หรือจะหมดยุค Car Infotainment? เมื่อการใช้หน้าจอสัมผัสในรถคือความไม่ปลอดภัย

  • 29
  •  
  •  
  •  
  •  

ในอุตสาหกรรมรถยนต์โดยเฉพาะ “รถยนต์ไฟฟ้า” สิ่งหนึ่งที่เราเห็นความเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็คือ “หน้าจอแสดงผลข้อมูลของรถยนต์” ที่ไม่ได้เพียงแต่ “ใหญ่ขึ้น” เท่านั้นแต่ยังรวมเอา “การควบคุม” ฟังก์ชั่นต่างๆของตัวรถเข้าไปอยู่ในหน้าจอทัชสกรีนบริเวณคอนโซลหน้าที่เรียกกันว่า Car Infotainment นั้นด้วยจนทำให้เกิดคำถามว่าการควบคุมทุกอย่างที่อยู่บนจอทัชสกรีนนั้น “สะดวก” มากขึ้นหรือไม่? รวมไปถึง “ปลอดภัย” หรือไม่? แล้วในเวลานี้

EURO NCAP เตือนต้องมีปุ่มถึงได้ 5 ดาว

คำถามที่ว่า ยุคของ Car Infotainment กำลังจะหมดยุคแล้วหรือไม่? กำลังดังขึ้นเรื่อยๆ และล่าสุดยิ่งดังมากขึ้นไปอีกเมื่อ European New Car Assessment Program (NCAP) หรือโครงการประเมินความปลอดภัยของรถยนต์ใหม่ในยุโรปออกมาเตือนว่า

“นับตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2026 เป็นต้นไปผู้ผลิตรถยนต์ที่ต้องการจะได้รับคะแนนความปลอดภัย “ระดับ 5 ดาว” จะต้องมีวิธี “การควบคุมแบบกายภาพ” ที่ไม่ใช่การสัมผัสบนหน้าจอ อย่างเช่น ไฟเลี้ยว, ไฟฉุกเฉิน, ใบปัดน้ำฝน, การโทรฉุกเฉิน รวมถึง แตร เป็นต้น”

“การใช้หน้าจอทัชสกรีนที่มากเกินไปเป็นปัญหาของทั้งอุตสาหกรรม เพราะผู้ผลิตรถยนต์เกือบทุกเจ้าเลือกที่จะย้ายการควบคุมสำคัญๆเข้าไปในจอทัชสกรีนกลาง” คุณ Matthew Avery ผู้อำนวยการพัฒนากลยุทธ์ของ Euro NCAP ระบุ และว่า “การทำให้ผู้ขับต้องละสายตาจากถนนเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุได้”

ทดสอบพบมี “ปุ่ม” ปลอดภัยกว่าจอสัมผัส

เรื่องนี้สอดคล้องกับผลทดสอบหลายๆชิ้นก่อนหน้านี้ที่พบว่าการมี “ปุ่มกด” (Button) หรือปุ่มหมุน (Knob) นั้นมีความปลอดภัยมากกว่าและสามารถใช้งานได้รวดเร็วกว่า อย่างเช่นการทดสอบของ นิตยสารรถยนต์ชื่อดังในสวีเดนอย่าง Vi Bilägare ที่จัดให้มีการทดสอบเปรียบเทียบการขับรถพร้อมกับการทำ 4 ภารกิจตั้งแต่การควบคุมระบบปรับอากาศไปจนถึงการเปิดวิทยุ ซึ่งผลการทดสอบพบว่ารถยนต์ที่ใช้ปุ่มควบคุมแบบกายภาพใช้เวลาทำภารกิจสำเร็จได้เร็วกว่า รถยนต์ที่ต้องจัดการภารกิจบนหน้าจอทัชสกรีนถึง 2 เท่า

เริ่มต้นจากความปลอดภัยสู่ความไม่ปลอดภัย

Gemini Generated Immage

ความกังวลเรื่องของความปลอดภัยจากการใช้งาน “ทัชสกรีน” นี้เกิดขึ้นหลังจากผู้ผลิตรถยนต์แทบทุกเจ้าพยายามแข่งขันกันพัฒนาหน้าจอ Infotainment ในรถยนต์ ซึ่งก็ต้องบอกว่าการเกิดขึ้นของหน้าจอทัชสกรีนนั้นจริงๆแล้วก็มีเหตุผลมาจากเรื่องของความปลอดภัยมาก่อนและมีจุดเริ่มต้นมาจากการบังคับใช้ “กล้องมองหลัง”

โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา National Highway Traffic Safety Administration (NHTSA) หรือหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนนของสหรัฐบังคับให้รถยนต์ต้องติดตั้ง “กล้องมองหลัง” ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมาซึ่งก็ทำให้รถทุกคันจำเป็นต้องมีหน้าจอเพื่อมองภาพจากกล้องติดตั้งที่คอนโซลด้านหน้า และการมีกล้องมองหลังก็สามารถช่วยชีวิตคนได้ราว 70 ชีวิตต่อปีเลยทีเดียว

แข่งกันพัฒนาหน้าจอใหญ่

อย่างไรก็ตามหน้าจอที่ว่านั้นก็ถูกพัฒนามากขึ้นและใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นการแข่งขันกันระหว่างผู้ผลิตรถยนต์ในยุคนี้ในการสร้าง Customer Experience ใหม่ๆให้กับผู้บริโภค ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดของ S&P Global Mobility พบว่าเวลานี้มีรถยนต์ทั่วโลกที่มีหน้าจอกลางจำนวนมากถึง 60 ล้านคัน และตัวเลขนี้จะเติบโตขึ้นไปอีกเป็น 75 ล้านคันในปี 2025 และในปี 2028 จะมีมากถึง 80 ล้านคัน

ย้อนกับไปในปี 2022 โลกเรามีรถยนต์ที่มีหน้าจออย่างน้อย 11 นิ้วอยู่มากถึง 12 ล้านคัน เวลาผ่านไปเพียง 3 ปี จำนวนรถยนต์ที่มีหน้าจอใหญ่กว่า 11 นิ้วจะเพิ่มขึ้นเป็น 25 ล้านคันในปี 2025 และคาดการณ์ว่าจะมีมากถึง 35 ล้านคันในปี 2028 นี้

MBUX Hyperscreen ในรถยนต์ EQS ของ Mercedes เปิดตัวในปี 2021

แบรนด์ที่น่าจะเป็นตัวอย่างของการพัมนาหน้าจอ Car Infotainment ก็น่าจะเป็น Tesla ที่เริ่มต้นปฏิวัติวงการด้วยการติดตั้งหน้าจอขนาดใหญ่เอาไว้ในรถยนต์ Tesla ทุกรุ่น พร้อมกับตัดปุ่มควบคุมแบบ Analog ออกแทบทั้งหมดและนำทุกการควบคุมไปใส่ไว้ในหน้าจอแทน อีกตัวอย่างความอลังการของหน้าจอก็ต้องยกให้ Mercedes ที่เปิดตัวหน้านจอใหญ่ยาวขนาด 56 นิ้วในรถยนต์รุ่น EQS รถยนต์ไฟฟ้าสุดหรู เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา

เริ่มหันกลับมาใช้ปุ่มกันบ้างแล้ว

อย่างไรก็ตามการใส่การควบคุมทุกอย่างเข้าไปไว้บนหน้าจอระบบสัมผัสที่ไม่ได้ให้สัมผัสเชิงกายภาพนอกจากจะเข้าฟีเจอร์ต่างๆได้ยากกว่าแล้วยังเป็นการทำให้เสียสมาธิจากการขับขี่ด้วย ซึ่งเรื่องนี้ผู้ขับขี่รถยนต์ก็ส่งเสียงไปยังผู้ผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ

ภายใน Porsche Cayenne โมเดลปี 2024 ที่มีหลายๆปุ่มกลับคืนมา

แน่นอนว่าเริ่มมีผู้ผลิตบางรายที่มองเห็นความสำคัญของเรื่องนี้และได้ยินเสียงจากผู้บริโภคที่แสดงออกว่าไม่ชอบการใช้งานหน้าจอทัชสกรีนควบคุมบางฟีเจอร์ของรถยนต์ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น Porsche ที่พัฒนา SUV หรูอย่าง Cayenne รุ่นปี 2024 ให้กลับมีปุ่มให้คนขับสามารถควบคุมอุณหภูมิภายในรถ และสามารถปรับช่องแอร์ด้วยมือได้แล้ว นอกจากนี้การเปลี่ยนเกียร์ก็กลับมาใช้ก้าน Toggle

ไม่เฉพาะ Porsche เท่านั้น แต่อีกหลายๆแบรนด์ก็กำลังปรับการออกแบบให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันไม่ว่าจะเป็น Volkswagen บริษัทแม่ของ Porche , Rolls-Royce, Hyundai รวมไปถึง Nissan ก็กำลังปรับตัวตามด้วยเช่นกัน

ID. 2all รถยนต์ไฟฟ้าคอนเซปต์ของ Volkswagen ที่เตรียมผลิตในเร็วๆนี้ จะมีปุ่มกลับมาเช่นกัน

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของ Car Infotainment ที่ในเวลานี้กำลังปรับตัวทั้งเพื่อความปลอดภัยและตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคที่เริ่มกลับมาเรียกร้องปุ่มกดกันมากยิ่งขึ้น เป็นอีกปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนตัวไปของเทคโนโลยีบนรถยนต์ที่บางครั้ง “ความล้ำ” ก็ไม่ได้เหมาะกับการใช้งานเสมอไป และจากนี้เราคงได้เห็นการปรับตัวจากรถยนต์หลายๆแบรนด์ตามมาเพื่อหาสมดุลระหว่าง “เทคโนโลยี” ที่มอบประสบการณ์สุดเจ๋งและ “ความปลอดภัย” กันมากขึ้น


  • 29
  •  
  •  
  •  
  •