Metaverse โลกเสมือนจริงที่เชื่อมต่อโลกแห่งความจริงเข้าไว้ด้วยกันเป็นแนวคิดที่ถูกมองว่าจะเป็นนวัตกรรมเปลี่ยนโลกสำหรับมนุษยชาติอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ iPhone เคยทำได้มาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะ มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO บริษัท Meta ที่ทุ่มเทและลงทุนอย่างจริงจังกับการสร้าง Ecosystem ของระบบ AR และ VR ขึ้นใหม่ทั้งหมดหวังที่จะตอบโจทย์การใช้ชีวิตและดึงดูดผู้คนเข้าสู่โลกเสมือนแห่งนี้มากขึ้น
อย่างไรก็ตามทิศทาง Metaverse ของ Meta ดูเหมือนจะไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างที่คิดเมื่อผลประกอบการไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายเช่นเดียวกับจำนวนผู้ใช้งาน รวมไปถึงเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมายที่มองว่า Metaverse นั่นไม่น่าจะเป็น Next Big Thing ของมนุษยชาติได้และมีโอกาสที่จะล้มเหลวในอนาคต ในบทความนี้จะไล่เรียงเหตุผลต่างๆที่หลายคนมองว่า Metaverse จะไม่ปัง หรืออาจถึงขั้นล้มเหลวได้เอาไว้ด้วยกัน
Metaverse คืออะไร?
จริงๆแล้ว Metaverse นั้นเป็นแนวคิดของแพลทฟอร์มโลกเสมือนจริงที่เปิดทางให้ผู้ใช้งานสร้างตัวตนในโลกนั้นๆและสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งานคนอื่นๆได้เหมือนกับโลกแห่งความจริงหลายคนอาจจะรู้จักกับ Horizon Worlds ที่เป็น Metaverse ที่โด่งดังที่สุดของ Meta แต่จริงๆแล้วยังมีแพลทฟอร์มอื่นๆอีกและถูกสร้างขึ้นและมีผู้ใช้งานมาก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Second Life, Roblox, Fortnite, Minecraft ที่เป็นแพลทฟอร์มจากหลากหลายบริษัทแตกต่างกันไป
แนวคิดในการสร้าง Metaverse ก็คือการดึงผู้ใช้งานเข้ามาใช้งานให้มากที่สุด พร้อมกับมีบริการหรือ Application ต่างๆให้ใช้งานแบบเดียวกับระบบปฏิบัติการ iOS หรือ Android ซึ่งเจ้าของแพลทฟอร์มจะมีรายได้จากส่วนแบ่งแบบเดียวกับที่ Apple และ Google ได้จาก App Store และ Play Store นั้นเอง
ขณะที่ Horizon World ที่เป็นตัวชูโรงของ Meta นั้นจะต่างกันกับ Metaverse เจ้าอื่นตรงที่ประสบการณ์การใช้งานที่จะใช้งานผ่านแว่น VR ต่างจากประสบการณ์ผ่านจอสมาร์ทโฟน หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์แบบเดิมๆ และจุดเด่นของการเป็นโลกเสมือนก็คือการสามารถเข้าไปทำกิจกรรมต่างๆได้ในแบบเดียวกับโลกแห่งความจริงเช่น เล่นเกม พูดคุย สร้างโลกใหม่ เรื่อยไปจนถึงขายสินค้าในโลกเสมือนได้
ผู้ใช้งาน Horizon Worlds น้อยกว่าที่คาด
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่พูดถึงความล้มเหลวของ Metaverse เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆโดยเฉพาะเมื่อผลประกอบการณ์บริษัท Reality Labs บริษัทลูกของ Meta ที่ผลิตซอฟแวร์และฮาร์ดแวร์เกี่ยวกับ VR และ AR ระหว่างไตรมาส 4 ในปี 2020 และไตรมาส 2 ปี 2022 ขาดทุนไปมากถึง 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่รายได้มีเข้ามาเพียง 4,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น
ไม่เท่านั้นล่าสุดเอกสารภายในของ Meta ที่ถูกเผยแพร่ผ่านสื่ออย่าง Wall Street Journal เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมายังพบว่า Horizon World ยังดึงดูดความสนใจจากผู้ใช้งานได้น้อยมากๆ โดย Meta ตั้งเป้าผู้ใช้งานต่อเดือน (MAUs: monthly active users) เอาไว้ที่ 500,000 ราย ภายในสิ้นปี 2022 แต่ Horizon Worlds ดึงดูดคนให้เข้ามาใช้งานได้ไม่ถึง 200,000 รายเท่านั้นนับจนถึงเวลานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากดูสถิติย้อนหลังแล้วฐานผู้ใช้งาน Horizon Worlds ของ Meta นั้นลดลงอย่างต่อเนื่องและผู้ใช้งานส่วนใหญ๋ไม่กลับมาใช้งานโลกเสมือนแห่งนี้อีกหลังจากใช้งานเดือนแรก
เอกสารภายในของ Meta ยังเปิดเผยด้วยว่า มีโลกที่สร้างขึ้นโดยครีเอเตอร์เพียง 9% เท่านั้นที่มีคนไปเยือนมากกว่า 50 คน ขณะที่โลกส่วนใหญ่อื่นๆนั้นไม่มีใครไปเยือนเลยแม้แต่คนเดียว นอกจากนี้ อุปกรณ์ Oculus Quest อุปกรณ์ VR ยังไม่สามารถรักษาระดับจำนวนผู้ใช้งานเอาไว้ได้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยผู้ใช้งาน Oculus Quest มากกว่า 50% ไม่ได้ใช้อุปรกรณ์ต่อหลังจากซื้อมาแล้ว 6 เดือน, มีผู้ใช้งานเพียง 1% เท่านั้นที่สร้างโลกของตัวเองขึ้นใน Horizon World และจากการสำรวจผู้ใช้งาน Horizon World 514 คน พบว่าปัญหาก็คือพวกเขาไม่มีโลกที่ชอบและมีคนให้มีปฏิสัมพันธ์ด้วยน้อย ขณะที่ Avatars ก็ดู Fake และ “ไม่มีขา!”
แม้แต่คนสร้างยังไม่ค่อยอยากใช้
ด้าน The Verge รายงานด้วยว่าเอกสารภายในที่ Vishal Shah รองประธาน Metaverse เขียนถึงบรรดาพนักงานระบุถึง Feedback บรรดาผู้เล่นที่เข้าไปทดลองใช้ที่พบว่าระบบเต็มไปด้วย “บั๊ก” มีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพต่างๆที่ “ยากที่จะทำให้ชุมชนได้รับประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมจาก Horizon ได้
“สำหรับพวกเราหลายคนเอง เราก็ไม่ได้ใช้เวลาใน Horizon มากนัก และข้อมูลสรุปการทดลองใช้ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน” Shah ระบุในบันทึกข้อความถึงพนักงานเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และระบุต่อว่า “ทำไมเป็นเช่นนั้น? ทำไมพวกเราไม่รักผลิตภัณฑ์ที่เราเพิ่งสร้างขึ้นมาและใช้งานมันได้ตลอดเวลา? ความจริงง่ายๆก็คือ ถ้าเราไม่รักมัน เราจะคาดหวังให้ผู้ใช้งานรักมันได้อย่างไร?” ก่อนที่จะมีคำแนะนำตามมาให้พนักงานหาเวลาเพื่อเข้าสู่โลกของ Horizon World ให้มากขึ้น
ผลิตภัณฑ์ไม่ได้ช่วยขจัด Pain Point ของมนุษย์
คำถามสำคัญที่เป็นข้อกังขาต่อความสำเร็จของ Horizon Worlds รวมถึง Metaverse โดยรวมที่ไม่อาจจะเป็นนวัตกรรมเปลี่ยนโลกได้ก็คือ Metaverse นั้นเข้ามาแก้ปัญหาอะไร? เรากำลังคิดถึงและอยากใช้งาน Metaverse หรือไม่? และ Metaverse จะทำให้ชีวิตมนุษย์ง่ายขึ้นได้อย่างไร?
ยกตัวอย่างความสำเร็จของ Starlink บริการอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมความเร็วสูงที่สามารถแก้ Pain Point ของการขาดบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในชนบทของอเมริการวมถึงในแอฟริกาที่เป็นพื้นที่ห่างไกลได้ ขณะที่ Google Balloon ทำไม่สำเร็จและต้องล้มเลิกโปรเจ็กต์ไป
ย้อนไปดูที่ iPhone ที่เปิดตัวในปี 2007 ก็นับเป็นนวัตกรรมที่ยกระดับเทคโนโลยีในปัจจุบันขึ้นมา ที่แม้จะมีข้อกังขาในช่วงแรก แต่ผู้ใช้งานสามารถตอบคำถามนั้นได้ว่า iPhone คือการปฏิวัติเทคโนโลยีที่จะช่วยทำให้ชีวิตดีขึ้นได้และรับรู้อย่างชัดเจนว่า iPhone สามารถทำได้ดีกว่าสิ่งที่โทรศัพท์จาก Microsoft และ Blackberry ทำได้อย่างไร ต่างจาก Metaverse ที่ยังคงไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถทำให้ชีวิตมนุษย์ดีขึ้นได้อย่างไรในเวลานี้
อีกตัวอย่างของความล้มเหลวของผลิตภัณฑ์ที่พยายามจะ “แก้ปัญหาที่ไม่ได้มีอยู่จริง” ก็คือ Google Glass ที่ในที่สุดแล้วก็ต้องล้มเลิกโครงการกันไป ในขณะที่ผลิตภัณฑ์อย่าง Facebook, YouTube, Zoom, Netflix, iPhone และอื่นๆอีกมากมายที่ประสบความสำเร็จมีเป้าหมายในการกำจัด Pain Point ของมนุษย์ที่มองเห็นและเข้าใจได้อย่างชัดเจน
หรือหากจะมองไปที่นวัตกรรมในเวลานี้ที่แม้จะยังไม่เป็นที่นิยม แต่ก็มองเห็นได้อย่างชัดเจนถึงประโยชน์ได้ในอนาคตเช่นเทคโนโลยี “รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ” ที่อาจสร้างประโยชน์หลากหลายไม่ว่าจะเป็ฯการเข้ามาช่วยธุรกิจขนส่งสินค้าด้วยต้นทุนที่ต่ำลงได้ สามารถลดอุบัติเหตุ และการละเมิดกฎหมาย เรื่อยไปจนถึงเบี้ยประกันรถยนต์ที่อาจถูกลงได้ด้วยเช่นกัน แต่สำหรับ Metaverse แล้วประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ที่เราจะมองเห็นในอนาคตนั้นก็ยังไม่ชัดเจน
การแข่งขันเริ่มสูงและมุมธุรกิจไม่ส่งเสริม
ในมุมของธุรกิจแล้วอุปกรณ์ VR headset ที่เป็นอุปกรณ์ที่สร้างรายได้หลักให้กับ Reality Lab ที่ดูจะมีทิศทางที่ดีในแง่ของสินค้าที่นำไปใช้งานได้หลากหลาย นอกเหนือไปจากการใช้ใน Metaverse ก็กำลังเจอกับการแข่งขันที่สูงขึ้นด้วย โดยในเวลานี้ Meta ยังคงเป็นผู้นำตลาดอุปกรณ์ VR ด้วยส่วนแบ่งตลาด 86% แต่ก็จะต้องเผชิญกับการแข่งขันจาก Apple ที่กำลังเตรียมเปิดตัวอุปกรณ์ AR/VR ใหม่ เช่นเดียวกับ Sony ที่เตรียมออก PSVR2 ในปี 2023 นี้
นอกจากนี้ในแง่มุมธุรกิจแล้วเป้าหมายสูงสุดของการสร้าง Metaverse ก็คือการควบคุมแพลทฟอร์ม VR ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากและเก็บค่าธรรมเนียมจากการซื้อบริการใน Ecosystem แบบเดียวกับ iOS และ Google Play โดย Apple เก็บส่วนต่างจากจากผู้พัฒนา 30% สำหรับ Developer ที่มียอดขายมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และ 15% สำหรับผู้มียอดขายต่ำกว่านั้น ขณะที่ Roblox เก็บเงิน 30% จากทุกๆการขายจาก Developer เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม Meta ที่เคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์ Apple ว่าเก็บค่าธรรมเนียมในราคาสูงเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนา กลับเก็บค่าธรรมเนียมใน Metaverse สูงถึง 47.5% แบ่งเป็นค่าธรรมเนียมจาก Meta Quest Store 30% และอีก 17.5% จากค่าธรรมเนียม Horizon World นั่นส่งผลให้ไม่มีแรงจูงใจสำหรับนักพัฒนาในการพัฒนาสิ่งต่างๆใน Horizon World น้อยลง และอาจจะเป็นเช่นนั้นไปจนกว่าจะมีจำนวนผู้ใช้งานจำนวนมาก ซึ่งการที่มีอะไรให้ทำน้อยก็ส่งผลให้ไม่ได้ดึงดูดผู้เล่นให้เข้ามา Horizon Worlds ตามมาด้วยกลายเป็นปัญหาที่วนลูปกันไป
ทั้งหมดนั้นก็คือเหตุผลต่างๆที่ส่งผลให้ Metaverse ยังไม่อาจเรียกได้ว่าจะเป็นนวัตกรรมเปลี่ยนโลกที่จะประสบความสำเร็จและเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์ได้ในเวลานี้ แต่ก็ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจมีตัวแปรสำคัญอื่นๆที่อาจทำให้ Metaverse อาจกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน อย่างที่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เองก็บอกเอาไว้ว่า Metaverse ที่เป็นผลิตภัณฑ์สำคัญของ Reality Labs จะยังไม่เป็นรูปเป็นร่างและทำเงินได้อย่างแท้จริงจนกว่าจะถึงช่วงปลายทศวรรษนี้นั่นเอง