2563 ถือเป็นปีที่ยากลำบากทั้งในแง่การทำธุรกิจและการใช้ชีวิตหลังสถานการณ์โรคระบาดรุมเร้าแทบทั้งปี และยังถือเป็นปีที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด เห็นได้จากตัวเลขปริมาณการใช้ e-Payment, e-Commerce และปริมาณการดาวน์โหลด App ที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ชี้ให้เห็นว่าโลกดิจิทัลเริ่มเข้ามาสู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนธุรกิจให้เข้าถึงโลกดิจิทัลเพื่อยังคงสามารถให้บริการได้ แม้จะมีมาตรการ Social Distancing
แม้ว่าเทคโนโลยีจะกลายเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับหลายล้านคนและสำหรับหลายล้านธุรกิจ แต่เทคโนโลยีก็ยังจำเป็นต้องมีการพัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นไปอีก สถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงส่งผลให้มีการปรับใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นระบบเครือข่าย ระบบคลาวด์ ระบบรักษาความปลอดภัย เทคโนโลยีสำหรับการทำงานร่วมกัน และเทคโนโลยีดิจิทัลอื่นๆ ซึ่งในอนาคตจะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจ การใช้ชีวิต และการทำกิจกรรมต่างๆ
ทั้งหมดนี้คือเทรนด์เทคโนโลยีทั้งที่เกิดขึ้นแล้ว และกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะนำพาทุกคนเข้าสู่อนาคตของโลกดิจิทัลที่ดีขึ้น สมบูรณ์แบบมากขึ้นในปี 2564
5G และ Wi-Fi 6 ระบบการเชื่อมต่อช่วยลดช่องว่างดิจิทัล
ทุกวันนี้ประชากรโลกราวครึ่งหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ จึงขาดโอกาสทางการศึกษา ธุรกิจ และการรักษาพยาบาล และในเกือบทุกประเทศปัญหาช่องว่างดิจิทัล (Digital Divide) ส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้คนในชนบทและผู้ยากไร้ เทคโนโลยีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตไร้สาย รวมถึง 5G และ Wi-Fi 6 จะช่วยลดปัญหาช่องว่างดิจิทัลลงได้ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยยกระดับมาตรฐานด้านแบนด์วิธ ความเร็ว การหน่วงเวลา และเข้าถึงพื้นที่ที่การเชื่อมต่อด้วยสาย Fiber มีค่าใช้จ่ายสูงมาก
ช่วยให้บุคลากรที่ทำงานนอกสถานที่ บริษัทที่ต้องการใช้ระบบทำงานที่บ้าน (Work from Home) บริการสาธารณสุขทางไกล ภาคการผลิต และการศึกษา จะได้รับประโยชน์อย่างถ้วนหน้าจากระบบไร้สายรุ่นใหม่นี้ เชื่อว่าการเชื่อมต่อไร้สายที่มีอยู่ในทุกๆ ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดช่องว่างดิจิทัล เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่นี้จะช่วยกระตุ้นการเติบโต การสร้างสรรค์นวัตกรรม และมอบโอกาสให้แก่ผู้คนนับล้านที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม
เซ็นเซอร์ (Sensor) จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง
นอกจากเรื่องของ Internet of Things (IoT) แล้ว ยังมีเทคโนโลยีอื่นที่เข้ามาช่วยให้ IoT สามารถทำงานได้จริง ทั้ง เทคโนโลยีเครือข่ายขั้นสูง ระบบไร้สาย เทคโนโลยี AI เป็นต้น แต่ทั้งหมดจะต้องทำงานผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า “เซ็นเซอร์ (Sensor)” ซึ่งจะช่วยให้สามารถสื่อสารระหว่างเครื่องจักรต่างๆ และผู้คนทั่วโลกในรูปแบบที่แปลกใหม่
สถานที่ทำงานคือตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เซ็นเซอร์จะช่วยให้องค์กรสามารถจัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัยต่อสุขภาพ เมื่อผนวกรวมเข้ากับ Wi-Fi และเทคโนโลยีการระบุตำแหน่งที่ตั้ง และเชื่อมโยงเข้ากับแพลตฟอร์มสำหรับการทำงานร่วมกัน จะสามารถระบุพื้นที่ที่มีคนหนาแน่นมากเกินไป หรือพื้นที่ที่มีการใช้งานน้อยเกินไป ทั้งยังสามารถตรวจสอบควบคุมสภาวะต่างๆ เช่น อุณหภูมิห้อง ความชื้น คุณภาพของอากาศ และแสงสว่าง
อย่างไรก็ดี เซ็นเซอร์ยังสามารถใช้งานได้หลากหลาย เช่น เซ็นเซอร์ที่ใช้ในการแข่งกีฬาจะแจ้งเตือนเกี่ยวกับการชนกระแทกของนักกีฬา เซ็นเซอร์ตรวจจับความเหนื่อยล้าของพนักงานที่อาจเป็นอันตราย ข้อมูลทั้งหมดนี้จะถูกเก็บรวบรวมและแปรเปลี่ยนเป็นข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์ โดย AI จะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในการรายงานข้อมูลเหล่านี้เพื่อช่วยให้ตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น
ระบบรักษาความปลอดภัยที่มั่นคงแต่ใช้งานง่าย
Cloud กลายเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากต่อธุรกิจในปัจจุบัน ช่วยให้สามารถทำงานได้อย่างคล่องตัวโดยเฉพาะในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา แต่เพราะจำเป็นต้องใช้งานอย่างกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ รวมถึงการเข้าระบบ Cloud ผ่านอุปกรณ์มากมาย ส่งผลให้ปล่อยปละละเลยขาดการดูแลเรื่องระบบรักษาความปลอดภัย ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ระบบรักษาความปลอดภัยแบบครบวงจรที่ทำงานโดยอัตโนมัติ ที่ช่วยให่ง่ายต่อการใช้งานและสามารถตรวจสอบภัยคุกคามได้ จึงกลายเป็นเทรนด์เทคโนโลยีที่สำคัญของธุรกิจอนาคต โดยรายงานด้านความปลอดภัยประจำปี 2564 (2021 Security Outcomes Study) ของ Cisco ชี้ว่า การบูรณาการด้านเทคโนโลยีอย่างเหมาะสมคือปัจจัยสำคัญที่สุดต่อความสำเร็จขององค์กร
หนึ่งในความท้าทายที่สำคัญที่สุดในเรื่องการรักษาความปลอดภัยคือ การรู้ว่าอะไรคือปัญหาที่เกิดขึ้นจริงและอะไรคือภัยคุกคามที่มีความซับซ้อน แนวทาง Zero Trust คือแนวทางที่เน้นการตรวจสอบทุกสิ่ง รวมถึงผู้ใช้ทุกคน ก่อนที่จะอนุญาตให้เข้าสู่ระบบ เพื่อให้แน่ใจว่ามีการใช้งานเฉพาะผู้ใช้หรืออุปกรณ์ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น โดยพบว่ากว่า 39% ต้องการปฏิบัติตามแนวทาง Zero Trust ขณะที่ 38% กำลังดำเนินการอยู่ และหนึ่งในระบบรักษาความปลอดภัยที่ปลอดภัยที่นิยมใช้อย่างมากในองค์กรต่างๆ คือ ไบโอเมตริก (Biometrics)
ค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีคิดอัตราตามการใช้งานจริง
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา องค์กรต่างๆ ได้ลงทุนติดตั้งโซลูชันเทคโนโลยีเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง (Disruption) ที่ใช้ได้กับทุกองค์กร (One Size Fits All) ซึ่งนั่นหมายความว่าองค์กรต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับฟีเจอร์บางอย่างที่ผู้ใช้อาจไม่ได้ใช้งานเลยในความเป็นจริง แต่ปัจจุบันซอฟต์แวร์ในรูปแบบบริการ (Software as a Service – SaaS) ช่วยให้องค์กรเสียค่าใช้จ่ายเฉพาะในส่วนของฟีเจอร์และเทคโนโลยีที่ตนเองต้องการใช้งานในขณะนั้น และมีทางเลือกที่จะขยายไปสู่บริการอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็วและคล่องตัวเมื่อถึงคราวจำเป็น
รูปแบบการใช้งานจะยังคงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีฟีเจอร์และความสามารถต่างๆ ที่พร้อมใช้งานผ่านทางซอฟต์แวร์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งในองค์กรหรือในระบบคลาวด์ ความยืดหยุ่นและการประหยัดค่าใช้จ่ายที่เป็นผลมาจากรูปแบบการคิดค่าใช้จ่ายตามการใช้งานจริงนับเป็นประโยชน์อย่างมากต่อองค์กร
การเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบการคิดค่าใช้จ่ายตามการใช้งานจริง ซึ่งจะช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถคาดการณ์ค่าใช้จ่ายและจัดการงบประมาณด้านไอทีได้อย่างยืดหยุ่นมากขึ้น โดยรายงานการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารฝ่ายสารสนเทศและผู้บริหารฝ่ายไอที พบว่า 85% ของผู้บริหารฝ่ายสารสนเทศ (CIO) และผู้บริหารฝ่ายไอที เห็นว่าการจ่ายตามการใช้งานจริงมีความสำคัญต่อองค์กรธุรกิจ
Application กุญแจสู่อนาคต ช่วยให้คล่องตัวและยืดหยุ่น
แม้ว่าในช่วงระยะแรกของการแพร่ระบาด องค์กรต่างๆ ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ ระบบคลาวด์กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเพิ่มความคล่องตัว แต่ในเวลาต่อมา แอปพลิเคชันจะกลายเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ แต่กลับมีการใช้งานอย่างกระจัดกระจาย ส่งผลให้ต้องรองรับปริมาณการใช้งานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
สำหรับในอนาคต ทีมงานฝ่ายไอทีจะต้องทำงานหนักมากขึ้น โดยจะต้องการความคล่องตัวเพิ่มขึ้นและระบบการตรวจสอบที่ดีขึ้น เพื่อช่วยให้สามารถตรวจสอบเฉพาะข้อมูลหรือข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญ รวมถึงระบบงานอัตโนมัติจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการเติบโตของธุรกิจในอนาคต รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันและความยืดหยุ่นในการดำเนินงาน
พัฒนาการให้บริการสู่การสร้างความพึงพอใจ
ทุกวันนี้ Mobile Application รองรับการทำกิจกรรมแทบทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นช้อปปิ้ง โอนถอนเติมจ่าย การเรียน คลายหิวหรือการดูแลสุขภาพ แถมยังช่วยเกาะติดสถานการณ์การแพร่ระบาดได้อีกด้วย นอกจากนั้นยังช่วยให้ภาครัฐและเอกชนสามารถเชื่อมต่อระบบเข้าด้วยกัน และทำความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ใช้ในรูปแบบที่ไม่เคยทำได้มาก่อน
แน่นอนว่าหลายธุรกิจส่วนใหญ่เริ่มดำเนินการบนแอปพลิเคชัน การใช้งานแอปพลิเคชันอย่างเหมาะสมจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าและผู้ใช้งาน อีกทั้งยังช่วยให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันท่วงที สิ่งสำคัญธุรกิจจะต้องแปลงข้อมูลแบบเรียลไทม์ให้กลายเป็นข้อมูลเชิงลึกที่สามารถนำไปใช้งานได้ในทางปฏิบัติ และจะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว
การได้ข้อมูลเชิงลึกที่รวดเร็วจะช่วยให้สามารถบริการลูกค้าได้ก่อนที่ลูกค้าจะเกิดความต้องการ ช่วยสร้างความประทับใจ และยังช่วยระบุถึงความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาขึ้นกับลูกค้า ช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที พร้อมทั้งการสร้างประสบการณ์แบบเฉพาะบุคคล (Personalization) ทำให้ลูกค้าเกิดความผูกพันและเกิดความภักดีในแบรนด์ (Brand Loyaly) นั้นๆ มากขึ้น
ปัจจุบันมีการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว จึงนับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำเพื่อปรับปรุงองค์กรให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ตอบสนองได้อย่างฉับไว และพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ และขณะเดียวกันก็ควรมีการปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คนทั่วโลกด้วยเช่นกัน