“ระบบขับขี่อัตโนมัติ” ที่หลายคนกำลังมองหา เพื่อให้การเดินทางสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น โดยผู้ขับสามารถทำงานอย่างอื่นไปด้วย อย่างการประชุม การทำงานหรือดูหนังในระหว่างนั่งหลังพวงมาลัย แล้วปล่อยให้ AI ทำหน้าที่ขับรถแทน ซึ่งเห็นได้จากรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่สุดไฮเทคที่นำโดย Tesla แล้วต้องบอกว่า ด้วยเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติดังกล่าว ส่งผลให้ Tesla กลายเป็นรถระดับไฮเอนต์ที่หลายคนอยากคว้ามาครอบครอง
แต่หากตรวจสอบให้ดีจะพบว่า ที่ผ่านมาระบบของ Tesla ก็มีจุดบกพร่องมากมายเห็นได้จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ กรณีที่เกี่ยวกับ Tesla ล้วนแล้วแต่เกิดจากระบบขับขี่อัตโนมัติแทบทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการแยกแยะสีและการตัดสินใจของ AI แม้หลายกรณีระบบขับขี่อัตโนมัติจะช่วยลดอุบัติเหตุ แต่ทุกครั้งที่สาเหตุอุบัติเหตุมาจากระบบขับขี่อัตโนมัติ มักจะเกิดคำถามมากมายที่เกี่ยวกับความเชื่อมั่นในระบบดังกล่าว
Tesla ปรับลดความสามารถ Autopilot ลง
นั่นจึงทำให้ Tesla ปรับลดฟีเจอร์บางอย่างลงเพื่อให้ระบบ Autopilot ยังคงทำงานภายใต้การขับขี่ของคนขับ เช่น การติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับมือบนพวงมาลัย หากระบบตรวจไม่พบการจับพวงมาลัย ระบบจะทำการเตือนในระยะเวลาที่จำกัด และหากยังไม่มีการจับพวงมาลัย ระบบจะตีความว่าคนขับไม่พร้อมขับขี่และระบบจะทำการหยุดรถเพื่อความปลอดภัย จนผู้เชี่ยวชาญเริ่มตั้งคำถามว่า ระบบดังกล่าวเป็นระบบขับอัตโนมัติหรือระบบช่วยเหลือการขับ (ADAS – Advanced Driver Assistance systems)
โดยระบบช่วยเหลือการขับที่คล้ายกับ Tesla ถูกติดตั้งลงในรถบรรทุก ไม่ว่าจะเป็นระบบ Adaptive Cruise Control ที่ช่วยเร่งและเบรกตามที่ตั้งไว้ โดยแปรผันตามความเร็วของรถคันข้างหน้า รวมไปถึงระบบตรวจสอบจุดบอดและไฟเลี้ยวอัตโนมัติเมื่อเปลี่ยนองศาขณะวิ่ง เป็นต้น ทั้งหมดจะทำงานภายใต้กล้องตรวจสอบคนขับโดนจะคอยดูตำแหน่งตาและศีรษะ หากคนขับละสายตาหรือศรีษะไม่ตั้งตรงไปนานกว่า 2-3 วินาที ไฟ LED บนพวงมาลัยจะสว่างขึ้น และหากไปตอบสนองต่อการแจ้งเตือน ล้อจะมีไฟกะพริบเพื่อแจ้งเตือนรถคันอื่น รวมถึงการยกเลิกระบบอัตโนมัติต่างๆ พร้อมกับระบบเบรกจะค่อยๆ ทำงาน
ไม่เพียงแต่ Tesla เท่านั้นที่มีการติดตั้งระบบการขับขี่อัตโนมัติ หลายค่ายรถยนต์หันมากพัฒนาระบบดังกล่าวเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น GM, Ford, BMW และ Mercedes-Benz เป็นต้น ขณะที่บริษัทที่ไม่ใช่ค่ายรถยนต์อย่าง Waymo จาก Google หรือ Argo AI จาก Alphabet แม้แต่ Baidu และ Xiaomi ก็ยังคงมีการพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติ โดยมีการทดสอบการใช้งานจริงบนถนนจริง
ระบบช่วยการขับเพียงพอต่อการขับขี่
นักวิจัยหลายคนยังเชื่อว่า ระบบอัตโนมัติที่จะสามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ยังคงอีกยาวนานกว่าจะสามารถนำมาใช้ได้จริง ขณะที่เทคโนโลยีต่างๆ ถูกพัฒนาเพื่อระบบช่วยเหลือการขับ โดยเฉพาะระบบเบรกที่เชื่อมโยงด้วยเรดาร์หรือกล้องติดรถยนต์ สามารถช่วยลดการชนท้ายได้มากถึง 50% นอกจากนี้ยังช่วยลดจำนวนอุบัติเหตุชนคนได้มากกว่า 30% เมื่อเทียบกับรถที่ไม่มีระบบช่วยเหลือการขับ ซึ่งคาดว่าระบบช่วยเหลือการขับจะกลายระบบมาตรฐานที่ติดตั้งมาจากโรงงาน
อย่างไรก็ตาม ค่ายรถยนต์เริ่มกันมาพัฒนาระบบช่วยเหลือการขับมากขึ้นกว่าการแข่งขันเพื่อพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติ อย่างที่ Mercedes-Benz ได้เริ่มพัฒนาระบบ Drive Pilot ที่ช่วยให้ผู้ขับสามารถทำอย่างอื่นได้ในระหว่างการขับ เช่น ประชุม เช็คอีเมล์ หรือแม้แต่ดูหนัง โดยระบบจะคอยตรวจสอบคนขับและแจ้งเตือนเมื่อต้องหมุนพวงมาลัย โดยระบบ Drive Pilot สามารถใช้งานได้บนถนนบางสายในบางประเทศ และจำกัดความเร็วสูงสุดที่ 37 ไมล์ต่อชั่วโมงหรือประมาณ 60 กม./ชม. เท่านั้น
ขณะที่ระบบ Ultra Cruise ของค่าย GM จะถูกพัฒนาให้สามารถหยุดและออกตัวตามสัญญาณไฟจราจรและป้ายจราจรต่างๆ พร้อมด้วยระบบนำทางโดยอัตโนมัติ รวมถึงระบบจอดรถด้วยตนเอง ซึ่งระบบจะสามารถทำงานเฉพาะการเดินทางระยะใกล้ และบนเส้นทางที่ไม่มีความซับซ้อน เช่น วงเวียนหรือถนนที่มีช่องจราจรมากกว่า 3 เลน คาดว่าระบบจะรองรับการขับขี่ได้ประมาณ 95%
นั่นคือการนิยามระบบขับขี่อัตโนมัติใหม่ โดยหลายคนมองว่าการขับขี่อัตโนมัติคือ การที่รถยนต์สามารถขับไปได้เองโดยที่ไม่ต้องมีผู้ขับขี่ หรือมีการใช้หุ่นยนต์ AI เข้ามาขับขี่แทน ขณะที่รูปแบบดังกล่าวยังอยู่ในการทดลองหลายแห่งทั่วโลก ระบบต่างๆ ที่นำมาใช้ในรถยนต์ปัจจุบันอย่างระบบช่วยเหลือการขับต่างๆ ก็เพียงพอสำหรับการเดินทางในปัจจุบัน โดยที่ไม่จำเป็นต้องมองหาระบบการขับขี่อัตโนมัติ