จากช่วงวิกฤติโรคระบาดที่ผ่านมาทำให้หลายอย่างเปลี่ยนไป ทั้งการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานในรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงการรับสมัครพนักงานด้วยเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่การรับสมัครพนักงานจะต้องพบปะกับเจ้าหน้าที่ HR เพื่อสอบถามและสัมภาษณ์แบบ 1 ต่อ 1 แต่เพราะวิกฤติโรคระบาดที่ผ่านมาทำให้การรับสมัครงานเปลี่ยนไปใช้การสัมภาษณ์ออนไลน์แทน
แต่ที่ญี่ปุ่นพัฒนาไปอีกขั้นเพราะหลายบริษัทเริ่มใช้ AI เข้ามาในการรับสมัครงาน การใช้ AI ในการคัดกรอง Resume ของผู้สมัครนับหมื่นจะช่วยให้ HR ลดเวลาทำงานได้มากถึง 75% แต่การใช้ AI เป็นการใช้งานเพียงบางส่วน สุดท้ายแล้วเจ้าหน้าที่ HR ยังเป็นผู้ตัดสินใจที่จะเลือกพนักงานเข้าทำงาน เนื่องจากการรับสมัครงาน จะมีเรื่องของนโยบายและมาตรฐานการสรรหาบุคลากร เพื่อช่วยให้เกิดความเป็นกลางในการจ้างงาน AI จึงถูกนำมาใช้เฉพาะงานที่ต้องทำซ้ำและทำในปริมาณมาก
ยิ่งไปกว่านั้นหลายบริษัทเริ่มมีการใช้ Chatbot ร่วมกับ AI ในการสมัครงาน เพื่อใช้ในการคัดเลือกผู้สมัครที่เหมาะสมตรงกับคุณสมบัติที่บริษัทต้องการในเบื้องต้น รวมไปถึงการใช้ AI เพื่อประเมินการพูดและการแสดงออกทางสีหน้าของผู้สมัครในกรณีที่มีการรับสมัครผ่าน Video เพื่อดูว่ามีความเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ที่เปิดรับสมัครไว้หรือไม่
ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง Kirin Holdings Co. ที่ตัดสินใจจ้างงานในรูปแบบออนไลน์ 100% เห็นว่า ได้มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อใช้ในการเก็บฐานข้อมูลของผู้สมัคร รวมถึงการประเมินผลการสัมภาษณ์ โปรไฟล์และประวัติย่อของผู้สมัครงาน โดยมีแผนในอนาคตที่จะนำ AI เข้ามาร่วมใช้กับเทคโนโลยีเพื่อการจ้างงาน
หลายบริษัทเริ่มเห็นว่า AI ควรถูกนำมาใช้ในการจัดการข้อมูลทรัพยากรบุคคล ซึ่งถูกเก็บรวบรวมมานานหลายปีแล้ว รวมถึงเพื่อให้ HR สามารถตัดสินใจจ้างงานได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยไม่ผ่านความรู้สึกส่วนตัวของ HR ด้วยกระบวนการการจับคู่ระหว่างประสบการณ์ ทักษะและความรู้ของผู้สมัครค กับความต้องการเจ้าหน้าที่ที่บริษัทต้องการ
แต่ถึงกระนั้น AI ก็ยังมีข้อเสียในเรื่องของการประเมินอุปนิสัยของผู้สมัครงาน ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่อาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ขององค์กรได้ ยกตัวอย่างเช่นการใช้ AI ในการรับสมัครงานของ ไมโครซอฟท์ แม้จะได้พนักงานที่มีควมสามารถตรงตามที่บริษัทต้้องการ แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาการเหยียดผิวมากขึ้นในบริษัท หรือที่ Amazon ที่มีการยุติการใช้ AI ในการจ้างงาน หลังพบว่าก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง
ทั้งนี้ AI ในการจ้างงานจึงเป็นเพียงเครื่องมือที่สำคัญ ในการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูล รวมไปถึงการวิเคราะห์ประเมินเบื้องต้น แต่ในกระบวนการตัดสินใจยังคงจำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่ HR เพื่อประเมินในหลากหลายมิติ ซึ่ง AI ไม่สามารถทำได้
Source: Japan Today