หลังเกิดการล้มละลายของ FTX ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (exchange) ทีมีมูลค่าการซื้อขายเป็นอันดับ 2 ของโลก และเจ้าของเหรียญคริปโตสกุล FTT โดย FTX มีมูลค่าลดลงจาก 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าสู่ภาวะล้มละลายในทันที หลังจากนั้นไม่นานมีเงินมูลค่ากว่า 477 ล้านดอลลาร์สหรัฐหายออกจากระบบอย่างเป็นปริศนา ขณะที่ Sam Bankman-Fried ผู้ก่อตั้ง FTX ล่าสุดถูกจับกุมแล้วที่ประเทศบาฮามาส ในทะเลแคริบเบียน
วิกฤตการณ์ครั้งนี้ของ FTX ส่งผลกระทบกับกับตลาดคริปโตเคอร์เรนซีไปทั่วโลก ตลาดในภาพรวมที่เคยมีมูลค่าสูงถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ร่วงลงไปอยู่ที่ 900,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นไม่นานหลังการล่มสลายของ Terra (LUNA) ที่ส่งผลให้เกิดคำถามขึ้นว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเป็นโดมิโน่ และเป็นสัญญาณของการสิ้นสุดของกระแสความนิยมของทรัพย์สินดิจิทัลแล้ว นั่นจึงเป็นที่มาของการบรรยายพิเศษของ ศาสตราจารย์ David Yermack อาจารย์ด้านการเปลี่ยนผ่านการเงินและธุรกิจ จาก NYU Stern School of Business สหรัฐอเมริกา จัดขึ้นโดยสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
ศาสตราจารย์ Yermack อาจารย์ผู้ที่เริ่มต้นสอนในรายวิชาเกี่ยวกับการสกุลเงินดิจิทัลเมื่อ 8 ปีก่อนที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ที่นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในโลกที่เปิดสอนในเรื่องนี้ฉายภาพเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับ FTX โดยเฉพาะการที่มีมือดียักย้ายถ่ายเงินมูลค่ามหาศาลในรูปของคริปโตออกไปจากระบบได้อย่างลอยนวลครั้งนี้ว่าเป็นไปได้ยากที่รัฐบาลใดจะเข้ามากำกับดูแลเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
สินทรัพย์ที่ไม่ควรลงทุน
ศาสตราจารย์จาก NYU ระบุว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากความเข้าใจผิดตั้งแต่รากฐานของคนทั่วไปที่มองว่าควรที่จะลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ เนื่องจาก Cryptocurrency จริงๆแล้วออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาการชำระเงิน การโอนเงิน หรือการใช้ในการทำ Smart Contract ซึ่งเป็นคุณ Yermack ระบุว่าเป็นวิธีการในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ชาญฉลาด แต่สินทรัพย์เหล่านี้ไม่ได้มีกระแสเงินสดหรือทรัพย์สินที่เชื่อมโยงอยู่กับมันดังนั้นจึงไม่ใช่สินทรัพย์ที่ควรจะลงทุน
“ผมคิดว่ามันถูกใช้ในทางที่ผิด และผมก็ไม่เคยครอบครองคริปโตด้วยตัวเองเลยเพราะผมมองว่ามันมีความผันผวนและสิ่งนี้มันบ้าบอมาก” ศาสตราจารย์ Yermack ระบุ
ความท้าทายของการกำกับดูแล
สิ่งที่เป็นความท้าทายใหญ่หลวงในเรื่องของการกำกับดูแลก็คือรากฐานของ Digital Asset หรือบรรดา cryptocurrency ที่ถูกสร้างขึ้นมาให้ไม่มีศูนย์กลางหรือที่เรียกกันว่า Decentralized Networks ซึ่งหมายถึงเทคโลยีที่ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งรับผิดชอบดูแล ต่างจากระบบการเงินแบบรวมศูนย์เดิมๆที่บรรดาผู้กำกับดูแลสามารถบังคับใช้กฎต่างๆได้กับบรรดาธนาคาร หรือโบรกเกอร์ต่างๆที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลของคนไม่จ่ายภาษี หรือการทำธุรกรรมที่น่าสงสัย แต่ระบบ Decentralized นั้นไม่มีคนกลางที่ผู้กำกับดูแลที่หน่วยงานใดจะเข้าไปจัดการได้ ดังนั้นจึงไม่ชัดเจนว่าผู้กำกับดูแลจะทำอย่างไรกับปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ได้
คำถามก็คือแล้วระบบเหล่านี้ดูแลโดยอะไร? คำตอบก็คือดูแลด้วย Code คอมพิวเตอร์ ซึ่งก็มีคำถามที่น่าสนใจตามมาอีกว่า นักพัฒนาซอฟท์แวร์เหล่านี้ต้องรับผิดชอบกับการเขียน Code ที่ก่อให้เกิดระบบที่ไม่ดีอย่างที่เกิดขึ้นกับ FTX ด้วยหรือไม่ และจะต้องมีกฎหมายบังคับให้นักพัฒนาซอฟท์แวร์เหล่านี้เขียนโค้ดให้ดีๆด้วยหรือไม่
อีกเรื่องที่ ศาสตราจารย์ Yermack พูดถึงก็คือความเร็วในการทำธุรกรรมในระบบ Decentralized System เหล่านี้นั้นอยู่ในระดับสูงมากๆจนไม่สามารถที่จะมีการกำกับดูแลเกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น Flash Loan หรือระบบการกู้ยืมในระบบธุรกรรมของ Ethereum ที่สามารถกู้เงินออกจากระบบมูลค่ามากถึง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐก่อนที่จะจ่ายคืนในเวลาเพียง 1 นาทีหรือ 1 วินาทีเท่านั้น ซึ่งนั่นก็คือปัญหาใหญ่ที่จะไม่สามารถมีกฏใดจะมาบังคับใช้กับธุรกรรมที่เกิดขึ้นรวดเร็วในระดับนี้ได้
อีกหนึ่งความเสี่ยงที่ศาสตราจารย์ Yermack กล่าวถึงก็คือ ระบบ Oracle ที่เชื่อมโยงข้อมูลจากภายนอกเข้าสู่ระบบ Blockchain ที่ยังคงเสี่ยงที่จะถูกโจมตีได้ และเป็นสิ่งที่คนที่เขียน Smart Contract ไม่ได้คิดว่า Oracle นั้นปลอดภัย ซึ่งนั่นก็ไม่เรื่องจริงอีกเช่นกัน
ไม่เท่านั้นยังมีปัญหาเกี่ยวกับบรรดาผู้กำกับดูแล หรือภาครัฐที่มีความมั่นใจมากเกินไปว่าจะสามารถเข้าควบคุมและวางกฎเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ทั้งๆที่ยังไม่ได้ทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งเกี่ยวกับเทคโนโลยี Decentralized เหล่านี้ให้ดีพอ ซึ่งคำถามก็คือหากเทคโนโลยีนี้ยากที่จะกำกับดูแลโดยหน่วยงานส่วนกลางแล้วจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคหรือนักลงทุนเข้าใจงานมีความมั่นใจในการใช้ระบบที่เกี่ยวกับ Digital Asset เหล่านี้ได้
Self-Regulation การกำกับดูแลด้วยตัวเอง
คำตอบสำหรับการกำกับดูแลบริษัทหรือองค์กรที่ให้บริการด้านสินทรัพย์ดิจิทัลแบบ Decentralized เหล่านี้ก็คือ การกำกับดูแลด้วยตัวเอง หรือ Self-Regulation เป็นการกำกับดูแลที่มาจากฝั่ง Demand Side มากกว่าการกำกับดูแลแบบเดิมที่มาจาก Supply Side ยกตัวอย่างเช่น เดิมทีการกำกับดูแลที่มาจาก Demand Side ซึ่งรัฐบาลตัดสินใจแล้วว่าตลาดนั้นไม่เป็นธรรมหรือไม่มีประสิทธิภาพพอ จึงตัดสินใจออกกฎเพื่อทำให้เกิดสิ่งที่ดีกว่าขึ้น แต่การกับกับดูแลจากฝั่ง Supply Side หรือการ Self-Regulation นั้นเป็นเรื่องของ “ลูกค้า” ที่ยืนยันจะไม่ใช้บริการหาก Platform ไม่ยื่นเรื่องให้มีการตรวจสอบหรือเปิดให้มีการกำกับดูแลเป็นต้น
ศาสตราจารย์ Yermack ระบุว่าเรื่องนี้เคยมีการถกเถียงกันแล้วในช่วงทศวรรษที่ 30 ที่มีการผ่านกฎหมายด้านหลักทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา ที่ “บังคับ” ให้บริษัทจะต้องเข้ารับการตรวจสอบ ซึ่งการบังคับก็ทำให้เกิดการต่อต้านขึ้นมาก จนเกิดแนวคิดขึ้นว่าหากกฎหมายดังกล่าวเป็นการเปิดให้ตรวจสอบโดยสมัครใจอาจจะมีผลในอีกแบบหนึ่งก็ได้ ซึ่งนั่นก็คือหลักคิดของ Self-Regulation ที่ควรนำมาใช้กับ Cryptocurrency ที่บวกกับเครื่องมือและกระบวนการบางอย่างเพื่อทำให้เกิดความเชื่อมั่นและสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าได้ นั่นน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
สัญญาณเตือน
ศาสตราจารย์ Yermack ให้คำแนะนำถึงสัญญาณเตือนบางอย่างเพื่อให้ให้นักลงทุนตกเป็นเหยื่อสูญเสียเงินกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ FTX รวมไปถึง LUNA ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตอย่างรวดเร็วมาก, มีผู้ก่อตั้งที่มีสเนห์และมีภาพลักษณ์ดีเป็นพิเศษ, มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับนักการเมือง, มีแนวคิดการบริจาคเงินออกไปเพื่อการกุศล, นอกจากนี้จะมีการตั้งองค์กรที่มีโครงสร้างซับซ้อน, มีการแต่งตั้งเพื่อนหรือญาติพี่น้องขึ้นนั่งมีตำแหน่งในบริษัท มีระบบโครงสร้างพื้นฐานในการตรวจสอบน้อยและสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างง่ายดาย ซึ่ง Sam Bankman-Fried ผู้ก่อตั้ง FTX รวมถึง Do Kwon ผู้ก่อตั้งเหรียญ Terra/Luna มีคุณสมบัติเหล่านี้ทั้งหมด และที่ตลกร้ายก็คือ คุณสมบัติเหล่านี้เองก็สามารถใช้กับ Warren Buffett พ่อมดการเงินประธานและซีอีโอ Berkshire Hathaway บริษัทโฮลดิ้งข้ามชาติที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน
และนั่นก็คือมุมมองบางส่วนของศาสตราจารย์ David Yermack อาจารย์ด้านการเปลี่ยนผ่านการเงินและธุรกิจ จาก NYU Stern School of Business สหรัฐอเมริกา ที่เรียกได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Digital Asset ที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของโลกที่พูดถึงความเข้าใจผิดๆที่มีต่อ Cryptocurrency พื้นฐานของระบบเบื้องหลังสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง Crypto Currency ที่มีความ Decentralized และเป็นความท้าทายสำหรับภาครัฐที่จะเข้ากำกับดูแล แต่ก็ยังมีความหวังในเรื่องของ Self-Regulation ที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้บ้างเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์อื้อฉาวอย่างที่เกิดขึ้นกับ FTX ได้ รวมไปถึงคำแนะนำกับนักลงทุนเพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับนักลงทุนที่จะจัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะลงทุนกับ Cryptocurrency ท่ามกลางความไม่แน่นอนเหล่านี้หรือไม่