หลังจาก Google ประกาศเดินหน้าความร่วมมือกับรัฐบาลไทยผ่านงาน Digital Samart Thailand เมื่อเดือนธันวาคมปีก่อน ล่าสุด Microsoft ก็เดินหน้าบ้างเช่นกันกับงาน “Microsoft Build: AI Day” ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จัดขึ้นในวันที่ 1 พฤษภาคม โดยมีนายสัตยา นาเดลลา ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอของ Microsoft กล่าวเปิดงาน พร้อมกับนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสินมาร่วมพบปะหารือด้วย โดยนายสัตยา ได้ประกาศแผนในการพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยมุ่งสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมดิจิทัลและ AI ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดมีอะไรบ้าง เราจะสรุปให้อ่านกันในบทความนี้
จุดเริ่มต้นจากการเจรจาระหว่างการประชุม APEC
Microsoft Build: AI Day เป็นงานใหญ่ของ Microsoft ที่ต่อยอดมาจากการเจรจาระหว่างนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน และนายสัตยา ระหว่างการประชุม APEC ในเดินพฤศจิกายนปีก่อนภายใต้ “วิสัยทัศน์ ‘IGNITE THAILAND จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง’ ของรัฐบาลไทย
การหารือครั้งนั้นนำไปสู่การลงนามบันทึกความเข้าใจ MOU ระหว่างรัฐบาลไทยและ Microsoft เพื่อยกระดับประเทศไทยใน 4 ด้านก็คือ “ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรมดิจิทัล” “ปูทางสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วย AI” “เสริมทักษะคนไทยเพื่อชีวิตในยุคหน้า” และ “ยกระดับประเทศไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน” และแน่นอนว่า สิ่งที่นายสัตยา ประกาศในงาน Microsoft Build: AI Day ก็เป็นเรื่องที่ขับเคลื่อนเป้าหมายเหล่านี้ทั้งหมด
ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานในการสร้าง AI Solution
นอกจากเรื่องการยกระดับ Productivity ด้วย Product ของ Microsoft ที่เรารู้จักกันดีแล้ว ไฮไลท์ที่สำคัญในงานนี้ก็คือนายสัตยา ประกาศแผนที่จะตั้ง “ดาต้าเซ็นเตอร์ระดับภูมิภาคแห่งใหม่ในประเทศไทย” เพื่อขยายการให้บริการคลาวด์ในสเกลใหญ่ของ Microsoft ให้กว้างขวางและทั่วถึงยิ่งขึ้น ทำให้การใช้งานมีความเสถียรและให้สมรรถภาพในการคำนวนในระดับสูง ตอบโจทย์ผู้ใช้งานระดับองค์กรมากขึ้น และการมีดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยนี้ก็ยังรองรับมาตรฐานของด้านการจัดเก็บและรักษาความปลอดภัยของข้อมูลอย่างครบถ้วนด้วย
แผนการตั้งดาต้าเซ็นเตอร์นี้ สอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการใช้งานบริการคลาวด์ในไทยที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งจากบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก และหน่วยงานของภาครัฐ เพื่อให้ไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการเพิ่ม Productivity ของทุกภาคส่วนด้วยเทคโนโลยี AI
Up Skill เสริมทักษะ AI ให้บุคลากรไทย
นายสัตยา ยังประกาศด้วยว่า Microsoft ยังได้ประกาศเป้าหมายที่จะช่วยสนับสนุนให้คน 2.5 ล้านคนในภูมิภาคอาเซียนได้มีโอกาสเรียนรู้และฝึกฝนทักษะด้าน AI โดยการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จะจัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับรัฐบาล NGO ภาคเอกชน รวมถึงชุมชนและกลุ่มผู้สนใจในประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
สำหรับในประเทศไทย แผนงานด้านการเสริมทักษะ AI ระยะแรกจะช่วยยกระดับความสามารถด้าน AI ให้กับคนไทยมากกว่า 100,000 คน โดยเฉพาะโครงการ AI Skills for the AI-enabled Tourism Industry โครงการที่จะยกระดับทักษะด้าน AI ให้กับผู้ประกอบการและบุคลากรในภาคการท่องเที่ยวจัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงแรงงาน สถาบันฝึกอบรมอาชีวศึกษาด้านเทคโนโลยี และ Microsoft ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่และเยาวชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการท่องเที่ยวในเมืองรองทั่วประเทศ
โครงการนี้มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถด้านการใช้งาน AI เพื่อภาคการท่องเที่ยวของผู้ฝึกสอน 500 คนจากสถาบันฝึกอบรมอาชีวศึกษาด้านเทคโนโลยี โดยผู้ฝึกสอนเหล่านี้จะนำความรู้และทักษะที่ได้รับไปสอนต่อให้กับเยาวชนและคนทำงานรุ่นใหม่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นอกจากนี้ Microsoft ยังเปิดให้เข้าถึงเนื้อหาในหลักสูตรได้อย่างรวดเร็วผ่านแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ด้วย
นอกจาก AI Skills for the AI-enabled Tourism Industry แล้ว Microsoft ยังมีโครงการอย่าง Accelerating Thailand, ASEAN Cyber Security Programme, Code; Without Barriers และ Junior Software Developer Program นอกจากนี้ Microsoft ยังจะทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยสนับสนุนนโยบาย “Cloud First” ของภาครัฐ ด้วยโครงการพัฒนาทักษะด้าน AI สำหรับข้าราชการและนักพัฒนาที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐต่อไป
สนับสนุนนักพัฒนาในไทยให้สามารถใช้ AI อย่างเต็มศักยภาพ
นายสัตยา นาเดลลา ย้ำถึงบทบาทสำคัญของนักพัฒนาในการกำหนดทิศทางของประเทศไทย ดังนั้น Microsoft จึงมีโครงการยกระดับนักพัฒนาอย่างเช่นโครงการ AI Odyssey ที่มุ่งสนับสนุนให้นักพัฒนาไทยมากกว่า 6,000 คน ยกระดับทักษะความสามารถขึ้นมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และได้รับการรับรองจาก Microsoft ด้วย
ในส่วนของแพลทฟอร์ม GitHub แพลทฟอร์มที่ออกแบบมาเพื่อรองรับนักพัฒนาทั้งในการเขียนโค้ด ล่าสุดในปี 2023 มีนักพัฒนาในประเทศไทยมากกว่า 900,000 รายที่ใช้งาน GitHub หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตถึง 24% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
Use Case จากองค์กรต่างๆในไทย
นอกจากนี้ หลายองค์กรในไทยยังได้นำนวัตกรรม Generative AI จาก Microsoft มาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ทางธุรกิจ เช่น
บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS : AIS ผู้นำด้าน digital life service provider ได้นำผู้ช่วย AI อย่าง Copilot for Microsoft 365 มาประยุกต์ใช้เพื่อให้พนักงานทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเข้ามามีบทบาทในหน่วยงานต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะในฝ่ายกฎหมาย นอกจากนี้ AIS ยังได้นำ GitHub Copilot บริการ AI สำหรับช่วยเขียนโค้ด และ Azure OpenAI Service แพลตฟอร์มเพื่อการพัฒนา AI ในองค์กร มาใช้งานต่อยอดเพื่อสร้างสรรค์แอปพลิเคชันและผู้ช่วย AI ด้วยตนเอง
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) : สปสช. ได้พัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ที่นำนวัตกรรม AI มาขับเคลื่อนภารกิจเพื่อสุขภาพที่ดีกว่าของคนไทย โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวนำบริการ Azure OpenAI Service, Azure Machine Learning และเทคโนโลยีอื่นๆ ของ Microsoft มาพัฒนาเป็นช่องทางให้ประชาชนทั่วไปสามารถทำความเข้าใจนโยบายด้านสาธารณสุขได้ง่ายขึ้น ทั้งยังสามารถให้คำแนะนำด้านการดูแลรักษาสุขภาพที่ตรงกับความต้องการของแต่ละคน พร้อมด้วยข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิการรักษาพยาบาลและบริการทางการแพทย์ที่เหมาะสม เพื่อให้คนไทยกว่า 66 ล้านคนมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลการรักษาพยาบาลได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX : SCBX กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินชั้นนำของประเทศไทย ได้นำบริการ Azure OpenAI Service มาเป็นรากฐานของการสร้างสรรค์นวัตกรรมในองค์กร เพื่อมุ่งสู่การเป็น AI-first organization โดยธุรกิจหลักของกลุ่มอย่างธนาคารไทยพาณิชย์ ได้นำ Azure OpenAI Service มาใช้สนับสนุนการทำงานของแชทบอท “มณี” ให้ทำความเข้าใจคำถามของลูกค้าได้ชัดเจนและแม่นยำยิ่งขึ้น ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการบริการลูกค้าได้ถึง 400,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือราว 14.8 ล้านบาท ต่อปี ขณะที่อีกหนึ่งธุรกิจในเครืออย่าง InnovestX ก็ได้นำ Azure OpenAI Service มาใช้รวบรวมข้อมูลผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในต่างประเทศ พร้อมด้วยบทวิเคราะห์จากหลากหลายแหล่ง มาสรุปเป็นรายงานที่อ่านง่ายและแม่นยำ นอกจากนี้ SCBX ยังได้พัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อความในโซเชียลมีเดียที่มีความเข้าใจภาษาไทยอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อใช้งานภายในองค์กรโดยเฉพาะ จึงสามารถมอนิเตอร์บทสนทนาต่างๆ รวมถึงบริหารจัดการชื่อเสียงขององค์กรในโลกออนไลน์ได้ด้วยระบบอัตโนมัติที่มีถูกต้อง แม่นยำ และทันท่วงทียิ่งขึ้น
“สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา” หน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่มีภารกิจในการร่วมพิจารณาและจัดทำร่างกฎหมาย ให้ความเห็นเชิงกฎหมายกับหน่วยงานของรัฐ ได้ประกาศว่าจะนำ Copilot for Microsoft 365 เข้ามาสนับสนุนการทำงานของนักกฎหมายที่ทำงานให้กับภาครัฐ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ ภายในองค์กร
ทั้งนี้ ยังมีองค์กรและหน่วยงานอื่นๆ อีกมากมายในประเทศไทยที่กำลังทำงานร่วมกับ Microsoft อย่างใกล้ชิดเพื่อสำรวจความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจาก AI ไม่ว่าจะเป็นเครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัทเอกชนรายใหญ่ที่สุดของประเทศ หรือบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) ผู้นำด้านธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์
Microsoft ยังทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ในด้านการแบ่งปันแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยในโลกออนไลน์ ภัยไซเบอร์ จุดอ่อนในระบบและเทคโนโลยีต่างๆ พร้อมด้วยคำแนะนำในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น พร้อมรับมือกับความเสี่ยงในโลกยุค AI นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังได้นำ AI มาใช้เสริมประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภายใน ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในข้อมูลเชิงเศรษฐกิจ และปูทางไปสู่การวางนโยบายที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมยิ่งขึ้น
ทั้งหมดนี้คือความคืบหน้าล่าสุดของความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Microsoft ที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามายกระดับสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยงานวิจัยโดยบริษัทที่ปรึกษา Kearney คาดการณ์ว่า AI จะช่วยเพิ่มมูลค่า GDP ของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 37,000 ล้านล้านบาท ภายในปี 2030 โดยในจำนวนนี้ คิดเป็นยอด GDP ของประเทศไทยที่จะเพิ่มขึ้นถึง 117,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 4.3 ล้านล้านบาท ซึ่งเราก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าแผนเหล่านี้จะเดินหน้าและประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน