เรียกว่าตอนนี้ AI เข้าไปมีบทบาทแทบจะทุกภาคส่วน ปั่นป่วนแม้กระทั่งเวทีโนเบลไพรซ์ (Nobel Prize) ปีล่าสุด ที่ดูเหมือนว่าจะมีดราม่าในการมอบรางวัลให้กับผลงานที่ผ่านการคิดโดย “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI ในสาขาเคมี และสาขาฟิสิกส์
ในส่วนของสาขาเคมี คือการทำนายโครงสร้างโปรตีน โดยสามารถพบโครงสร้างโปรตีนกว่า 200 ล้านโปรตีน ทำให้เกิดดราม่าในวงการเคมี ที่ให้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการค้นพบ
หนักกว่าคือ รางวัลในสาขาฟิสิกส์ เหตุที่ให้รางวัลก็คือบอกว่าใช้สมการฟิสิกส์ไปสร้างเอไอ สร้างความไม่พอใจให้กับนักฟิสิกส์จำนวนมาก ว่าทำไมมามอบให้กับนัก AI ไม่ใช่นักฟิสิกส์ ที่สำคัญ บรรดาคนที่ได้คือคนที่ทำงานในบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ซึ่งมีเงินทุนมหาศาล ทำให้บรรดานักวิทยาศาสตร์แบบดั้งเดิม ตั้งคำถามว่า เพราะมีเงินเยอะกว่า มีทุนเยอะกว่าก็ทำให้การค้นคว้าง่ายกว่านั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้บ่อยๆ ทำไมไม่ตั้งรางวัลให้กับนัก AI ไปเลย จะได้ไม่เกิดปัญหาหรือข้อถกเถียง
อันที่จริงแล้ว รางวัลโนเบลเองก็มีรางวัลที่คล้ายๆ กับการมอบให้กับเทคโนโลยี AI เช่นกัน เรียกว่า รางวัลทัวร์ริ่ง (Turing Award) สําหรับนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์
ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบัน TDRI แสดงความเห็นผ่านรายการ คิดยกกำลังสองของ Thai PBS ว่า ประเด็นดราม่านี้เป็นสัญญาณบอกว่า ถึงเวลาเปลี่ยนยุคสมัยแล้ว แม้กระทั่งวงการวิทยาศาสตร์ซึ่งถือว่าเป็นแนวหน้า ก็กําลังถูกเขยออย่างรุนแรงโดย AI และอาจจะเกิดเป็นทฤษฎีใหม่ได้หรือแม้แต่เกิดวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ที่จะแยกจากเอไอได้ยาก สําคัญที่สุดก็คือการใช้ AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งคนวิเคราะห์ไม่ไหวแล้ว ทําให้เกิดการค้นพบใหม่ใหม่ขึ้นได้
ยกตัวอย่างเช่น กว่าจะค้นพบอนุภาคที่เรียกว่าอนุภาคพระเจ้า ก็จะมีข้อมูลมากมายมหาศาล ซึ่งคนวิเคราะห์ไม่ไหว แต่ AI ระบุได้ หรือการค้นพบ ว่ามีดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะจักรวาลซึ่งพบมากขึ้นทุกวันๆ และพบอย่างรวดเร็ว ก็เป็นเพราะว่า AI ใช้ภาพจากกล้องโทรทัศน์มาวิเคราะห์ดู จึงพบได้และ AI ยังสามารถพบภาษาสัตว์ได้ด้วย หรือแม้แต่การค้นพบโครงสร้างโปรตีนได้ ฯลฯ
“AI กําลังทําให้ขีดความสามารถเดิมของนักวิทยาศาสตร์ถูกขยายเพิ่มขึ้น”
มากไปกว่านั้น ข้อสังเกตของ ดร. สมเกียรติ ระบุว่า AI อาจจะมาช่วยตั้งข้อสันนิษฐานให้กับการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ โดยยกตัวอย่างเคส การศึกษาที่พบว่า น้ำมันปลาทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น และการศึกษากลุ่มหนึ่งที่ไปศึกษาเรื่อง การไหลเวียนของเลือดที่มีปัญหาและเกี่ยวข้องกับ โรคเรเนาด์ (Raynaud Disease) ซึ่งทําให้มือซีด เพราะเลือดไหลเวียนไม่ดี ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้ไม่เคยเกี่ยวข้องกันเลย แล้วมีคนเอาสองเรื่องนี้มารวมกัน จนทำให้ค้นพบว่าน้ำมันปลาอาจเป็นวิธีการรักษาโรคโรคเรเนาด์ได้ และเป็นตัวอย่างของการค้นพบโรคหรือวิธีการรักษาโรคผ่าน AI โดยอาจเกิดจากการตั้งข้อสันนิษฐานที่ AI คิดเอง
คำถามคือแล้ว AI รู้ได้ยังไง?
1) มาจากการอ่านเอกสารงานวิชาการจำนวนมากมาย
2) แล้วนำงานวิชาการต่างๆ มาร้อยเรียงต่อกันได้
3) จากนั้นนำไปสู่การตั้งข้อสันนิษฐาน
เพราะฉะนั้นต่อไป AI อาจจะสามารถคิดวิธีใช้ยาแบบใหม่ หรือการศึกษาข้ามศาสตร์ที่ 2 วงนี้ไม่ได้คุยกัน AI จะเป็นตัวเชื่อมเอางานวิชาการสองเรื่องนี้มาชนกัน แล้วก็ตั้งข้อสันนิษฐาน แล้วก็สามารถไปทดสอบข้อสันนิษฐานได้ต่อ ในระบบที่เรียกว่า Adam&Eve ซึ่งก็เป็นหุ่นยนต์นักวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัย ซึ่งนอกจากช่วยตั้งข้อสันนิษฐานแล้วก็ยังช่วยทดลองทดสอบด้วย และเมื่อทดลองแล้วพบว่าข้อสันนิษฐานไม่ถูกก็กลับไปเปลี่ยนปรับปรุงให้ดีขึ้น จนกระทั่งพบข้อสันนิษฐานที่น่าจะถูกต้อง
ด้วยความที่ AI ไม่ต้องพัก ไม่มีเหนื่อย ก็สามารถทำการทดลองและหาข้อสันนิษฐานต่างๆ ได้มากมาย ที่สำคัญ ยังปราศจากข้ออคติ ซึ่งแตกต่างจากมนุษย์ ที่มักจะปัดตกข้อสันนิษฐานที่ผิดไปจากความเชื่อเดิม ซึ่งอาจทำให้การทดลองผิดพลาดได้
มากไปกว่านั้นคือ AI ยังบันทึกการทดลองทุกขั้นตอนอย่างละเอียดมากด้วย เพราะฉะนั้นก็จะสามารถทำการทดลองซ้ำๆ ได้โดยง่าย ให้ความรู้วิทยาศาสตร์มีการยืนยันได้เร็วขึ้น
จะเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ของกระบวนการด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งเชื่อกันว่าจะทําให้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์นั้นเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
กลับมามองประเทศไทยก็แปลว่าต่อไปนักวิทยาศาสตร์ไทย ก็คงจะหลีกเลี่ยง จากการใช้ AI ไม่ได้ ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์ไทยก็ควรจะศึกษาให้การใช้ AI เข้ามาช่วยด้วย ก็จะทําให้กระบวนการค้นพบต่าง ๆ เร็วขึ้นและแข่งขันได้ในเวทีโลก