ปิดเกมโทรคมนาคมเรียบร้อย เมื่อ True Corporation หนึ่งในเครือ CP Group และ dtac ที่มีกลุ่ม Telenor จากประเทศนอร์เวย์ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งไม่ผิดไปจากที่ก่อนหน้านี้ที่มีข่าวลือรวมไปถึงข่าวการเจรจาทั้ง True และ dtac เนื่องจากกลุ่ม Telenor ในช่วงก่อนหน้านี้มีนโยบายปรับลดต้นทุนเพื่อสร้างผลกำไรให้กับกลุ่ม จนส่งผลต่อการทำการตลาดของ dtac ในประเทศไทยที่ไม่ต่อเนื่อง และมีข่าวลือบ่อยครั้งถึงการถอนตัวจากตลาดประเทศไทย รวมถึงการควบรวมกับผู้เล่นรายอื่น
ประกอบกับการพัฒนาของกลุ่ม True อย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม China Mobile ช่วยให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคม และการวางแผนกลยุทธ์ที่สนับสนุนการเติบโตของกลุ่ม True รวมไปถึงสิ่งที่หลายคนทราบกันดีกับเรื่องของการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ที่ถือเป็นตัวพลิกเกมที่สำคัญ แม้จะมีการชี้แจงแล้วว่า ผลการประมูลไม่ได้ลดทอนประสิทธิภาพกาพการให้บริการแต่อย่างใดก็ตาม
True ชี้ควบรวม dtac เป็น Eco-Partnership
โดย True และ dtac ตั้งโต๊ะชี้แจงล่าสุดถึงการควบรวมกิจการในครั้งนี้ว่า ธุรกิจโทรคมนาคมปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันการเชื่อมต่อระหว่างผู้คนไม่จำเป็นต้องใช้ระบบโทรคมนาคมรูปแบบเดิม ส่งผลให้รูปแบบการแข่งขันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยมีเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นตัวแปรสำคัญ อย่าง AI หรือ IoT เป็นต้น ทั้งนี้การแข่งขันจะไม่ใช่การแข่งขันเฉพาะผู้เล่นในตลาดเท่านั้น แต่กำลังแข่งขันในระดับประเทศในระดับโลก ซึ่งความร่วมมือกันในครั้งนี้จะช่วยให้ทั้ง True และ dtac สามารถเข้าสู่การแข่งขันในยุคสมัยใหม่ได้ และช่วยลดข้อจำกัดในการให้บริการผู้บริโภค รวมไปถึงการแข่งขันของธุรกิจ
โดยคาดว่าในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้ากระบวนการตรวจสอบต่างๆ ของทั้ง 2 บริษัทจะแล้วเสร็จ แล้วเริ่มเข้าสู่กระบวนการควบรวมเพื่อเกิดบริษัทใหม่ในรูปแบบ Eco-Partnership ที่ทำให้พันธมิตรทั้ง 2 ที่มีความเท่าเทียมกันในการทำธุรกิจ เพื่อสร้าง ecosystem โดย ecosystem จะเกิดขึ้นมาจำเป็นต้องมี 7 ปัจจัยสำคัญ ทั้งการที่ภาครัฐเข้าไปลงทุนในเทคโนโลยี, การพัฒนา Tech Startup, การพัฒนาศูนย์ Excellence Center, การพัฒนาซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์, การพัฒนาบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, การดึงผู้เล่นรายใหญ่ระดับโลกเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งใน ecosystem และการศึกษา
จากปัจจัยทั้ง 7 ส่งผลให้ True และ dtac เตรียมโครงสร้างของบริษัทใหม่ ซึ่งจะเน้นไปที่ 8 ด้านหลัก ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน 5G และ 6G เป็นพื้ฐานหลัก รวมถึงการพัฒนาด้าน AI, ด้าน Digital Media, ด้าน IoT, ด้าน Cloud Technology, ด้านเทคโนโลยีอวกาศ, ด้านการลงทุน Venture Capital เพื่อระดมทุนในกลุ่ม Start Up ของประเทศไทย ให้สามารถก้าวสู่ระดับโลก โดยมีแผนจะจัดตั้งกองทุนประมาณ 100-200 ล้านบาท และด้านการพัฒนาบุคลากร
โฉมใหม่เกมโทรคมนาคมหลัง True – dtac
การควบรวมครั้งนี้จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อตลาดโทรคมนาคมไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ ที่ชัดเจนคือผู้เล่นในตลาดจะเหลือ 2 ค่ายใหญ่ (ไม่นับรายอื่นที่เป็นรัฐวิสาหกิจ) และเป็น 2 ค่ายที่มีทุกอย่างใกล้เคียงกันทั้งในแง่คลื่นความถี่ที่มีครบทุกคลื่นทุกย่านความถี่ ในแง่ธุรกิจที่มีทั้งเครือข่ายมือถือ ธุรกิจอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ทั้ง AIS Fibre และ True Online ธุรกิจความบันเทิงอย่าง True Vision และ AIS Play
อีกสิ่งที่จะเห็นได้ชัดเจนคือความร่วมมือกับธุรกิจต่างๆมากมาย ซึ่งหากดูที่ AIS จะเห็นความร่วมมือในรูปแบบพันธมิตรที่กระจายไปในหลายภาคธุรกิจและย่อมหมายถึงการสร้างกลยุทธ์การตลาดที่ร่วมกับพันธมิตร ขณะที่ True เองก็น่าจะได้เห็นภาพความร่วมมือของธุรกิจต่างๆ ที่อยู่ในเครือ CP Group ซึ่งในอนาคตภาพการแข่งขันธุรกิจโทรคมนาคมน่าจะเน้นไปที่ความร่วมมือกับธุรกิจต่างๆ
นอกจากนี้ ในอนาคตน่าจะได้เห็นการแข่งขันอย่างชัดเจนของ 2 ผู้นำธุรกิจ โดยเฉพาะในด้านของเทคโนโลยี ที่ฝั่ง AIS ต้องการใช้เทคโนโลยีในระดับมาตรฐานสากลและสามารถใช้งานร่วมกับพันธมิตรเครือข่ายได้ทั่วโลก ขณะที่ True เป็นที่ทราบกันดีว่ามีพันธมิตรที่สำคัญอย่าง China Mobile ที่เรียกได้ว่ามีเทคโนโลยีชั้นนำไม่แพ้เทคโนโลยีอื่นๆ จากทั่วโลก และพร้อมสนับสนุนการขยายศักยภาพด้านเทคโนโลยีของ True
อนาคตบริษัทใหม่สุดท้ายอยู่ในมือ True
แม้จะมีการย้ำอยู่ตลอดว่า การควบรวมกิจการในครั้งนี้เป็นความร่วมมือแบบ Eco-Partnership หรือการบริหารงานแบบพันธมิตรที่มีความเท่าเทียมกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลุ่ม Telenor มีฐานที่มั่นอยู่ที่ประเทศนอร์เวย์ และอาจเป็นไปได้ว่าหลังสิ้นสุดการควบรวมกิจการ ผู้บริหารระดับสูงของ Telenor จะถอนตัวกลับ และให้ True ในฐานะที่มีฐานที่มั่นอยู่ในประเทศไทยเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจ ทั้งในรูปแบบของการมอบอำนาจรวมไปถึงเสนอขายหุ้นเพิ่มเติม เพื่อให้กลุ่ม True มีสัดส่วนเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุด
ในขณะที่จะเกิดปรากฏการณ์ “ย้ายค่าย” เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่เชื่อมั่นในการให้บริการของ True และ dtac แต่หากมองโครงสร้างพื้นฐานการผนึกกำลังของทั้งคู่ ย่อมหมายความว่าโครงสร้างพื้นฐานของ dtac จะมาช่วยลดปัญหาการใช้บริการของ True และโครงสร้างพื้นฐานของ True จะมาช่วยลดปัญหาการใช้บริการของ dtac โดยเฉพาะในเรื่องของจำนวนเสาสัญญาณและ Know How ด้านเทคโนโลยี
โดยคาดว่าหลังกระบวนการควบรวมสิ้นสุดลง ผู้ใช้บริการของ True และ dtac จะถูกกลืนผสานเป็นกลุ่มเดียวบนโครงสร้างพื้นฐานเดียวกัน และแน่นอนว่าจะมีการสร้างโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดให้ลูกค้าไม่ตัดสินใจ “ย้ายค่าย” ซึ่งกว่ากระบวนการควบรวมจะสิ้นสุดน่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี เนื่องจากมีกฎหมายหลายฉบับที่ต้องศึกษาจากกรณีการควบรวมครั้งนี้ ส่วนในเรื่องของการแข่งขันที่มีหลายฝ่ายหวั่นเกรงว่า การแข่งขันจะลดลงเนื่องจากคู่แข่งมีจำนวนน้อยรายก็ต้องจับตาดูในระยะยาว เนื่องจากผู้เล่นรายใหญ่อย่าง AIS ที่เคลมว่าเป็นเบอร์ในทุกด้าน จะต้องมองหากลยุทธ์ในการดึงผู้ใช้เข้ามาอยู่กับ AIS ให้มากที่สุด เพื่แจะเคลมได้สนิทใจว่าเป็นเบอร์ 1 ตัวจริง หลังจากที่การควบรวมครั้งนี้ทำให้ AIS ตกไปอยู่ที่ 2 ในแง่จำนวนผู้ใช้งาน
เรียกว่าศึกนี้ต้องดูกันยาวๆ เพราะ True เองก็คงมีเป้าหมายในการก้าวเป็นผู้นำตลาด ขณะที่ AIS เองก็ต้องการเคลมว่า ตนเองเป็นเบอร์หนึ่งในทุกด้านของตลาด สำหรับการแข่งขันในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีที่หลายคนหวั่นเกรง น่าจะยังไม่มีผลอะไร เนื่องจากประเทศจีนมีการพัฒนาเทคโนโลยีไร้สายอย่างต่อเนื่อง และหาก China Mobile ในฐานะผู้ถือหุ้นของ True นำเทคโนโลยีสมัยใหม่จากจีนเข้ามาใช้ในประเทศไทยเพื่อสร้างความได้เปรียบ AIS ก็คงต้องคิดหาเทคโนโลยีในระดับสากลเข้ามาเทียบ ซึ่งทั้งหมดนี้พูดถึงการแข่งขันในแง่โทรคมนาคมเพียงอย่างเดียว ยังไม่นับรวมถึงธุรกิจอื่นๆ ที่ทั้ง True และ AIS ขยายออกไป
และไม่แน่ในอนาคต หากมีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีพันธมิตรและศักยภาพเพียงพอ ก็อาจจะเกิดเป็นผู้เล่นเบอร์ 3 เข้ามาช่วยเสริมตลาดก็เป็นได้ เพราะในอดีตที่ผ่านมาธุรกิจด้านโทรคมนาคมยังไม่เคยเหลือผู้เล่นหลักแค่ 2 รายเท่านั้น