“อยากรู้อะไร ก็ไปถาม Google”
เชื่อว่านี่คงเป็นหนึ่งในความคุ้นชินของคนยุคนี้กันไปแล้ว เพราะไม่ว่าเรากำลังสงสัยเรื่องอะไร แค่พิมพ์ถามลงไปใน Google ก็จะได้คำตอบที่ต้องการ และเชื่อไหมว่าใน 1 นาทีมีผู้ถามคำถาม Google กว่า 6.3 ล้านครั้ง ตามข้อมูลของ Statista ด้วยส่วนแบ่งอันดับหนึ่งกว่า 90.1% ในตลาด Search Engine เดือนเมษายน 2024
แม้ว่า Google จะเป็น Search Engine อันดับหนึ่งอย่างแน่นอน แต่ในเครือบริษัทแม่อย่าง Alphabet เอง ก็ยังมีอีกหลายแพลตฟอร์มที่แม้ไม่ได้ทำหน้าที่เป็น Search Engine โดยตรง แต่ก็ถูกใช้ในการสืบค้นข้อมูลเช่นกัน ขึ้นอยู่กับความต้องการด้านผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน เช่น
– Google Maps: ใช้ในการสืบค้นสถานที่ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอันดับสอง รองจากตัว Google เอง ในกลุ่มอายุ 35-65 ปีขึ้นไป
– YouTube: แพลตฟอร์มวิดีโอ ที่มีปริมาณคำค้นหามากกว่า Bing หรือ Yahoo ทั้งยังมากกว่าเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับ Amazon และสามเท่าของ Facebook
– Google Images: อีกหนึ่งแพลตฟอร์มในเครือ Google ที่มีสัดส่วนการใช้งานในทุกเจนเฉลี่ยกว่า 20%
แล้วถ้าไม่ใช่ ‘Google’ ล่ะ?
การศึกษาของ Soci บริษัทด้านการตลาดในอเมริกา ทำให้เราเห็นว่า ชาว Gen Z หรือกลุ่มคนช่วงอายุ 18-24 ปี เป็นเพียงกลุ่มเดียวที่เลือกค้นหาสิ่งที่อยากรู้ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Instagram และ Tiktok เป็นอันดับหนึ่ง (67%) และสอง (62%) ตามลำดับ ส่วน Google เองนั้นตามมาเป็นอันดับสาม (61%) จากกลุ่มตัวอย่างชาว Gen Z กว่า 1,002 คน
นอกจากนี้ ข้อมูลจาก Forrester พบว่า 43% ของกลุ่มตัวอย่างค้นหาในแพลตฟอร์ม ‘อีคอมเมิร์ซ’ อย่าง e-Marketplace โดยตรงเมื่อต้องการซื้อสินค้า เพราะในตอนนี้ แพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ต่างออกแบบ และเพิ่มฟีเจอร์ต่างๆ ให้เครื่องมือค้นหาของตนเองให้มีความฉลาด และค้นหาข้อมูลได้อย่างครอบคลุม ตั้งแต่การหาดีลโปรโมชัน ไปจนถึงสินค้าที่ต้องการ แบบครบจบในที่เดียว เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าอยู่ในเว็บไซต์ได้ตั้งแต่ต้น จนตัดสินใจจ่ายเงินนั่นเอง
ทำให้เราเห็นได้ว่า แม้ Google จะเป็น Top of Mind ด้าน Search Engine แต่ความต้องการของผู้ใช้งานที่แตกต่างกัน ก็ทำให้แพลตฟอร์มอื่นๆ ที่แม้ไม่ได้เป็น Search Engine หลัก ก็ถูกใช้งานเพราะให้ผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์มากกว่า และนี่เป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ Generative AI ผู้ช่วยมากความสามารถ ถูกใช้เป็น Search Engine ด้วยเช่นกัน
‘Generative AI’ อีกหนึ่งผู้เล่นใหม่ ในตลาด ‘Search Engine’
ก่อนหน้านี้ การเปิดตัวของ ‘ChatGPT’ จาก Open AI ก็ได้สร้างความฮือฮาไปทั่วทุกวงการในโลก และยังเรียกความสนใจของผู้คนให้มาสู่คำว่า ‘ปัญญาประดิษฐ์’ สำหรับในตลาด Search Engine เอง ‘ChatGPT’ ก็นับว่าเป็นผู้เล่นที่มาแรงไม่น้อยในช่วงที่ผ่านมา เพราะเมื่อเทียบประสิทธิภาพแล้ว การค้นหาข้อมูลด้วย Generative AI นั้นมีความได้เปรียบอยู่
ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ การค้นหาด้วย Search Engine อย่าง Google นั้น อาศัยคีย์เวิร์ดในการค้นหา ซึ่งนำไปสู่คำว่า ‘SEO’ ที่เว็บไซต์มากมายต่างออกแบบให้สามารถ ‘ถูกมองเห็น’ เป็นอันดับแรกๆ จนเกิดเป็นสงคราม SEO เพื่อชิงพื้นที่อันดับแรกๆ ในคีย์เวิร์ดนั้นๆ ขึ้นอีกทีหนึ่ง
แต่ทั้งนี้ เราจะเห็นได้ว่าเวลาเราเสิร์ชคำที่ต้องการลงไปใน Google จะมีผลลัพธ์ที่ทั้งเกี่ยวข้อง และไม่เกี่ยวข้องขึ้นมาปะปนกัน ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้น้อยกว่า หรือแทบไม่เกิดขึ้นเลยในการค้นหาบน Generative AI เพราะมันไม่ได้มองหาเพื่อทำความเข้าใจเฉพาะ ‘คีย์เวิร์ด’ บางคำ แต่เป็นการทำความเข้าใจในบริบททั้งประโยคที่เราป้อนเข้าไป จึงสามารถแสดงผลลัพธ์ที่แม่นยำได้มากกว่า
‘ChatGPT’ อาจเป็น ‘Search Engine’ ที่ดี แต่ยัง ‘ห่างไกล’ ถ้าจะแข่งกับ Google
ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2023 เพียงเดือนเดียว ChatGPT มียอดเข้าเว็บไซต์ของกว่า 1,800 ล้านครั้ง โดยมีจุดพีคอยู่ในวันที่ 7 พฤษภาคมที่มียอดเข้าเว็บไซต์กว่า 83.5 ล้านครั้งในวันเดียว นอกจากนี้ ข้อมูลที่รวบรวมโดย Similarweb แสดงให้เห็นว่า ChatGPT สามารถแซงหน้า Search Engine แท้ๆ อย่าง Bing ไปได้แล้ว และยังขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในด้านยอดการเข้าใช้งานเว็บไซต์ ทั้งบนเดสก์ท็อป และมือถือเมื่อเทียบกับ Generative AI ตัวอื่นๆ อย่าง Gemini, Character AI, Claude และ Perplexity
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2024 ที่ผ่านมา ทาง Openai ได้ยกระดับโมเดล ChatGPT เป็น GPT-4o ที่ตอนนี้ไม่ได้รองรับการอินพุตด้วยตัวอักษรเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถเข้าใจ และประมวลผลภาพ และคำสั่งเสียงของเราได้ทันทีผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างสมาร์ตโฟนด้วย แถมยังคุยโต้ตอบได้โดยเพิ่มการแสดงอารมณ์ที่ใกล้เคียงกับมนุษย์มากอีกด้วย
โดยในวันเปิดตัว GPT-4o เพียงวันเดียว มียอดเข้าเว็บไซต์ ChatGPT กว่า 96.2 ล้านครั้ง และเพิ่มเป็น 103.6 ล้านครั้งในวันถัดมา เรียกว่าเป็น New High ใหม่ด้านยอดการเข้าใช้งานเว็บไซต์ของ ChatGPT เลยทีเดียว
การยกเครื่องโมเดลใหม่นี้ ผนวกกับการผสานตัวเองเข้ากับ Search Engine อย่าง Bing จาก Microsoft เช่นเดียวกับ Gemini กับ Google ทำให้ ChatGPT มีความสามารถในฐานะ Search Engine ที่สูงขึ้น เพราะแม้ฐานข้อมูลของ Generative AI จะถูกล็อกไว้หลังจากเวลาปัจจุบันประมาณหนึ่งปี ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลปัจจุบันได้ ข้อมูลที่ได้จากการค้นหาจึงมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบยอดการเข้าเว็บไซต์กับ Search Engine เบอร์หนึ่งของโลกอย่าง Google แล้ว ChatGPT ก็ยังมีสัดส่วนเพียง 2% เท่านั้นเอง เพราะด้วยความที่อยู่มานานกว่า ทำให้ Google มีภาษีด้านฐานข้อมูลที่เหนือกว่า และยังได้รับความไว้วางใจมากกว่า เพราะฝั่ง Generative AI เองยังมีข่าวคราวเรื่อง ‘อาการหลอน’ ที่ทำให้ผลลัพธ์ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงบ้าง จนคนใช้งานอย่างเราต้องตรวจสอบทุกผลลัพธ์ให้ชัวร์อีกครั้ง
ในวันนี้ เมื่อเรามีคำถาม Google อาจไม่ใช่คนเดียวที่เราจะหันหน้าไปพึ่งพาอีกแล้ว แต่อาจเป็น Generative AI อย่าง ChatGPT ที่เข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ ให้เราได้ข้อมูลที่ครบถ้วน แม่นยำมากขึ้น แน่นอนว่าเพื่อความถูกต้องที่สุด เราเองจำเป็นต้องตรวจสอบแหล่งที่มาของผลลัพธ์ที่ได้จากการค้นหาด้วย
Sources: Forbes, Similarweb, Similarweb, OpenAI, Statista, Seoprofy, Stat Counter, OpenAI, Forrester