อย่างที่ทราบกันว่าเทคโนโลยีสแกนใบหน้า (Facial Recognition) ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐซึ่งช่วยให้สามารถระบุตัวตนของคนๆ นั้นได้อย่างชัดเจน รวมไปถึงการติดตามเฝ้าระวังในกรณีที่เป็นผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาหลบหนีคดี ซึ่งระบบสแกนใบหน้าถูกนำไปใช้งานในสนามบินทั่วโลก และดูเหมือนว่าจะมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันคนเหล่านี้
แต่เมื่อมีคนคิดได้ก็ย่อมต้องมีคนแก้ได้ หลายคนพยายามหาเทคนิคในการหลอก AI เพื่อให้เกิดการสแกนใบหน้าที่ผิดเพี้ยน และดูเหมือนจะได้ผลเสียด้วย นั่นจึงทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องมาทำงานร่วมกับภาครัฐในการจัดเก็บข้อมูลไบโอเมตริก (Biometric) ในหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้ให้ AI ใช้ประมวลผลร่วมกับการสแกนใบหน้า
โดยที่จีนเริ่มมีการให้ AI จดจำท่าทางการเดินของคน ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัทชาวจีนอย่าง Watrix และตำรวจจีนยังยืนยันว่า เมื่อใช้ทั้งการจดจำท่าทางการเดินและสแกนใบหน้า ระบบจะมีความแม่นยำระดับ 94% เลยทีเดียว หรือที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์มีการติดตั้งเซ็นเซอร์ใต้พื้นดินเพื่อจับจังหวะและการลงน้ำหนักเท้าในรูปแบบการเดินของแต่ละคน
มหาวิทยาลัยชิคาโกและมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเตรียมศึกษาถึงการจัดเก็บข้อมูลผ่านอุปกรณ์ AI ภายในบ้านอย่าง Amazon Echo และ Google Nest ที่มีเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว หากแต่ปัจจุบันยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งที่เคลื่อนไหวนั้นเป็นคนหรือสัตว์
ที่เพนตากอน (Pentagon) ของสหรัฐฯ ก็มีการใช้สมาร์ทโฟนจับรูปแบบเส้นทางการเดินทางที่เป้นพฤติกรรมซ้ำๆ ของแต่ละคน รวมไปถึงการใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Jetson ซึ่งเป็นปืนเลเซอร์เพื่อใช้วัดการเต้นของหัวใจ โดยสถาบัน MIT ชี้ว่าจังหวะการเต้นของหัวใจแต่ละคนไม่เหมือนกัน และเรียกได้ว่าหัวใจมี “ลายเซ็น” เป็นของแต่ละบุคคล
สถาบัน MIT กำลังพัฒนาสัญญาณ WiFi ที่เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนในการตรวจวัดการเต้นหัวใจเพื่อใช้ระบุตัวตน รวมไปถึงการระบุอารมณ์ของคนๆ นั้นในช่วงเวลานั้นอีกด้วย ขณะที่นักวิศวกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่นกำลังพัฒนาเซ็นเซอร์ที่ถูกฝังลงในเบาะที่นั่ง เพื่อให้จดจำรูปแบบของก้นและน้ำหนักตัว เพื่อใช้อำนวยความสะดวกให้กับผู้ขับขี่ รวมไปถึงการสร้างความปลอดภัยในการป้องกันการขโมย หากตรวจสอบว่าไม่ใช่เจ้าของรถ
Source: Business Insider