เรื่อง Cybersecurity ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากในยุคดิจิทัล แม้ว่าในยุคดิจิทัลทุกอย่างจะสะดวกสบาย ใช้งานง่าย รวมไปถึงความปลอดภันในแง่ Physical ยกตัวอย่างง่ายๆ เมื่อไม่ต้องพกเงินสด โอกาสที่จะสูญเงินจากการถูกล้วงกระเป๋า หรือทำเงินหล่นหายก็จะไม่มี แต่ในความสะดวกสบาย ง่ายและปลอดภัยดังกล่าว ก็มีข้อควรกังวลโดยเฉพาะการล้วงข้อมูลโดยอาชญากรโลกไซเบอร์หรือ “Hacker”
หลายคนเฝ้าระวังมือถือ แท็บเล็ตและคอมพิวเตอร์ โดยไม่ให้เกิดความสุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกันเหล่าแฮกเกอร์เจาะเข้าระบบ แต่รู้หรือไม่ว่าเหล่าแฮกเกอร์กำลังเล็งช่องทางและวิธีการโจมตีใหม่ๆ โดยเจาะผ่านรถยนต์ EV ที่กำลังได้รับความนิยมทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย นั่นเพราะรถยนต์ EV เกือบทั้งหมดถูกควบคุมด้วยระบบอิเลคทรอนิกส์ ยิ่งไปกว่านั้นสถานีชาร์จก็ยังควบคุมด้วยระบบอิเลคทรอนิกส์
แม้สถานีชาร์จจะไม่มีการเเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตใดๆ แต่ลองคิดดูว่าถ้ารถยนต์ EV สามารถถูกแฮกเกอร์เจาะระบบและกลายเป็นสะพานเพื่อเชื่อมต่อไปยังเครื่องชาร์จ EV โดยเครื่องชาร์จเหล่านี้อยู่ภายใต้ระบบควบคุมโครงข่ายและระบบหลังบ้านของผู้ให้บริการชาร์จรถยนต์ EV
โดย Point Software Technologies ผู้ให้บริการระบบป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ที่องค์กรระดับ Fortune 500 ใช้กันมากที่สุด แนะนำให้ผู้ผลิตรถยนต์ EV จัดการกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ โดยแนะนำว่า แฮกเกอร์สามารถส่งผลกระทบต่อเครื่องชาร์จ EV จำนวนมากพร้อมกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ซึ่งระบุว่า เครื่องชาร์จรถยนต์ EV ไม่ได้แตกต่างไปจากตู้ ATM และเหล่าแฮกเกอร์ก็เล็งเป้าเพื่อขโมยข้อมูลสำคัญทั้งของบริษัทผู้ให้บริการชาร์จและผู้ใช้บริการชาร์จ โดยรถยนต์ EV ถูกระบุให้มีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลของข้อมูล และแฮกเกอร์สามารถขโมยข้อมูลส่วนบุคคล หรือเข้าไปยึดไฟล์สำคัญที่ทำให้ระบบไม่สามารถทำงานได้ รวมถึงการเจาะไปยังเซิร์ฟเวอร์ของรถยนต์
หากถูกแฮกเกอร์เจาะเข้าสู่ระบบได้ ข้อมูลที่เก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์อาจสูญหายหรือถูกเปิดเผยโดยทันที รวมถึงสามารถแอบฟังการสื่อสารภายในห้องโดยสารได้ นอกจากนี้ยังสามารถปลอมแปลงและคัดลอกข้อมูลประจำตัวของผู้ขับขี่ ส่งผลต่อความเสี่ยงในการถูกโจรกรรม และยังสามารถระบบแสดงผลการขับขี่ผิดจากความเป็นจริง เช่น ระยะทางและความเร็วในการขับขี่ หลักยิ่งกว่านั้นยังสามารถเปลี่ยนเส้นทางการเงินไปสู่แฮกเกอร์ เช่น การชำระค่าผ่านทางพิเศษหรือค่าชาร์จโดยหักจากบัญชีที่ผูกกับรถยนต์ EV
ในส่วนของการแฮ็กไปยังสถานีชาร์จรถยนต์ EV อาจทำให้เกิดการยึดระบบเพื่อจับเป็นตัวประกัน เช่น ทำให้เกิดปัญหาการชาร์จไม่เต็มประจุตามจำนวนที่ชาร์จ รวมไปถึงการบังคับให้เครื่องหยุดการชาร์จพร้อมกันหลายๆ เครื่อง
ผู้ให้บริการสถานีชาร์จจึงต้องทำให้เครื่องชาร์จ EV ปลอดภัยอยู่เสมอ โดยพยายามอุดช่องโหว่ในระบบและการไม่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่ไม่ได้รับอนุญาต การสแกนตรวจหาช่องโหว่ในระบบผ่านแอปพลิเคชันที่เชื่อถือได้ และตรวจสอบหาสาเหตุของทุกปัญหาที่เกิดขึ้น รวมไปถึงตัวเครื่องชาร์จที่ต้องป้องกันการงัดแงะตัวเครื่อง เพื่อไม่ให้สามารถติดตั้งอุปกรณ์อื่นๆ ที่เป็นช่องทางให้แฮกเกอร์เจาะเข้าระบบได้
สำหรับผู้ขับขี่รถยนต์ EV ควรมีการใช้รหัสผ่าน 2 ชั้นสำหรับระบบที่มีความเสี่ยงสูง อย่างระบบการตั้งค่าบัญชีเรียกเก็บเงิน และควรอัปเดตรถยนต์และรหัส EV ตามคำแนะนำของผู้ผลิต กรณีที่ต้องใช้บริการสถานีชาร์จ EV ควรมีการใช้บัตรเครดิตสำหรับการชาร์จ EV โดยเฉพาะเพื่อตรวจสอบธุรกรรม
Source: FOX Business