ทุกวันนี้ “คอนเทนต์วิดีโอ” บนแพลตฟอร์มดิจิทัล ทั้งรูปแบบ Long form, Short form และ Live Streaming รวมทั้งมีเนื้อหาหลากหลายให้เลือกรับชม จากครีเอเตอร์มากมาย ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “การระเบิดตัว” ของคอนเทนต์วิดีโอ (Explosion of Video) ที่มีอัปโหลดวิดีโอจำนวนมหาศาลขึ้นบนแพลตฟอร์มวิดีโอ
หนึ่งในนั้นคือ “YouTube” ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากกว่า 2.5 พันล้านคนทั่วโลก และมีความหลากหลายทั้งช่อง, ครีเอเตอร์, ประเภทคอนเทนต์ และรูปแบบคอนเทนต์ โดย คุณมายด์ – ฐรินทร์ญา ศุภทรัพย์ Strategic Partner Manager, YouTube Thailand ฉายแนวโน้ม YouTube ในปัจจุบันว่า
– ในทุกๆ นาทีมีคนอัปโหลดคอนเทนต์บน YouTube รวมกันมากกว่า 500+ ชั่วโมง
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คอนเทนต์วิดีโอเพิ่มขึ้นบน YouTube มาจาก
1. แพลตฟอร์ม YouTube มีตัวเลือกหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์ยาว คอนเทนต์สั้น และดูได้ทั้งบนมือถือ บนจอทีวี รวมทั้งมีทั้งคอนเทนต์ Mass และ Niche
2. เทคโนโลยี AI มีบทบาททำให้ตลาดวิดีโอเติบโต เนื่องจากช่วยให้ครีเอเตอร์ผลิตคอนเทนต์ได้สะดวกขึ้น ง่ายขึ้น
3 เทรนด์ “คอนเทนต์วิดีโอ” บน YouTube
คุณมายด์ – ฐรินทร์ญา จาก YouTube Thailand เล่าว่าวิดีโอมีผลทำให้เกิด Culture กลุ่มต่างๆ มากมาย แต่ในปี 2023 เห็นความเปลี่ยนแปลงว่าวิดีโอยังเป็นตัวกำหนดบทบาท Culture ของคนเช่นกัน ด้วย 3 เทรนด์แห่งการเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย
เทรนด์เทคโนโลยี: AI ผู้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตคอนเทนต์
เทคโนโลยี ทำให้การทำคอนเทนต์ง่ายขึ้น จากคนที่ทำคอนเทนต์ไม่เป็น ก็สามารถผลิตคอนเทนต์วิดีโอได้ ซึ่ง YouTube ทำการสำรวจทั่วโลกพบว่า
– 82% ของ Gen Z ทำคอนเทนต์ออนไลน์ และอัปโหลดบนแพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์ นอกจากนี้ยังพบว่า Gen Z นิยมทำคอนเทนต์วิดีโอมากขึ้นเรื่อยๆ
– 65% ของ Gen Z ใช้เทคโนโลยีที่อยู่ในแอปพลิเคชันวิดีโอ ไม่ว่าจะเป็นฟีเจอร์, ฟิลเตอร์, เอฟเฟ็กต์ต่างๆ
สะท้อนให้เห็นว่าเทคโนโลยีมีบทบาทในการทำคอนเทนต์ ช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึง และทำคอนเทนต์ได้ง่ายขึ้น และทำให้ในตลาดวิดีโอ มีครีเอเตอร์ และคอนเทนต์เพิ่มขึ้น ทั้งปริมาณและคุณภาพ
หนึ่งในเทคโนโลยีที่ครีเอเตอร์บน YouTube เริ่มใช้กันคือ เทคโนโลยี AI แปลภาษาและพากษ์เสียง ให้เป็นภาษาของประเทศต่างๆ เพื่อทำให้คอนเทนต์ของช่องเข้าถึงคนดูทั่วโลก โดยที่คนดูกดเลือกภาษาที่ต้องการได้
ขณะที่กลุ่มคนดู ผลสำรวจพบว่า
– 60% ของกลุ่มคนดูบอกว่าเปิดใจและดูคอนเทนต์ที่ครีเอเตอร์สร้างด้วยเทคโนโลยี AI
เพราะฉะนั้นวันนี้ถ้าครีเอเตอร์อยากทำคอนเทนต์ แล้วใช้เทคโนโลยี AI เป็นตัวช่วย ไม่ต้องกังวลว่าคนดูจะไม่พร้อมเปิดใจ เพราะจากผลสำรวจ และการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโนโลยี ทำให้เห็นว่าคนดูเปิดใจพร้อมรับกับสิ่งใหม่
ปัจจุบัน YouTube ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และฟีเจอร์ใหม่ที่ทำงานด้วยเทคโนโลยี Generative AI ช่วยให้ครีเอเตอร์สามารถสร้าง ตัดต่อ และแชร์คอนเทนต์วิดีโอด้วยวิธีใหม่ๆ บน YouTube ได้สะดวกขึ้น ง่ายขึ้น
ตัวอย่างเทคโนโลยี Generative AI บนแพลตฟอร์ม YouTube ที่เปิดตัวที่สหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
– Dream Screen: ฟีเจอร์ใหม่ที่ให้ครีเอเตอร์เพิ่มวิดีโอหรือภาพพื้นหลังที่ AI สร้างขึ้นลงใน Shorts ได้ง่ายๆ ด้วยการพิมพ์ไอเดียลงในพรอมต์ Dream Screen ช่วยให้ครีเอเตอร์สร้างฉากขึ้นมาใหม่สำหรับ Shorts ได้ตามแต่จะจินตนาการ
เช่น อยากได้ภาพแพนด้าดื่มกาแฟ ครีเอเตอร์ป้อนคำสั่งในฟีเจอร์ Dream Screen จากนั้น AI จะสร้างออกมาเป็นภาพแพนด้าดื่มกาแฟในอิริยาบถต่างๆ ช่วยให้กระบวนการผลิตคอนเทนต์มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยประหยัดเวลา
– YouTube Create: แอปพลิเคชันบนมือถือ เพื่อให้ครีเอเตอร์ตัดต่อและแชร์คอนเทนต์วิดีโอลงใน YouTube ได้โดยตรง แอปฯ นี้ออกแบบมาให้รองรับการผลิตทั้งวิดีโอแบบสั้น และแบบยาว
– AI Insights: เป็นเสมือนผู้ช่วยครีเอเตอร์ในการช่วย brainstorm พัฒนาปรับปรุง และสร้างสรรค์คอนเทนต์วิดีโอให้โดนใจกลุ่มคนดูของช่องครีเอเตอร์มากขึ้น โดยศึกษา ทำความเข้าใจ และวิเคราะห์จาก Insight Data ระบบหลังบ้านของช่องครีเอเตอร์
– Aloud: เครื่องมือการพากย์เสียงที่ทำงานด้วยระบบ AI มาไว้ใน YouTube ช่วยให้ครีเอเตอร์ขยายฐานผู้ชมในภาษาอื่นๆ นอกเหนือจากภาษาหลักของตนได้อย่างง่ายดาย
– Assistive Search in Creator Music: ให้ครีเอเตอร์ค้นพบเพลงประกอบวิดีโอได้ง่ายขึ้น เพียงแค่พิมพ์คำค้นหา จากนั้น AI จะแนะนำเพลงที่ตรงกับความต้องการของครีเอเตอร์
อย่างไรก็ตามเมื่อเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการผลิตคอนเทนต์ให้กับครีเอเตอร์ แต่เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ได้มาแทนที่ครีเอเตอร์ หากแต่ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้คอนเทนต์วิดีโอที่มีคุณภาพมากขึ้น ดังนั้นในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ ยังต้องมี “ครีเอเตอร์” ทำหน้าที่คิด “Core Idea” โดยเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยให้การผลิตคอนเทนต์ดีขึ้น
เทรนด์ Culture: พลัง SUPER FAN หนุนรายได้ครีเอเตอร์
จาก Culture “แฟนด้อม” สร้าง Community ต่างๆ ที่รวมคนชอบในสิ่งเดียวกัน และติดตามดูคอนเทนต์ที่ตัวเองชอบ ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์ Niche หรือ Mass ก็ตาม แต่วันนี้ Culture แฟนด้อมก้าวไปอีกขั้น คือ เป็น “SUPER FAN”
SUPER FAN เหล่านี้ ไม่ได้เพียงเข้ามาดูคอนเทนต์เท่านั้น แต่ยังพร้อมให้การสนับสนุน ทั้ง 1. สร้างคอนเทนต์ในสิ่งที่พวกเขาชื่นชอบ เช่น คอนเทนต์วิดีโอที่เหล่าแฟนคลับทำขึ้นเอง หรือที่เรียกว่า Fan Made Video และ 2. จ่ายเงินซัพพอร์ตครีเอเตอร์ โดยผลสำรวจพบว่า
– 47% ของ Gen Z ทั่วโลก ไม่ได้ดูวิดีโอที่เป็น Original Content อย่างเดียว แต่เขายังดูวิดีโอเวอร์ชั่น Fan Made ที่เหล่าแฟนคลับ หรือ SUPER FAN เป็นคนทำคอนเทนต์วิดีโอนั้นๆ เพื่อซัพสิ่งที่เขาชื่นชอบ
สะท้อนให้เห็นว่า คนที่ SUPER FAN ไม่ได้เป็นเพียง Passive Audience ที่ดูคอนเทนต์เท่านั้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง ยังเป็นครีเอเตอร์สร้างคอนเทนต์ในสิ่งที่เขาชื่นชอบด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้พลังของคอนเทนต์เวอร์ชั่น Fan Made จากเหล่า SUPER FAN สำคัญกับครีเอเตอร์ โดยพบว่าประเภทคอนเทนต์ที่ SUPER FAN จะเริ่มต้นทำ คือ Meme นั่นเพราะทุกวันนี้คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับ Meme และรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันไปแล้ว
ไม่เพียงแต่ SUPER FAN จะให้การซัพพอร์ตในรูปแบบของการทำ Fan Made Content เท่านั้น ขณะเดียวกัน SUPER FAN ยังพร้อมจ่ายเงิน เพื่อให้การสนับสนุนครีเอเตอร์ด้วยเช่นกัน ทำให้ปัจจุบันโมเดล Fan Funding ของช่องต่างๆ บน YouTube เติบโต
ตัวอย่างเช่น ช่อง Game Streaming ทำคอนเทนต์สำหรับระบบสมาชิกโดยเฉพาะ และพบว่าหลายช่องรายได้หลักมาจาก Fan Funding Model นอกจากนี้ยังเห็นช่องต่างๆ บน YouTube เช่น ช่องด้านไลฟ์สไตล์ ช่องบันเทิง ใช้ระบบสมาชิก และ Fan Funding ให้การสนันบสนุนช่อง และครีเอเตอร์
จากการเปลี่ยนแปลงของ Culture ที่พัฒนาจากแฟนด้อม ไปสู่ “SUPER FAN” ตอกย้ำให้เห็นว่าครีเอเตอร์ไม่จำเป็นต้องจับคนดูทุกกุล่ม หรือเอาชนะใจคนดูทั้งหมด แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่ครีเอเตอร์ ต้องเอาชนะใจคนทุกคนในชุมชนของครีเอเตอร์ให้ได้ ไม่ว่า Community นั้นจะกลุ่มขนาดใดก็ตาม
เทรนด์ Creativity: เมื่อความคิดสร้างสรรค์หลายรูปแบบคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มเดียว
ทุกวันนี้ครีเอเตอร์บน YouTube นิยมผลิตคอนเทนต์แบบ Multiple format in one channel คือ ผลิตคอนเทนต์หลากหลายรูปแบบในหนึ่งแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอสั้น วิดีโอยาว หรือรูปแบบ Live Streaming เพราะฉะนั้นนอกจากการสร้างสรรค์ไอเดีย และกระบวนการต่างๆ ใน production แล้ว ครีเอเตอร์ยังมีหน้าที่เลือกว่าจะใช้ format ใดในการนำเสนอคอนเทนต์ เพื่อตอบโจทย์คนดู ซึ่งผลสำรวจพบว่า คนไทยนิยมดูคอนเทนต์บน YouTube หลากหลายรูปแบบ
– คนไทยน้อยกว่า 20% เลือกดูคอนเทนต์แค่รูปแบบเดียว สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่ รับชมคอนเทนต์มากกว่า 1 รูปแบบบน YouTube
ปัจจุบัน YouTube มีหลากหลายรูปแบบวิดีโอให้ครีเอเตอร์ได้เลือกใช้ตามความเหมาะสมของคอนเทนต์และกลุ่มคนดู เช่น
– Live Stream: ใช้สำหรับถ่ายทอดสดเกาะติดกระแสต่างๆ, ถ่ายทอดสดการสัมภาษณ์
– Short Video: วิดีโอสั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันไปแล้ว โดยปัจจุบันยอดการรับชม Short บน YouTube ทั่วโลกอยู่ที่ 70,000 ล้านวิวต่อวัน และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยอดวิว Short ต่อวันเติบโตขึ้น +130%
แสดงให้เห็นว่า YouTube Short ไม่ได้มาแทนคอนเทนต์วิดีโอแบบยาว แต่เข้ามามีส่วนช่วยเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อให้ครีเอเตอร์เลือกรูปแบบการทำคอนเทนต์ได้มากขึ้น
– Podcast หรือคอนเทนต์เสียง: การถ่ายทอดเรื่องราว หรือการเล่าเรื่องแบบเสียงจะช่วยให้ครีเอเตอร์ เอาชนะใจคนดูได้มากขึ้น
ดังนั้นความหลากหลายของรูปแบบคอนเทนต์ ทำให้เกิด Creative Freedom กับครีเอเตอร์ในการต่อยอดสู่การนำเสนอที่มี Creativity หลากหลายขึ้น
และนี่คือ 3 เทรนด์แห่งความเปลี่ยนแปลง (Technology – Culture – Creativity) ที่เป็นความท้าทายใหม่สำหรับครีเอเตอร์ให้ต้องปรับตัว และเอาชนะใจคนดูทั้งในวันนี้ และอนาคต
Source: ขอขอบคุณข้อมูลจากงาน iCreator Conference 2023