กลายเป็นเรื่องชวนขบคิดอย่างมากในสหรัฐฯ เมื่อนาย Stephen Thaler นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เริ่มรณรงค์ทั่วโลกเพื่อขอให้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มีสิทธิ์ที่จะได้รับสิทธิบัตรในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งนั่นเป็นผลมาจากการขอสิทธิบัตรจากสำนักงานลิขสิทธิ์ของสหรัฐฯ ให้กับงานศิลปะที่ AI ได้สร้างสรรค์ขึ้น แต่ได้รับการปฏิเสธ จนนำไปสู่การยื่นฟ้องศาล
ซึ่งก็เป็นไปอย่างที่หลายคนคาดเดาได้ว่า ศาลสหรัฐฯ ปัดตกคำฟ้องลงไป โดยให้เหตุผลว่า สิทธิบัตรจะสามารถออกให้ได้กับนักประดิษฐ์ที่เป็นมนุษย์เท่านั้น และกฎหมายยังไม่มีการรับรองระบบ AI สามารถเป็นผู้สร้างสิ่งประดิษฐ์ได้ นั่นจึงทำให้นาย Stephen Thaler ได้ยื่นเรื่องต่อศาลสูงของสหรัฐฯ ในการพิจารณาทบทวนคำตัดสิน
Stephen Thaler ระบุว่า AI ในปัจจุบันกำลังถูกใช้เพื่อสร้างนวัตกรรมในสาขาต่างๆ ตั้งแต่การคิดค้นยาใหม่ๆ ไปจนถึงพลังงานทดแทนรูปแบบใหม่ การปฏิเสธสิทธิบัตรที่สร้างโดย AI เป็นการไม่สนับสนุนระบบสิทธิบัตร และยังขัดขวางการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ
ฝั่ง สำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าของสหรัฐฯ และศาลรัฐบาลกลางแห่งรัฐเวอร์จิเนียปฏิเสธการออกสิทธิบัตรสำหรับสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากการคิดค้นของ AI โดยมองว่า AI ไม่ใช่บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล โดยย้ำว่า กฎหมายสิทธิบัตรของสหรัฐฯ กำหนดให้นักประดิษฐ์จะต้องเป็นมนุษย์เท่านั้น
นั่นทำให้ Stephen Thaler ค้านหัวชนฝา โดยเขาเถียงอย่างหัวหมอว่า ในกฎหมายสิทธิบัตรของสหรัฐฯ ไม่มีข้อความใดให้คำจำกัดความคำว่า “นักประดิษฐ์ (Inventor)” ว่าจะต้องเป็นมนุษย์เท่านั้น หรือคำว่า “ปัจเจกบุคคล (Individual)” จะหมายถึงเฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้น
นอกจากนี้ เขายังยื่นขอสิทธิบัตรงานศิลปะจาก AI ในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สหราชอาณาจักร, แอฟริกาใต้, ออสเตรเลีย และซาอุดีอาระเบีย
ลองคิดง่ายๆ ว่า ถ้า AI มีสิทธิ์ถือครองสิทธิบัตรจะวุ่ยวายขนาดไหน งานโฆษณาอาจต้องถูกฟ้องลิขสิทธิ์โดย AI หรือหากต้องซื้อลิขสิทธิ์จาก AI จะจ่ายเป็นอะไร เงินสกุลไหน หรือจริงๆ แล้วคนที่ใช้ AI ให้ผลิตผลงานควรเป็นเจ้าของสิทธิบัตรมากกว่าตัว AI
Source: Reuters