ่งให้กับเว็บไซต์ของคุณ โดยการกระจายข่าวสารอาจจะเป็นในลักษณะของการส่งอีเมล์ถึงกันระหว่างสมาชิกที่อยู่ใน Group เดียวกันทั้งหมด
ข้อดีของการใช้ Google Groups ก็คือ ทำให้สามารถกระจายข่าวสารให้กับสมาชิก หรือผู้ที่สนใจได้อย่างทั่วถึงโดยผ่านทางอีเมล์ ทำให้สมาชิกที่ไม่ค่อยได้เข้าเว็บไซต์ หรือเว็บบอร์ดก็ยังได้รับข้อมูลจากทางเว็บไซต์เรา อีกทั้งหากเกิดปัญหาเว็บบอร์ดล่ม เว็บล่ม เราก็ยังสามารถติดต่อกับกลุ่มสมาชิกได้อย่างไม่มีปัญหา
ในขณะเดียวกันก็สามารถส่งข่าวสารสินค้ามาใหม่ผ่านทางช่องทางนี้ได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ให้กับสินค้าของคุณได้ในอีกช่องทางหนึ่ง แต่ข้อเสียของ Google Groups ก็คือ สมาชิกจำเป็นจะต้องมีเนื้อที่สำหรับเก็บอีเมล์จำนวนมากพอ
แต่สมัยนี้ฟรีอีเมล์ส่วนใหญ่ก็ให้ใช้พื้นที่แบบไม่มีจำกัดกันอยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องพื้นที่จึงไม่ใช่ปัญหาหลักที่แท้จริง แต่การจะทำให้ผู้ได้รับอีเมล์นั้นเปิดอ่าน หรือมองเห็นหัวข้ออีเมล์ของคุณนี่สิอาจจะเป็นปัญหาใหญ่กว่า เพราะอย่าลืมว่าวันๆ หนึ่งมีอีเมล์มากมายวิ่งเข้ามาหาคุณ ซึ่งถ้ามีอีเมล์เข้ามาใน Inbox เยอะมากๆ คนรับอีเมล์อาจจะไม่ได้อ่าน หรืออีเมล์ของคุณอาจจะหลุดจากหน้าแรกของ Display ไปแล้วก็ได้ ซึ่งทำให้โอกาสการถูกพบเห็นมีน้อยลงไปอีก ดังนั้นเจ้าของเว็บไซต์เองก็ควรที่จะบริหารเวลาการส่ง และหัวข้อเรื่องที่จะส่งอีเมล์ให้กับสมาชิกใน Google Groups ด้วย
นอกจากจะส่งอีเมล์ให้กับสมาชิกในกลุ่มได้แล้ว คุณยังสามารถ Chat แบบออนไลน์กันได้ด้วย โดยหมวดหมู่ของกลุ่มใน Google Groups ได้มีการจัดกลุ่มไว้มากมาย เช่น กลุ่มธุรกิจ กลุ่มข่าว กลุ่มศิลปะและบันเทิง กลุ่มผู้คน กลุ่มสังคมและมนุษยธรรม กลุ่มสุขภาพ กลุ่มบ้าน กลุ่มคอมพิวเตอร์ เป็นต้น และยังเลือกดูกลุ่มที่อยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ด้วย
Google Toolbar
เครื่องมือชิ้นนี้มีประโยชน์อย่างมากในแง่ของการทำตลาด โดยหลังจากที่คุณติดตั้ง Google Toolbar แล้วคุณจะทราบได้ทันทีว่าเว็บไซต์ที่คุณเปิดอยู่นั้นมีค่า PageRank อยู่ที่ระดับเท่าไหร่ (ปกติมีค่าตั้งแต่ 0-10) ซึ่งค่านี้ยิ่งมีค่าสูงนั่นหมายความว่า เว็บไซต์นั้นได้รับความนิยม มีคนเข้าไปใช้บริการมาก และถ้าเว็บไซต์ของคุณยังเป็นหน้าใหม่ในวงการออนไลน์ หากมีค่า PageRank ขึ้นเมื่อไหร่ ก็แสดงว่า Google ได้ทำการเก็บข้อมูลในเว็บไซต์ของคุณไว้ในฐานข้อมูลแล้ว
ด้วยความสามารถของเครื่องมือนี้ ทำให้คุณตรวจสอบเว็บไซต์ต่างๆ ที่อยู่ในโลกไซเบอร์ได้ทุกเว็บไซต์ โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่เป็นคู่แข่ง คุณสามารถเข้าไปตรวจสอบความเคลื่อนไหวได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งที่มีมาพร้อมกับ Google Toolbar ก็คือฟังก์ชั่น Bookmark หรือก็คือที่คั่นหน้าเว็บไซต์ ชอบเว็บไซต์ไหนเราก็จดจำเอาไว้เหมือนกับ Add Favorite บน IE แต่การ Add Favorite จะเก็บข้อมูลเว็บลิงก์นั้นไว้คอมพิวเตอร์เครื่องนั้นเท่านั้น หากคุณทำการเปลี่ยนเครื่องเว็บลิงก์ที่คุณ Add ไปนั้นก็จะไม่ติดตามตัวคุณมาด้วย
แต่การทำ Bookmark ด้วย Google Toolbar ไม่ว่าคุณจะใช้คอมพิวเตอร์เครื่องไหน ข้อมูลเกี่ยวกับหน้าเว็บไซต์ที่คุณทำการ Add ไว้นั้นก็จะติดตามคุณไปด้วย เพียงแต่ว่าเครื่องนั้นจะต้องมี Google Toolbar ติดตั้งอยู่เท่านั้น ที่สำคัญหากมีคนมาใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณ ก็จะไม่มีใครรู้ว่าคุณชื่นชอบเว็บอะไรบ้าง ชอบเข้าไปดู ไปอ่านข้อมูลอะไร เนื่องจากการจะเข้าถึง Bookmark ส่วนตัวของคุณได้นั้นจะต้องทราบบัญชี Login ใน Gmail ของคุณด้วย ซึ่งความสามารถนี้ก็สร้างความเป็นส่วนตัวให้กับคุณได้ในระดับหนึ่ง และยังทำให้คุณสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ที่คุณโปรดปรานได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
ได้ทำความรู้จักกับเครื่องมือเอนกประสงค์จาก Google ซึ่งช่วยให้นักการตลาดไม่พลาดโอกาสที่จะใช้ให้เกิดประโยชน์ ในการทำธุรกิจได้อย่างมีชั้นเชิงและง่ายขึ้นด้วย
Source: Ecommerce Magazine