หลังจากที่สายการบินของญี่ปุ่นอย่าง ANA Holdings Inc. เปิดตัว Unman Shop โดยให้ลูกค้าที่ต้องการซื้อสินค้าสามารถใช้หุ่นยนต์เสมือนในการช้อปปิ้งภายในร้านค้าได้ ซึ่งหุ่นยนต์ดังกล่าวมีชื่อว่า “Newme” และได้รับความสนใจอย่างมาก โดยหุ่นยนต์ดังกล่าวจะมีรูปร่างเป็นแท่งสูงขนาด 1.5 เมตรสามารถเคลื่อนที่ได้ทั่วช้อป พร้อมด้วยแท็บเล็ตที่ช่วยให้เห็นหน้าในการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่
แล้วหุ่นยนต์ดังกล่าวก็เข้าตาบริษัท Sony AI Inc. จนเกิดการเจรจากับ Avatarin Inc. (บริษัทในเครือ ANA Group) ในการร่วมกันพัฒนาหุ่นยนต์ควบคุมระยะไกลโดยใช้เทคโนโลยี AI ของ Sony เข้าไปใช้ในการควบคุม ซึ่งจะช่วยให้ หุ่นยนต์ตัวแทนเสมือน (Avatar Robot) สามารถทำงานที่หลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ Sony เชื่อว่าการใช้หุ่นยนต์เสมือนจะช่วยยกระดับชีวิตสังคมผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้นโดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น
ความร่วมมือกันในครั้งนี้ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียม โครงการริเริ่มวิจัยและพัฒนา เพื่อการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของสังคมญี่ปุ่นในปี พ.ศ.2593 (Moonshot Research & Development Program 2050) ภายใต้แผนที่เรียกว่า “Socirty5.0” โดยแผนระยะสั้นภายใน 10 ปี จะต้องทำให้หนึ่งคนจะสามารถควบคุมหุ่นยนต์เสมือนได้มากที่สุดถึง 10 ตัวในการทำงานแต่ละอย่าง
ขณะที่มีการวางแผน 20 ปีข้างหน้ามนุษย์หนึ่งคนจะสามารถควบคุมหุ่นยนต์เสมือนได้ถึง 100 ตัวในการทำงานที่หลากหลาย และใน 30 ปีข้างหน้ามนุษย์หนึ่งคนจะสามารถควบคุมหุ่นยนต์เสมือนได้อย่างน้อย 1,000 ตัวในการทำงานที่หลากหลาย ซึ่งโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับผู้สูงอายุ ทั้งในเรื่องของการเดินทางและการทำงาน โดยที่ผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องออกจากบ้าน ซึ่งยังช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังช่วยให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน เช่น ผู้พิการสามารถใช้หุ่นยนต์เสมือนในการทำงานได้เช่นเดียวกับผู้สูงอายุที่ใช้หุ่นยนต์เสมือนไปทำงาน นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้พิการและผู้สูงอายุในการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ยังมีนักวิชาการบางรายที่ออกมาเตือนถึงโครงการดังกล่าว โดยมองว่าเป็นโครงการที่มองในเชิงบวกของเทคโนโลยีหุ่นยนต์เสมือน (Avatar Robot) มากเกินไป
ต้องติดตามกันต่อไปว่า โครงการดังกล่าวจะสามารถพัฒนาได้ไปถึงขั้นไหน และความฝันในการใช้หุ่นยนต์เสมือนในชีวิตประจำวันจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดในอนาคต
Source: Japan Today