หนึ่งในข้อพิสูจน์แนวคิดที่ว่า สถาปัตยกรรมสามารถช่วยแก้ปัญหา Climate Change ได้ หนึ่งในนั้นจะมี Copenhill โรงเผาขยะอันโดดเด่นที่มีดาดฟ้าเป็นสโลปเนินสกีความสูง 85 เมตร ในกรุงโคเปนเฮเกน เมืองหลวงของประเทศเดนมาร์ก เป็นหนึ่งในตัวอย่างสำคัญที่ถูกยกมากล่าวถึงเสมอ และสำหรับคนที่อาจจะไม่เคยได้รู้จักโรงเผาขยะแห่งนี้แล้ว เมื่อได้เห็นตัวอาคาร Copenhill ก็ต้องประทับใจกับรูปลักษณ์ที่ล้ำยุคและดึงดูดความสนใจกับคนที่ได้เห็น และยิ่งทำให้อยากจะทำความรู้จักที่มาที่ไปของอาคารแห่งนี้ให้มากขึ้น ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เราจะพูดถึงในบทความนี้กัน
Copenhill หรือที่รู้จักกันในท้องถิ่นว่า Amager Bakke คือโรงงานเผาขยะขนาด 41,000 ตารางเมตร ในนิคมอุตสาหกรรม Amager ในกรุงโคเปนเฮเกน เมืองหลวงของประเทศเดนมาร์ก โดย Copenhill เป็นอาคารสูงที่สามารถมองเห็นได้แม้จะอยู่ห่างออกไปหลายกิโลเมตร มีเทคโนโลยีเผาขยะเพื่อผลิตพลังงานโดยแทบจะไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมโดยรอบเลย และสิ่งนี้ถูกพิสูจน์ด้วยการออกแบบพื้นที่ตัวอาคารให้เป็นพื้นที่สันทนาการให้กับประชาชนจำนวนมากด้วยการออกแบบดาดฟ้าเป็นโสลปลานสกีขนาด 9,000 ตารางเมตร มีหน้าผาจำลองที่สูงที่สุดในโลก รวมถึงเส้นทางเดินเขาซึ่งคนในชุมชนหรือนักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาใช้บริการได้ตลอดทั้งปี ซึ่งจากสถิติล่าสุดมีคนเข้ามาทำกิจกรรมราวปีละ 42,000-57,000 คนเลยทีเดียว
Copenhill เป็นส่วนหนึ่งในแผนของกรุงโคเปนเฮเกนในการเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ หรือ Carbon-Nuetral City แห่งแรกของโลกในปี 2025 และยังได้ชื่อว่าเป็นโรงงานเผาขยะที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลก ออกแบบโดย Bjarke Ingels Group (BIG) บริษัทสถาปนิกสัญชาติเดนมาร์กที่มีชื่อเสียงระดับเวิลด์คลาส โดยล่าสุดยังได้รับรางวัล World Building of the Year ในเทศกาล World Architecture Festival ครั้งที่ 14 เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมาด้วย
ภายในตัวอาคารของ Copenhill เป็นโรงเผาขยะที่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อนที่สามารถทั้งผลกำไรในแง่เศรษฐกิจ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างกลมกลืน โดยในแต่ละปี Copenhill สามารถเปลี่ยนขยะน้ำหนัก 440,000 ตันหรือคิดเป็นน้ำหนักขยะที่เมืองนิวยอร์กสร้างขึ้นในเวลา 36 วัน ให้เปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าเลี้ยงชุมชน 30,000 ครัวเรือนและผลิตความร้อนเลี้ยงอีก 72,000 ครัวเรือนได้ด้วย
Bjarke Ingels ผู้ก่อตั้ง BIG ที่รับหน้าที่ออกแบบโรงงานเผาขยะ Copenhill ระบุว่าโรงงานแห่งนี้เปรียบเสมือนภูเขาขนาดย่อมๆมีต้นไม้ปลูกเอาไว้หลายร้อยต้น แต่ละต้นถูกเลือกสายพันธุ์ให้เติบโตได้บนความสูง 100 เมตรเหนือพื้นดินได้ และยังมีกิจกรรมมากมายให้ทำเหมือนอยู่ในสถานสาธารณะดีๆ เพื่อเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนที่มีต่อการจัดการความยั่งยืน โดยอยากให้เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อโรงงานผลิตพลังงานจากขยะว่าไม่จำเป็นต้องสกปรกหรือใหญ่โตน่าเกลียด
Amager Bakke ใช้งบประมาณในการออกแบบและก่อสร้างราว 670 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 22,398 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2013 เปิดใช้ครั้งแรกในเดือนมีนาคมปี 2017 งบประมาณดังกล่าวมาจากบริษัท Amager Ressourcecenter (ARC) บริษัทจัดการขยะในโคเปนเฮเกน ที่มีเทศบาลเมือง 5 แห่งเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยโรงงานแห่งนี้มีเทคโนโลยีการเผาขยะเพื่อเปลี่ยนแปลงเป็นพลังงานขั้นสูงที่เรียกว่า DynaGrate เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ที่สามารถแยกวัสดุอย่างโลหะมารีไซเคิลต่อได้ และยังลดต้นทุนในการบำรุงรักษาไปด้วยมหาศาล
Jacob Simonson CEO ของ ARC ระบุว่าโรงงาน Amager Bakke ผลิตพลังงานมหาศาลมากพอที่จะต้มน้ำปริมาณเท่ากับสระว่ายน้ำโอลิมปิก 19 สระให้เดือดระดับ 200 องศาเซลเซียสได้ในแต่ละวัน ขณะที่เชื้อเพลิงต่างๆนั้นก็มาจากขยะในโคเปนเฮเกน และพื้นที่โดยรอบ ครอบคลุมประชากร 680,000 คน และเป็นขยะจากบริษัทต่างๆอีก 46,000 แห่ง โดยมีรถขยะใช้มากถึง 250-350 คัน
เทคโนโลยีสำคัญที่สุดของ Amager Bakke ก็คือระบบจัดการไอเสียที่จะปล่อยออกสู่ภายนอกโดยควันที่เห็นจากปล่องควันมีเพียงไอน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์เพียงเล็กน้อย โดยเทคโนโลยีภายในสามารถลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ลงได้มหาศาลและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 100,000 ตันต่อปี นอกจากนี้ยังผลิตน้ำกลับมาใช้ใหม่จากการกลั่นตัวของไอเสียส่วนเกินได้ถึง 100 ล้านลิตร ขณะที่ขี้เถ้าจากการเผาก็ยังนำมาเป็นวัสดุที่นำไปใช้ในการสร้างถนนหนทางได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม Amager Bakke เองก็มีปัญหาด้วยเหมือนกัน เนื่องจากการจัดการขยะในโคเปนเฮเกนนั้นทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นจึงทำให้แหล่งเชื้อเพลิงสำคัญอย่าง “ขยะ” ที่จะป้อนเข้าสู่โรงงานนั้นมีไม่เพียงพอ ทำให้จำเป็นต้องนำเข้าขยะจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่เรื่องนี้ก็สามารถมองในอีกแง่ว่า ชาวเดนมาร์กนั้นมีสำนึกในการจัดการขยะและการรีไซเคิลดีมากจนเวลานี้สามารถช่วยประเทศเพื่อนบ้านกำจัดขยะได้แล้ว
เรียกว่า Copenhill เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่น่าสนใจที่สอดคล้องไปกับเทรนด์ด้าน ความยั่งยืน (Sustainability) ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญในเวลานี้ในการลดผลกระทบจากปัญหา Climate Change เป็นอีกสิ่งยืนยันว่าการออกแบบสถาปัตยกรรมอย่างชาญฉลาดก็สามารถมีส่วนสร้างความยั่งยืนได้ นอกจากนี้ยังสามารถทำให้โรงงานเผาขยะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนได้อย่างกลมกลืนและยังกลายเป็นแหล่งทองเที่ยวแห่งใหม่ให้เกิดขึ้นในกรุงโคเปนเฮเกนได้ด้วย