ในปี 2563 แม้จะเป็นปีที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความยากลำบากในการใช้ชีวิตและทำธุรกิจ แต่ก็เป็นปีที่ส่งผลดีต่อธุรกิจโลกออนไลน์อย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ e-Commerce, Food Delivery รวมไปถึงระบบการชำระเงินแบบ e-Payment นั่นเพราะเป็นธุรกิจที่ช่วยให้สามารถใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติมากที่สุด แม้จะต้องอยู่บ้านแบบไม่สามารถออกไปไหนมาไหนได้ ผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาด
แม้ว่าปีนี้ “เงินดิจิทัล” จะไม่โดดเด่นเท่าที่ควร แต่ก็เป็นปีที่หลายธนาคารกลางทั่วโลกหันมาพัฒนาเทคโนโลยีเงินดิจิทัลในรูปแบบ CBDC (Central Bank Digital Currency) ซึ่งเป็นเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของภาครัฐประเทศนั้น และดูเหมือนจีนจะเป็นประเทศมหาอำนาจแรกที่สนใจใน CBDC อย่างชัดเจน โดยมีการนำร่อง หยวนดิจิทัล ให้ประชาชนได้มีโอกาสใช้คนละ 200 หยวน จำนวน 150,000 คน ในรูปแบบสุ่มเลือกช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
เงินหยวนดิจิทัลที่แจกออกไปนั้นสามารถนำไปใช้จ่ายซื้อสินค้าได้ตามปกติ ผลจากการทดลองในครั้งนั้นส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกจำเป็นต้องเร่งศึกษาการใช้เงินดิจิทัลในรูปแบบ CBDC เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก การค้าขายกับจีนผ่านรูปแบบ CBDC จะกลายเป็นช่องทางการค้าขายกับจีนช่องทางใหม่ และอนาคตจีนอาจมีมาตรการสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศในรูปแบบ CBDC ก็เป็นได้
แนอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่า จีนอาจจะใช้เงินหยวนดิจิทัลเต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการในปี 2565 ซึ่งตรงกับช่วงที่จีนได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่ง นั่นทำให้คู่ค้าและเพื่อนบ้านที่สำคัญของจีนอย่าง ‘ญี่ปุ่น’ จำเป็นต้องเร่งศึกษาและพัฒนาระบบ CBDC อย่างจริงจังเพื่อรองรับการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต
โดยการศึกษาครั้งนี้เป็นความร่วมมือกับระหว่างบริษัทยักษ์กว่า 30 แห่งและ 3 สถาบันทางการเงินรายใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง MUFG, Sumitomo Mitsui Banking Corp. และ Mizuho Bank โดยทุกคนเชื่อว่านี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลกการเงิน หลังจากที่มีการพัฒนาใช้ธนบัตรในการชำระหนี้สินและจับจ่ยใช้สอยแทนการใช้เงินรูปแบบสมัยก่อน
โดยก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา การถือกำเนิดของ 2 สกุลเงินดิจิทัลได้เขย่าโลกการเงินตกตะลึง ทั้งเงินดิจิทัลสกุล “Sand Dollar” ที่ออกโดยธนาคารกลางของหมู่เกาะบาฮามาสในทะเลแคริบเบียน และเงินดิจทัลสกุล “Bakong” ที่ออกโดยธนาคารกลางกัมพูชาประเทศเพื่อนบ้านของไทย ซึ่งทั้ง 2 สกุลเงินดิจิทัลต่างก็เป็นรูปแบบ CBDC
น่าจับตาว่า หากธนาคารยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นสามารถศึกษาและพัฒนารูปแบบเงินสกุลดิจิทัลได้สำเร็จ ธนาคารในเครือทั่วโลกอาจได้รับอานิสงส์ไปด้วย แต่ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคิดระบบเงินดิจิทัลสกุลบาทไทยก็น่าจะดีกว่า เพราะด้านการธนาคารถือว่าประเทศไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก
*** สกุลเงิน Libra ของ Facebook เตรียมประกาศใช้งานจริงปี 2564 ***
Source: Japan Today