มิติใหม่วงการกอล์ฟ! IBM ส่ง AI ช่วยพากษ์-วิเคราะห์สดกอล์ฟพีจีเอทัวร์ The Master Tournament

  • 24
  •  
  •  
  •  
  •  

แม้จะจบลงแล้วสำหรับกอล์ฟพีจีเอทัวร์ รายการ เดอะ มาสเตอร์ส ครั้งที่ 87 เมเจอร์แรกของปีนี้ ที่รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่หลังจากจบรอบสุดท้าย เมื่อวันที่ 9 เม.ย. จอน ราห์ม โปรมือ 3 ของโลกจากสเปน จะคว้าแชมป์ไปครอง อย่างไรก็ตามการแข่งขันกอล์ฟรายการนี้ก็สร้างปรากฏการณ์ใหม่จนเป็นที่จับตาจากคนที่ไม่ได้เป็นแฟนกอล์ฟด้วยเนื่องจากมีการนำ Generative AI เข้ามาช่วยบรรยายการแข่งขัน รวมถึงนำมาใช้วิเคราะห์แบบสดๆด้วย เรียกได้ว่าเป็นมิติใหม่แห่งวงการถ่ายทอดสดกอล์ฟก็ว่าได้

เทคโนโลยี AI ที่บุกสู่วงการกีฬากอล์ฟในครั้งนี้ เป็นเทคโนโลยีของ IBM ในลักษณะเดียวกับ ChatGPT หรือที่เรียกว่า Generative AI มาช่วยสร้างประสบการณ์แบบติดขอบสนามให้กับแฟนกอล์ฟทั่วโลก ตั้งแต่เสียงพากษ์สดโดย AI ไปจนถึงการคาดการณ์แบบเรียลไทม์พร้อมเทียบสถิติให้เห็นแบบสดๆ ซึ่งหากจะพูดถึงรายละเอียดเรื่องนี้ก็คงต้องเป็น คุณเชอตัน กฤษณะมูรติ VP of Marketing and Communications ของ IBM Asia Pacific ที่เล่าว่าตลอดทัวนาเมนท์นี้ AI จะผลิตคลิปพร้อมคำบรรยายรวมกว่า 20,000 คลิปทีเดียว

ทำนายคะแนนแบบหลุมต่อหลุม

คุณเชอตันเล่าว่า หนึ่งในฟีเจอร์เด็ด คือ Hole-by-hole player predictions ที่เบื้องหลังต้องอาศัยการฝึกโมเดลเอไอด้วย ข้อมูลเกมกอล์ฟย้อนหลัง 6 ปี รวมกว่า 120,000 ช็อต ร่วมกับความสามารถของ AutoAI ทำให้สามารถทำนายได้ทันทีที่ผู้เล่นหวดวงสวิงว่าช็อตนั้นจะทำคะแนนได้ดีมั้ย พร้อมเทียบคะแนนต่ำสุด/สูงสุดของนักกอล์ฟแต่ละคน รวมถึงสถิติการทำคะแนนโอเวอร์หรืออันเดอร์พาร์ สถิตการเล่นบนแฟร์เวย์ หรือการแก้ปัญหาเมื่อลูกกอล์ฟตกลงมายังหลุมทราย เป็น insights แบบสดๆ ให้ผู้ชมทั่วโลกได้ติดตามผ่านฟีเจอร์ Players Insights และ Masters Fantasy Projections บนแอพ Masters

ความยากคือการสอน AI เข้าใจภาษากอล์ฟ

แม้ Generative AI จะสามารถจับแพทเทิร์นและกฎที่อยู่เบื้องหลังชุดข้อมูลมหาศาลได้ แต่การจะพากษ์สดแบบช็อตต่อช็อตได้ AI ต้องเข้าใจภาษากอล์ฟ เช่น กับดักหลุมทรายเรียกว่า “bunker” หรือศัพท์อย่าง “second cut” หมายถึงอะไร นั่นทำให้ AI สามารถบรรยายแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังกฎการเล่นแต่ละข้อ รวมถึงการออกแบบหลุม จำนวนพาร์ และระยะการตีได้ และคลิปด้านล่างคือตัวอย่างเสียงพากษ์ของ AI ในการแข่งขันครั้งนี้

“AI ต้องสามารถบรรยายด้วยภาษาที่ฟังแล้วเป็นธรรมชาติ ต้องชั่งน้ำหนักได้ว่าจะสื่อสารสิ่งนั้นๆ ออกมาผ่านประโยคไหน เช่นเลือกระหว่าง “His shot finds the pine straw” กับ “That drive ends up in the pine straw.” ภาษาที่ AI ใช้ต้องเป็นถ้อยคำหรือรูปแบบการพูดที่มนุษย์ใช้กัน ซึ่งในส่วนนี้ ทางทีมงานต้องฝึกการตีความความหมายให้ AI ในหลากหลายรูปแบบ” คุณเชอตัน เล่า

ข้อมูลมหาศาลคือความท้าทายสำคัญ

เช่นเดียวกับปัญหาที่หลายองค์กรกำลังเผชิญและหาทางจัดการ ข้อมูลมหาศาลที่มีความซับซ้อนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลคะแนน สถิติ ระยะการตี ตำแหน่งลูกกอล์ฟ หรือแม้แต่คลิปวิดีโอจากทุกหลุม เหล่านี้คือวัตถุดิบที่นำสู่การสร้างประสบการณ์ดิจิทัลให้กับแฟนกอล์ฟ แต่ขณะเดียวกันก็คืองานใหญ่ที่ทีมงานต้องวางแนวทางในการบริหารจัดการ

คุณเชอตันมองว่า “ข้อมูลก็ส่วนหนึ่ง แต่การจะถอดรหัสอินไซต์จากข้อมูลก็อยากไม่แพ้กัน โดยเฉพาะทัวร์นาเมนท์นี้ที่ Masters จะผลิตวิดีโอคลิปกว่า 20,000 ช็อต ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่จะกรองช็อตไฮไลท์ออกมาจากวิดีโอทั้งหมด นี่คือจุดที่ AI เข้ามามีบทบาท”

“ยกตัวอย่างเช่น เราใช้เทคโนโลยี visual recognition เข้ามาช่วยจำแนกท่าทางการฉลองด้วยความดีใจของนักกอล์ฟ อย่างท่ายกแขนขึ้นเหนือศีรษะ รวมถึงการแสดงสีหน้าอารมณ์ความรู้สึกของผู้เล่น มีการนำกฎที่ใช้กับเมต้าดาต้ามาใช้ตีความบริบทในคลิปต่างๆ รวมถึงการใช้ AI วิเคราะห์เสียงโห่ร้องของคนดูจากทัวร์นาเมนท์ในปีก่อนๆ เพื่อคาดการณ์ปฏิกิริยาคนดูที่สนามในช็อตสำคัญต่างๆ เป็นต้น”

เบื้องหลังคือเทคโนโลยีสุดล้ำ

“การหวดวงสวิงแต่ละครั้ง หมายถึงข้อมูลมากกว่า 30 ดาต้าพอยท์ ที่ต้องอาศัยสถาปัตยกรรม data fabric เข้ามาช่วยจัดการผนวกรวมข้อมูลจากหลากหลายแหล่งเข้าด้วยกัน ซึ่งเบื้องหลังคือข้อมูลที่มาจากเซิร์ฟเวอร์จำนวนมาก และต้องเดินทางไปยังคลาวด์ที่อยู่หลายโลเคชันเพื่อประมวลผลด้วยแอพต่างๆ โดยมี Red Hat OpenShift รองรับ ซึ่งตรงนี้ทางทีม Masters และ IBM Consulting ต้องใช้แนวทาง Garage และ Design thinking เข้ามาช่วยวาง journey ทั้งหมดอย่างละเอียด เพื่อให้มั่นใจว่าฟีเจอร์ต่างๆ บนแอพ Masters จะทำงานได้ไม่มีสะดุด” คุณเชอตัน อธิบาย

อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องความปลอดภัย เพราะคงไม่มีใครอยากเห็นระบบถูก Hack กลางทัวร์นาเมนท์ ซึ่งเบื้องหลังต้องอาศัยการมอนิเตอร์ภัยคุกคามไซเบอร์ต่างๆ กว่า 40 ล้านเหตุการณ์ในแต่ละวันด้วย

“Masters คืออีกตัวอย่างที่ดีที่สะท้อนให้เห็นว่าวันนี้ AI และ machine learning ทรงพลังเพียงใด และสามารถนำข้อมูลมหาศาลมาช่วยธุรกิจสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับแฟนๆ หรือลูกค้าได้อย่างไร” คุณเชอตันทิ้งท้าย

นอกจากจอน ราห์ม จะคว้าชัยชนะในรายการเดอะมาสเตอร์ครั้งนี้ไปครองได้แต่อีกตัวเอกสำคัญที่ได้พิสูจน์ฝีมือให้คนทั้งโลกเห็นก็คือ AI อันทรงพลัง เป็นอีกปรากฏการณ์สำคัญที่พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถของ AI ที่สามารถก้าวเข้าไปมีบทบาทได้ในทุกอุตสาหกรรม รวมไปถึงวงการกีฬา ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าติดตามว่า AI จะสร้างความตื่นเต้นให้กับมนุษย์ได้อีกแค่ไหนในยุคสมัยนี้


  • 24
  •  
  •  
  •  
  •