มองย้อนกลับไปหลายสิบปีที่ผ่านมา โลกได้รู้จักกับอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมได้พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของโลกใบนี้ เทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตของมนุษย์ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคืออุตสาหกรรมยานยนต์ โดยนักประดิษฐ์ยานยนต์ในยุคแรกๆ ใช้แรงดันไอน้ำเป็นตัวขับเคลื่อน แต่แรงดันไอน้ำก็มีข้อจำกัดในเรื่องของพลังงาน เครื่องยนต์สันดาปโดยใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงจึงถูกคิดค้นขึ้น
จากในอดีตจนถึงปัจจุบันเครื่องยนต์สันดาปถูกใช้งานไปแล้วไม่น้อยกว่า 100 ล้านเครื่องจากทั่วโลก ซึ่งสมรรถนะของเครื่องยนต์เหล่านี้ให้กำลังสูง สามารถทำความเร็วได้ในระดับที่ต้องการ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการปล่อยก๊าซมลพิษซึ่งเกิดจากการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิง จนอาจกล่าวได้ว่าตลอดช่วงระยะเวลากว่า 100 ปีที่ผ่านมา มนุษย์เป็นผู้เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของโลกใบนี้ให้เข้าสู่ภาวะโลกร้อนเร็วกว่าที่กำหนด (หลังโลกพ้นยุคน้ำแข็ง)
ถึงขนาดที่มีผลงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้ว่า โลกในปัจจุบันกำลังมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นปีละ 1-2 องศาเซลเซียส อันเป็นผลมาจากการปล่อยมลภาวะขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และกิจกรรมที่มนุษย์ปล่อยมลภาวะขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุด คือมลพิษจากเครื่องยนต์สันดาปในรถยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการจราจรในเมืองใหญ่ทั่วโลก ส่งผลให้มีการปลดปล่อยมลพิษขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเป็นจำนวนมาก
นั่นจึงเป็นที่มาในการคิดค้นนวัตกรรมยานยนต์แบบใหม่ ที่นอกจากจะต้องมีสมรรถนะขั้นสูงแล้ว ยังต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้รัฐบาลในหลายประเทศจึงให้การสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแผนพัฒนาประเทศที่วางกำหนดเป้าหมายการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึงแผนและเป้าหมายการลดใช้น้ำมัน ยิ่งไปกว่านั้นบางประเทศยังสนับสนุนด้านภาษีรถยนต์ไฟฟ้า
ความแตกต่างของรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละประเภท
สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าสามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน ทั้งแบบรถยนต์ EV, แบบรถยนต์ e-Power และแบบ Hybrid โดยรถยนต์ทั้ง 3 ประเภทมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน กล่าวคือรถยนต์ EV จะเป็นรถยนต์ที่ใช้พลังจากมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นตัวขับเคลื่อน โดยมีแบตเตอรี่เป็นตัวเก็บประจุไฟฟ้าไว้เปรียบเสมือนกับถังน้ำมันในรถยนต์ เมื่อแบตเตอรี่หมดจะต้องทำการชาร์จไฟ เพื่อให้แบตเตอรี่เก็บประจุไฟฟ้าใหม่อีกครั้ง
ขณะที่รถยนต์แบบ e-Power จะมีหลักการทำงานเหมือนรถยนต์ EV แตกต่างกันเพียงตรงที่รถยนต์ e-Power จะมีเครื่องยนต์สันดาปเป็นต้นกำเนิดพลังงาน โดยส่งผ่านเครื่องผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กติดตั้งไว้อยู่ในรถยนต์ และส่งพลังงานไฟฟ้าต่อไป เพื่อทำการขับเคลื่อน นั่นจึงทำให้รถยนต์ e-Power สามารถวิ่งได้อย่างต่อเนื่องโดยที่แบตเตอรี่จะยังมีไฟอยู่ตลอดเวลา
ส่วนรถยนต์ Hybrid จะเป็นการผสานกำลังระหว่างมอเตอร์ไฟฟ้ากับเครื่องยนต์สันดาปเพื่อเพิ่มสมรรถนะในการขับขี่ โดยหลักการทำงานของรถยนต์ Hybrid จะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องยนต์สันดาป(เครื่องยนต์เชิ้อเพลิง)ในการทำงานร่วมกัน นอกจากนี้รถยนต์ Hybrid ยังมีระบบชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่ ด้วยการเหยียบเบรคในขณะที่ล้อยังหมุนอยู่
เยียวยาสิ่งแวดล้อม ด้วยข้อดีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า
ในอดีตรถยนต์ไฟฟ้าถูกปฏิเสธจากผู้ใช้งาน เนื่องจากหลายคนมองว่ารถยนต์ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพที่ด้อยกว่าเครื่องยนต์สันดาป โดยเฉพาะมอเตอร์ไฟฟ้าที่มีขนาดเล็กในการควบคุมการขับเคลื่อนรถยนต์ ในปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปอย่างมาก ส่งผลให้สมรรถนะของยานยนต์ไฟฟ้าเทียบเท่ากับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปที่ใช้กันอยู่ทั่วไปบนท้องถนนทุกประเทศทั่วโลก
นอกจากเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว รถยนต์ไฟฟ้ายังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก โดยเฉพาะในยุคที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเรียกได้ว่ามีผลกระทบต่อค่าครองชีพในปัจจุบัน ซึ่งหากลองเทียบกันดูแล้วจะพบว่า น้ำมัน 1 ลิตรมีราคาอยู่ที่ประมาณ 30 บาทขึ้นไป ในขณะที่ไฟฟ้ามีราคาอยู่ที่ยูนิตละไม่เกิน 10 บาท นั่นจึงชี้ให้เห็นว่ารถยนต์ไฟฟ้าช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านราคาน้ำมันอย่างเห็นได้ชัด
ไม่เพียงเท่านี้ รถยนต์ไฟฟ้านอกจากช่วยลดมลพิษขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศแล้ว รถยนต์ไฟฟ้ายังช่วยลดมลภาวะทางเสียงลง เพราะระบบการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้า ไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงในการจุดระเบิดหากแต่ใช้ไฟฟ้าวิ่งผ่านขดลวดจนเกิดสนามแม่เหล็กเหนี่ยวนำที่แกนของมอเตอร์ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดไม่ทำให้เกิดเสียงใดๆ ทั้งสิ้น นั่นจึงทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นยานยนต์ที่เงียบไม่มีการปล่อยมลภาวะทางเสียงออกมาอย่างเครื่องยนต์สันดาป
รองรับการชาร์จไฟสะดวกทุกที่ ชาร์จรวดเร็วทุกความเร่งรีบ
สิ่งหนึ่งที่ทำให้หลายคนยังไม่มั่นใจในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า นั่นคือเรื่องของการชาร์จไฟ เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่เครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่นิ่งๆ แล้วเสียบปลั๊กใช้งานได้ตามปกติ แต่รถยนต์ไฟฟ้ามีการเคลื่อนที่นั่นหมายความว่า ทุกครั้งที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าย่อมต้องหมายถึงสามารถชาร์จไฟได้ทุกที่ เพื่อให้สามารถใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าได้ทุกที่ทุกเวลา
เรื่องนี้เองภาครัฐก็มีความกังวลจึงได้เตรียมวางรากฐานสถานีชาร์จรถไฟฟ้าทั่วประเทศ เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่จะขยายตัวในอนาคต โดยรัฐตั้งเป้าหมายไว้ว่าประเทศไทยน่าจะมีรถยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนสูงถึง 1.2 ล้านคัน และประเทศไทยควรจะต้องมีสถานีชาร์จไฟฟ้าอย่างน้อย 690 แห่งภายในปี 2036 โดยยังไม่รวมกับจุดชาร์จไฟภายในพื้นที่ของเอกชน
แว่วว่ามีการคุยกับห้างสรรพสินค้าชื่อดัง อาคารสำนักงานหลายแห่งในการติดตั้งจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อขยายจุดชาร์จไฟให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ซึ่งจุดชาร์จไฟเหล่านี้จะใช้ปลั๊กสำหรับชาร์จไฟที่แตกต่างกัน โดยทั่วโลกจะใช้ปลั๊กแบบ 3 เฟสสำหรับชาร์จไฟรถยนต์ แต่จะแบ่งตามประเภทการใช้งานได้ถึง 3 รูปแบบด้วยกัน
ทั้งปลั๊กชาร์จแบบปกติ (Normal Charger) ปลั๊กเหล่านี้สามารถเสียบเข้ากับไฟบ้านทั่วไป โดยจะใช้เวลาชาร์จเต็มประจุแบตเตอรี่ประมาณ 8 ชม., ปลั๊กชาร์จแบบเร็ว (AC Normal Charger) ซึ่งปลั๊กชาร์จแบบนี้จะติดตั้งตามอาคารสำนักงานหรือในห้างสรรพสินค้าโดยจะใช้เวลาชาร์จเต็มประจุแบตเตอรี่ประมาณ 2-3 ชม. ขณะที่ปลั๊กชาร์จแบบเร็วมาก (DC Quick Charger)โดยปลั๊กชนิดนี้จะติดตั้งตามสถานีให้บริการชาร์จไฟ โดยจะใช้เวลาชาร์จเต็มประจุประมาณ 30 นาที
เมื่อเอ่ยถึงการชาร์จก็ย่อมจะต้องนึกถึง “แบตเตอรี่” ซึ่งเป็นแหล่งเก็บกระแสไฟฟ้าเปรียบเสมือนถังน้ำมันของรถในปัจจุบัน ถ้าถังน้ำมันมีน้ำหนักเบา ขนาดใหญ่สามารถจุน้ำมันได้ปริมาณมากก็จะช่วยให้สามารถขับขี่ได้อย่างเต็มสมรรถนะในระยะทางที่ยาวไกล และหากถังน้ำมันความแข็งแรง ทนทานสูงก็ช่วยให้รถยนต์สามารถใช้งานได้ยาวนาน โดยไม่ต้องเป็นห่วงความปลอดภัยจากน้ำมันรั่ว
ชื่อ “ลิเธียมไอออน” เรามักจะคุ้นกับการเป็นแบตเตอรี่สำหรับสมาร์ทโฟน แต่ลิเธียมไอออนยังมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการเป็นแบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย นั่นเป็นเพราะว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนมีน้ำหนักเบา แต่เก็บประจุไฟฟ้าได้มาก ทำให้ตัวยานยนต์มีน้ำหนักเบาช่วยให้สามารถทำความเร็วได้ดีขึ้น ดูแลรักษาง่ายและที่สำคัญแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนยังมีระบบอิเลคทรอนิกส์เพื่อช่วยยืดอายุการใช้งานแบตเตอรี่ อย่างระบบตัดไฟเมื่อแบตเตอรี่เก็บไฟเต็มประจุ เพื่อป้องกันไม่ให้แบตเตอรี่ร้อนเกินไปซึ่งเป็นสาเหตุให้เสื่อมสภาพไว
เมื่อ Trendโลกสนใจสิ่งแวดล้อมรถยนต์ไฟฟ้าจึงถูกจับตา
ด้วยแนวโน้มความต้องการลดการปล่อยมลพิษขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ประกอบกับราคาน้ำมันที่มีแต่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ทั่วโลกจึงหันมามองวิทยาการที่จะทำให้การเดินทางไปที่ต่างๆ สะดวก สะอาดและปลอดภัย นั่นจึงทำให้ทั่วโลกหันมาสนใจรถยนต์ไฟฟ้า ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยเอง
โดยมีการคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะมีสัดส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าประมาณ 1% ของยอดขายรถใหม่ ซึ่งถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดโลกที่มีสัดส่วนประมาณ 2.5%
ซึ่งในปี 2561 นี้จากข้อมูลของธนาคารกสิกรไทยชี้ให้เห็นว่า เพียง 5 เดือนของปีนี้มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 7,000 คันหรือเติบโตกว่า 59% สอดคล้องกับเทรนด์ของโลกที่รถยนต์ไฟฟ้าเติบโตขึ้นทุกปี
ไทยสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า ผุดสถานีชาร์จพร้อมมาตรการด้านภาษี
ประเทศไทยเองเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการปล่อยมลพิษขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ อันเนื่องมาจากสภาพการจราจรติดขัดทั้งในเมืองหลวงและหัวเมืองใหญ่ๆ ยิ่งไปกว่านั้นประเทศไทยยังประสบปัญหาการนำเข้าพลังงานในปริมาณที่สูงมากจากต่างประเทศ
แต่รัฐบาลได้กำหนดแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า (แผน PDP) ซึ่งแผนดังกล่าวได้ระบุถึงการลดใช้น้ำมันเชื้อเพลิง โดยแผนดังกล่าวได้ระบุถึงภาคการขนส่งที่มีปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสูงที่สุด โดยรถยนต์ไฟฟ้าถูกจัดให้เป็นหนึ่งในทางแก้ปัญหาในแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย จึงไม่แปลกที่ภาครัฐจะส่งเสริมและสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึงกลุ่มรัฐวิสาหกิจอย่างเช่น การไฟฟ้า เป็นต้น
แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีปัญหาทางด้านกฎหมายพลังงานและกฎหมายผังเมือง จนส่งผลให้แผนการตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าของรถยนต์ไฟฟ้าถูกเลื่อนมาเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งรัฐบาลได้แก้ปัญหาจนสามารถสร้างสถานีชาร์จได้ตามจุดต่างๆ รวมไปถึงการได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนที่จะมีการติดตั้งจุดชาร์จไฟฟ้าตามที่จอดรถในสถานที่เอกชนต่างๆ
ไม่เพียงเท่านี้ภาครัฐยังได้สนับสนุนด้วยการออกมาตรการลดภาษีสรรพสามิตเหลือเพียง 2% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทุกชนิด ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจพบว่ากว่า 44% ตั้งหน้าตั้งตารอคอยการมาของรถยนต์ไฟฟ้า ในขณะที่กว่า 50% ยอมควักเงินเพิ่มขึ้นเพื่อจะได้เป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้า
สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าของโลกใบนี้ รวมไปถึงเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยที่มีแนวโน้มสดใส ยิ่งไปกว่านั้นอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยก็เริ่มให้ความสำคัญกับรถยนต์ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าอนาคตของประเทศไทยและของโลกใบนี้กำลังจะเข้าสู่รถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ และนั่นจะเป็นพื้นฐานของการไปสู่ นวัตกรรมยานยนต์ไร้คนขับในอนาคตอีกด้วย