เจาะลึก ‘AI Economy’ ปลดล็อกเศรษฐกิจไทยด้วย AI ต้องเริ่มด้วย ‘ความเข้าใจและรู้เท่าทัน’ 

  • 9
  •  
  •  
  •  
  •  

 

Cover-AI-Economy-02_0

 

‘AI’ หรือ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ เป็นคำที่เริ่มเข้ามาวนเวียนอยู่รอบตัวเราแทบจะทุกช่วงเวลา

 

แต่ก็ต้องบอกว่า AI นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่ได้รับกระแสความสนใจอย่างมากในช่วงของ Generative AI ที่ทำให้ผู้คนรู้จัก AI และมองเห็นศักยภาพมากขึ้น ในการยกระดับศักยภาพชีวิตของเราในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการทำงาน หรือการสร้างสรรค์ผลงานรูปแบบต่างๆ

 

รายงานการศึกษาจาก PwC บริษัทตรวจสอบบัญชี และที่ปรึกษาทางธุรกิจ พบว่าศักยภาพของ AI นั้นสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกได้ราว 15.7 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2030 ซึ่งมากกว่าตัวเลขเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างจีน และอินเดียรวมกันในปัจจุบันเสียอีก โดยการศึกษายังพบอีกว่า AI สามารถยกระดับ GDP ของประเทศต่างๆ ได้เฉลี่ย 26% ซึ่งเป็นผลมาจากการยกระดับ ‘คุณภาพของแรงงาน’ และการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่เป็นสัดส่วนใหญ่ของการเติบโตถึง 45%

 

ด้วยศักยภาพที่สามารถเกิดขึ้นได้นี้ หลายประเทศจึงพยายามนำ AI เข้ามาเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับประเทศ ที่เราเรียกกันว่า ‘AI Economy’ แน่นอนว่าไทยเราเองด้วย 

 

ในงาน ‘THAIRATH Money 1st Anniversary Unlocking Thailand’ จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญแถวหน้าในวงการเทคโนโลยีไทยมาร่วมพูดคุยกันในหัวข้อ ‘AI Economy ปักธงเศรษฐกิจไทยไปไกลกว่าเดิม ด้วยปัญญาประดิษฐ์’ เพื่อมองหาแนวทาง และข้อเสนอแนะในการนำศักยภาพของ AI เข้ามาส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศไทย ซึ่งทิศทางนี้จะเป็นอย่างไรนั้น มาติดตามกัน

 

Ai_Economy-03

 

เปลี่ยนมุมมองใหม่ ‘AI คือเครื่องมือให้เราใช้ ไม่ใช่ฝันร้ายให้เรากลัว’

 

เมื่อพูดถึง AI ก็จะตามมาด้วยความกังวลว่า “AI จะเข้ามาแทนที่มนุษย์” จะนำไปสู่การตกงาน หรือเหตุการณ์ร้ายแรงมากมาย ซึ่งเป็นความกังวลที่เปรียบเสมือนกำแพงให้หลายคนปิดกั้นตัวเองจาก AI ซึ่งนี่เอง คือจุดตั้งต้นที่จะต้องเข้าไป ‘เปลี่ยน’ 

 

เพราะแทนที่จะมองว่า AI จะเข้ามาแทนมนุษย์ จริงๆ แล้ว AI คือ ‘เครื่องมือ’ ให้เราได้ใช้มัน แน่นอนว่า AI นั้นมากความสามารถอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ลำพังตัวมันเองก็ทำอะไรไม่ได้เลย หากไร้คำสั่งจากผู้ใช้งาน แล้วจะเป็นอย่างไร หากคนเก่ง จับมือกับ AI ไม่ต้องสงสัยเลยว่าผลลัพธ์ หรือฝีมือจากคนที่เก่งอยู่แล้ว ก็จะสามารถดียิ่งขึ้นไปได้อีก

 

‘เข้าใจ และรู้เท่าทัน’ หัวใจสำคัญในการผลักดัน AI ให้เติบโตในสังคมไทย

 

ทุกวันนี้ในฝั่งผู้ใช้งานยังแบ่งเป็นหลายฝั่งอยู่ เช่น ฝั่งที่ไม่เคยใช้ AI เลย และยังใช้ไม่เป็น ฝั่งผู้ใช้งาน AI ทั่วไป อาจจะถามตอบง่ายๆ และสุดท้ายคือฝั่งที่ใช้งานได้อย่างชำนาญสามารถใช้ AI สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้

 

ทิศทางของ AI ที่ควรจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ คือการผลักดันให้ AI กลายเป็นเรื่องปกติในสังคมไทยมากขึ้น ไม่ใช่เครื่องมือเวทย์มนตร์ที่อยู่ไกลเกินเอื้อม ด้วยการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐ และเอกชนในด้านความรู้ ความเข้าใจให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี AI ได้ง่าย รับรู้ถึงประโยชน์ และรู้เท่าทันถึงการใช้งานในทางที่ผิดด้วย 

 

เพราะสุดท้ายแล้ว ในวันที่ AI แพร่หลายในสังคม การใช้งานในลักษณะที่ผิดกฎหมายก็มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ‘กฎหมาย’ จึงไม่ใช่จุดหมายปลายทาง แต่คือการที่ทุกคนเข้าใจ และรู้เท่าทัน ระวังตัวเอง และมีจิตสำนึกในการใช้งาน

 

ปัญหา ‘คนขาด’ จะได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด

 

ปัญหาในไทยคือ “เราไม่ได้ขาดงาน แต่เราขาดคน” ซึ่งหมายถึงคนที่มีทักษะความรู้มากพอในการทำงาน การ Reskill และ Upskill ของคนทำงานเป็นหนึ่งประเด็นในแวดวงธุรกิจมานานแล้ว โดยตัว AI เองก็มีศักยภาพที่จะเข้ามาช่วยยกระดับทักษะ และทำงานในส่วนที่คนทำงานยังไม่มี Skill มากพอไปพร้อมกัน

 

นอกจากนี้ ด้วยความสามารถของ AI ในการทำงานแทนมนุษย์บางอย่าง สิ่งที่จะปลดล็อกได้คือ ‘เวลา’ ยกตัวอย่างเช่น แทนที่พนักงานจะต้องมานั่งจมกับกองเอกสารทั้งวัน อาจใช้เวลาที่ได้คืนมาไปทำงานอื่น หรือใช้เวลายกระดับทักษะของตัวเองให้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อธุรกิจอย่างแน่นอน เพราะเมื่อคนทำงานได้มากขึ้น ธุรกิจมีการเติบโตสูงขึ้น เศรฐกิจก็โตได้มากขึ้นตาม

 

AI_Economy-02

 

AI ในระดับ ‘มหภาค’

 

แม้ว่าไทยเรายังต้องใช้ AI จากต่างประเทศอยู่ ด้วยเหตุผลมากมาย และที่ใหญ่ที่สุดคือเรื่อง ‘ต้นทุนการพัฒนา’ ที่มหาศาล สิ่งที่ทางภาครัฐจะช่วยได้คือการอุดหนุนให้ทุกคนสามารถเข้าถึง AI ได้ในราคาที่ถูกลง ซึ่งนับเป็นหนึ่งทิศทางที่จะทำให้ AI แพร่หลายขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ 

 

ไปจนถึงการออกแบบ ‘แอปพลิเคชัน’ ที่มีพื้นฐานการทำงานด้วย AI เช่น แอปพลิเคชันสำหรับภาคเกษตรโดยเฉพาะ ที่ไม่เพียงเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจากการใช้งานที่ตอบโจทย์ได้จริง แต่ตัวแอปพลิเคชันเองก็อาจเติบโตในระดับสากลได้ด้วย

 

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการนำ AI เข้าใช้ในระบบสำคัญต่างๆ ของประเทศ เช่น ระบบการศึกษา หรือระบบสาธารณสุข ไปจนถึงด้าน GovTech ที่ไม่เพียงแต่ยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการ แต่จะสามารถลดต้นทุน ไปพร้อมกับการยกระดับด้านความปลอดภัยของข้อมูล

 

สุดท้ายนี้ แนวทางที่ภาครัฐอาจนำไปพิจารณา คือการ ‘หล่อลื่นตลาด’ ให้ AI สามารถไหลเข้าสู่สังคม ธุรกิจ และประเทศได้อย่างไม่ติดขัด ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นต่อจากนั้น จะสร้าง Movement ใหม่ที่อาจจะเข้ามาเติมช่องว่างให้ตั้งแต่ระดับตัวบุคคล ไปจนถึงธุรกิจบริษัท ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

 

Source: PwC

 


  • 9
  •  
  •  
  •  
  •