แม้มูลค่าตลาดเพลงดิจิตอลจะไม่ปรากฎตัวเลขชัดเจนว่า มีจำนวนเท่าไหร่กันแน่ในแต่ละปี แต่เมื่อประเมินจากคำบอกเล่าของผู้เล่นรายหลักในตลาดพบว่ามีอัตราเติบโตปีละกว่า 20% จูงใจให้แข่งกันทำตลาดด้วยหลากหลายวิธีการ แต่จุดวัดความได้เปรียบอยู่ที่ 3 ปัจจัย
- ใครมีคอนเทนต์ที่โดนใจมากกว่า
- ใครมีคอนเทนต์ที่มีความหลากหลายมากกว่า
- ใครขยันสร้างนวัตกรรมใหม่ๆได้ดีกว่า
และสำคัญกว่านั้น ใครมีกลวิธีที่จะดึงเม็ดเงินจากกระเป๋าลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง!!!
“วันนี้ พัฒนาการทำตลาดดิจิตอลไม่ได้อยู่เพียงแค่ มีคอนเทนต์ที่ดี หลากหลาย แต่ก้าวต่อไปเพื่อไม่ให้รายได้แกว่งไปแกว่งมา การสร้างช่องทางขายผ่านสมาชิกจะเป็นอีกวิธีหนึ่งในการทำตลาด”
เป็นคำบอกเล่าของสุวัฒน์ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัทจีเอ็มเอ็ม ดิจิทัล โดเมนจำกัด( GMMD)ผู้ได้รับความไว้วางใจจาก”ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” ผู้ก่อตั้งจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ให้กุมทัพขับเคลื่อนหน่วยธุรกิจดิจิตอลของแกรมมี่ทั้งหมด ถึงทิศทางการสร้างความได้เปรียบในตลาด จากคอนเทนต์ที่มีอยู่จำนวนมาก
ซึ่งคล้ายคึงกับความเห็นของยรรยง อัครจินดานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์.เอส.โปรโมชั่น จำกัด(มหาชน)สายงานนิวมีเดียร์ที่มองว่ารายได้ในธุรกิจนี้จะมีการแกว่งขึ้นลงค่อนข้างสูง ดังนั้น วิธีการหนึ่งที่อาร์เอสทำ คือการสร้างสมาชิกที่เเริ่มทำมาตั้งแต่เมื่อปี2550 และตามมาด้วยกิจกรรมที่จะใส่เข้าไป ทำให้วันนี้ชีซ่าดอทคอมจึงมีสมาชิกแล้วกว่า 1 ล้านราย
เทียบฟอร์ม”ดิจิตอล” – อาร์เอส-แกรมมี่ใครใหญ่?
ต้องยอมรับกันว่า บริษัทจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ จำกัด(มหาชน)คือ ค่ายเพลงเบอร์หนึ่งเมืองไทยที่มีศิลปินในสังกัดมากที่สุด ซึ่งหากจะหยิบมาพัฒนาสู่การเป็น”ดิจิตอลคอนเทนต์”จึงไม่ใช่เรื่องยากแต่ประการใด แต่ปัญหาคือธุรกิจกลุ่มนี้ขยับตัวได้ช้ากว่าคู่แข่งในตลาด แม้จะมีข้อได้เปรียบในเรื่องคอนเทนต์มากกว่าก็ตาม จึงไม่ต่างอะไรกับ”ช้างเต้นระบำ”
ภาพที่ปรากฎออกมากลายเป็นว่าบริษัท อาร์เอส จำกัด(มหาชน) คือ ผู้นำในตลาดเพลงดิจิตอลตัวจริง!
“ถึงวันนี้ ผมคิดว่าน่าพอใจ มาร์เก็ตแชร์ของธุรกิจเพลง ถ้าเป็นแบบเทรดดิชันแนล อาร์เอสไม่ได้เป็นบริษัทที่มีมาร์เก็ตแชร์มากที่สุด แต่ในภาคดิจิตอลเรามีเยอะที่สุด หมายความว่าในกลุ่มคนรุ่นใหม่เริ่มให้การยอมรับเราค่อนข้างสูง โดยแชร์วันนี้ยังขึ้นๆ ลงๆอยู่”ยรรยงบอกเล่าถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้น หลังนำอาร์เอสบุกตลาดเพลงดิจิตอลเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเขาอ้างว่าเป็นเพียงรายแรกรายเดียวในตลาดที่ลงมือปฏิวัติวงการเพลงในห้วงเวลานั้น
และเมื่อประเมินความสำเร็จที่เกิดขึ้น ผู้บริหารงานอาร์เอาสายงานนิวมีเดียร์บอกว่าพอใจ เพราะตัวเลขเติบโตกว่าตลาดทุกปี โดยเฉพาะปีนี้โตเฉลี่ย 25-30% ในขณะตลาดอยู่ที่ 20% และเมื่อวัดออกมาเป็นตัวเลขเม็ดเงินปี 2550 มีรายได้ 270 ล้านบาท สิ้นปีนี้เชื่อว่าจะทะลุ 350 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันนี้ยักษ์หลับได้ตื่นขึ้นมาแล้วและแต่งตัวแข่งในตลาด จึงไม่ใช่ข่าวดีนักสำหรับผู้บุกเบิกตลาดรายแรก เพราะหากวัดด้วยจำนวนตัวเลขรายได้เพลงดิจิตอลหลังแกรมมี่บุกตลาดผ่านไปเพียง1-2ปีเศษ ทำให้ตัวเลขทิ้งห่างกันเกือบ 1 เท่าตัว โดยเมื่อปี 2550 มีรายได้ 400 ล้านบาท และสินปี2551 คาดหมายว่าจะมีรายได้สูงกว่า 600 ล้านบาท หรือเติบโตคิดเฉลี่ย 40-50% สูงกว่าตลาด 1 เท่า
“ผมว่า เรามีข้อได้เปรียบทั้งเรื่องคอนเทนต์อยู่หลากหลาย มีฐานข้อมูลที่แข็งแกร่ง จึงสามารถทดลองทำตลาดได้กับทุกกลุ่มได้ดี เพราะแต่ละกลุ่มมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างกัน นอกจากนี้เรามีช่องทางที่แข็งมีทั้งรายการทีวี ทีวีดาวเทียม วิทยุ ร้านค้า เอาเลท และมีกิจกรรมต่างๆ นี้ คือฐานตลาดเที่รามีอยู่ และสามารถทำซีอาร์เอ็มได้ดี”ผู้บริหารด้านเพลงดิจิตอลของแกรมมี่บอกเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังเข้าสู่ตลาดเพียง 2ปีที่ผ่านมาเท่านั้น
“นวัตกรรม+เซ็กเมนต์ลูกค้า”วัดความได้เปรียบการแข่งขัน
จากตัวเลขที่เติบโตแบบก้าวกระโดดของแกรมมี่ จนทำให้ตัวเลขทิ้งห่างอาร์เอสเกือบ 1 เท่าตัว จึงเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับผู้บุกเบิกตลาดเพลงดิจิตอล เพราะหากแข่งขันด้วยจุดแข็งของคู่แข่งจึงไม่ใช่วิธีการที่อาร์เอสจะหยิบนำมาใช้ วิธีการจึงต้องโฟกัสกลุ่มเฉพาะที่ดึงมาสร้างเป็นจุดแข่งขันได้
“ผมว่าปัจจัยที่จะทำให้เป็นข้อได้เปรียบในตลาดดิจิตอล คอนเทนท์ คือการมีข้อเสนอใหม่ๆ ให้กับลูกค้าอยู่เสมอ อีกเรื่องหนึ่งบุญเก่าก็เป็นเรื่องสำคัญ หมายความว่ามีเพลงในคลังจำนวนมาก เป็นจุดที่ทำให้คู่แข่งเราได้เปรียบมาก ซึ่งเขาก็พยายามปรับตัวเองและก็ทำได้ดี เราก็ต้องปรับตัวเองต่อไป..
วิธีเอาตัวรอดของเรา ผมยอมรับว่าปีสองปีมานี้โดยส่วนตัวเป็นโรควิตกจริตกับภาวะเศรษฐกิจมาก น้ำมันแพงของแพง คนลำบาก จะทำอย่างไรในภาวะเศรษฐกิจไม่ดี แต่เราต้องดำเนินชีวิตต่อไป วิธีที่คิด คือ ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีต้องทำอย่างไร ต้องมานั่งจัดหน้าโฟกัสกลุ่มลูกค้าให้ชัดเจน ต้องขยันที่จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาอย่างสม่ำเสมอ ถ้าขายของเดิมได้ 100 ก็อาจลดลงมาเหลือแค่ 60-70 บาทก็พอ” ผู้บริหารอาร์เอสอธิบายถึงสิ่งที่ลงมือทำ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีนัก
พร้อมบอกเล่าอีกว่า วิธีที่ทำคือเพิ่มไลฟ์ ไซเคิล พยายามนำโปรดักต์ใหม่เข้ามา วิธีการขายใหม่ๆ รวมถึงหาลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เดิมอาจคิดออกโปรดักต์มาไตรมาสละหนึ่งครั้ง แต่วันนี้ไม่พอแล้ว อันนี้เป็นกลยุทธ์หลักที่ใช้ เพราะเราแข่งด้วยเรื่องของเทคโนโลยี ลูกค้า คือกลุ่มเด็กใหม่วัยรุ่น
เพราะฉะนั้น เราต้องทำตัวให้ตื่นเต้น มีของออกมาใหม่ๆเสมอๆ..!!!
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจหากศิลปินในกลุ่มอาร์เอสจำนวนมากจะเป็นกลุ่มวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่กลุ่มผู้ใหญ่มีสัดส่วนค่อนข้างน้อย จึงเป็นโจทย์ให้ผู้บริหารค่ายนี้คิดหาลูกเล่นใหม่ๆ มาเล่นกับลูกค้าวันทีน เพราะหากแข่งในตลาดเดียวกับเบอร์หนึ่งที่มีคอนเทนต์มากกว่า จึงมองไม่เห็นหนทางจะแข่งขันด้วยรูปแบบเดียวกันได้
“ลูกค้าตลาดเพลงดิจิตอลของแกรมมี่หลากหลาย แต่กลุ่มใหญ่ไม่ใช่นักศึกษา เป็นคนวัยทำงาน ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และคอนเทนต์ที่เรามีอยู่ก็ตอบโจทย์พฤติกรรมลูกค้ากลุ่มนี้ได้อย่างดี”เป็นคำอธิบายของสุวัฒน์ ดำรงชัยธรรมถึงกลุ่มลูกค้าที่แบ่งเข้าไปเจาะ แม้ว่าเขาจะยืนยันเหมือนกับผู้บริหารอาร์เอสว่าในตลาดเพลงดิจิตอล จะไม่มีกลุ่มไหนที่เรียกว่า”กลุ่มแมสของตลาด” เพราะพฤติกรรมจะต่างกับในระบบเทรดดิชันนัล ที่แบ่งกลุ่มได้ชัดเจนว่ากลุ่มต่างจังหวัด กลุ่มเพลงลูกทุ่ง กลุ่มเพลงสตริง กลุ่มวัยรุ่น เป็นต้น “ตลาดกลุ่มแมสในดิจิตอลจริงๆ ไม่มี เพราะพอสินค้าประสบความสำเร็จระดับหนึ่งมันก็จะข้ามกลุ่มไปเอง กลายเป็นเทรนด์ของสังคมในเวลานั้น แต่ในเวลาเริ่มต้นเราต้องไอเดนทิไฟชัดเจนว่าเรากำลังคุยกับใคร”ยรรยงบอกเล่าลักษณะพิเศษของเพลงดิจิตอล
และวิธีการหนึ่งเพื่อรับมือรายได้ที่จะเข้ามาอย่างต่อเนื่อง นั้นคือ การขยันสร้างสมาชิก หรือบรรดาแฟนพันธุ์แท้ขึ้นมา โดยอาร์เอสเลือกที่จะเปิดสู่โลกเสมือนจริง (Second Life)ชื่อชีซ่าดอทคอม มีกิจกรรมหลากหลายผ่านเว็บไซต์นี้ ทำให้ผ่านมาเพียง 1ปีมีจำนวนผู้ใช้แล้วกว่า 1 ล้านราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่สามารถถักทอออกมาเป็นรายได้อย่างดีในอนาคต
“ถ้าจะทำให้รายได้ในธุรกิจนี้ไม่แกว่งไปมามากนัก ผมคิดว่า รูปแบบการสร้างสมาชิกจะเป็นวิธีการหนึ่งที่เราทำอยู่เวลานี้
ชื่อ แฮปปี้แวมไพร์ม ผมมั่นใจว่าจะได้รับความนิยมได้ไม่ยาก ซึ่งหากเรามีระบบสมาชิกทีเข็มแข็งจะช่วยลดคอร์สในเรื่องการทำตลาดลงได้มาก ต้องเข้าใจว่าคอนเทนต์เพลงนั้นลงทุนสูงมาก “เป็นคำอธิบายของสุวัฒน์ ดำรงชัยธรรมถึงวิธีการทำตลาดในก้าวต่อไปในธุรกิจเพลงดิจิตอล ซึ่งส่วนใหญ่กว่า 60%ผ่านช่องทางโทรศัพท์มือถือ
Source: Business Thai