ชาวโซเชียลสนใจ ‘วัคซีนโควิด-19’ มากแค่ไหน และแบรนด์ใดที่พูดถึงมากที่สุด

  • 72
  •  
  •  
  •  
  •  

การจัดหาและฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นอีกประเด็นร้อนที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากบนโลกโซเซียล ซึ่งน่าสนใจว่า ชาวโซเชียลพูดถึงวัคซีนตัวใดมากที่สุด และแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวอย่างไร

จากการเก็บข้อมูลของ ‘ไวซ์ไซท์’ ผ่านเครื่องมือ ZOCIAL EYE ในช่วงวันที่ 20-30 เมษายน 2564 เกี่ยวกับความคิดเห็นของคนไทยบนโลกโซเชียลเรื่องวัคซีนต้านโควิด ทั้ง 5 แบรนด์ ที่รัฐได้ทำการนำเข้ามาเพื่อให้บริการแก่ประชาชน ได้แก่ ซิโนแวค (Sinovac), ไฟเซอร์ (Pfizer), แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca), ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) และ สปุตนิก วี (Sputnik V) พบว่า

ประเด็นดังกล่าวได้รับ Engagement สูงกว่า 10,000,000 Engagement จากช่องทาง Facebook และ Twitter เป็นหลัก โดยความคิดเห็นของชาวโซเชียลส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องประสิทธิภาพ และกังวลถึงผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนเป็นอันดับต้น ๆ

ส่วนแบรนด์วัคซีนที่ชาวโซเชียลพูดถึงกันมากที่สุด ได้แก่

อันดับ 1: ซิโนแวค (Sinovac) 5,520,197 Engagement

วัคซีนเทคโนโลยีชนิดเชื้อตายที่มีชื่อว่า “โคโรนาแวค” (CoronaVac) ผลิตโดย บริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ ไซแอนซ์ ประเทศจีน มีประสิทธิภาพป้องกันสายพันธ์ดั้งเดิมได้ 49.6% แต่ประสิทธิภาพจะลดลงอีกเมื่อเจอสายพันธุ์แอฟริกา อังกฤษ และบราซิล โดยประเด็นหลักที่เกี่ยวข้องและได้รับการพูดถึงควบคู่กันคือ ‘ไม่อยากฉีด และคุณภาพต่ำ’

อันดับ 2: ไฟเซอร์ (Pfizer) 3,022,726 Engagement

วัคซีนชนิดสารพันธุกรรม (mRNA) เทคโนโลยีใหม่ที่เคยใช้กับวัคซีนป้องกันโรคอีโบล่า และมีประสิทธิภาพป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้สูง ที่บริษัทไฟเซอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกาและบริษัทไบโอเอ็นเทค ประเทศเยอรมนี (Pfizer-BioNTech) ได้ร่วมกันผลิต โดยประเด็นหลักที่เกี่ยวข้อง และได้รับการพูดถึงควบคู่กันคือ ‘ความต้องการฉีด และคุณภาพดีที่สุด’

อันดับ 3: แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) 925,936 Engagement

วัคซีนที่ใช้วิธีการผลิตแบบเวกเตอร์ ผลิตโดยบริษัท AstraZeneca สัญชาติอังกฤษ-สวีเดน ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มีประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์ดั้งเดิมได้ 76% ส่วนสายพันธุ์อื่นๆ ยังไม่มีผลระบุที่ชัดเจน โดยประเด็นหลักที่เกี่ยวข้องและได้รับการพูดถึงควบคู่กันคือ ‘เรื่องการผูกขาด และคุณภาพดี’

อันดับ 4: ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) 671,431 Engagement

วัคซีนเทคโนโลยีชนิดเชื้อตาย ที่พัฒนาโดยบริษัทชิโนฟาร์ม ประเทศจีน มีประสิทธิภาพป้องกันสายพันธ์ุดั้งเดิมได้ 70% แต่ประสิทธิภาพจะลดลงเมื่อเจอสายพันธุ์แอฟริกา โดยประเด็นหลักที่เกี่ยวข้องและได้รับการพูดถึงควบคู่กันคือ ‘ความต้องการฉีด และราคาแพง’

อันดับ 5: สปุตนิก วี (Sputnik V) 294,338 Engagement

วัคซีนที่ใช้วิธีการผลิตแบบเวกเตอร์เช่นเดียวกับวัคซีนของแอสตราเซเนกาที่ต้องฉีดทั้งหมด 2 เข็ม ผลิตโดยประเทศรัสเซีย ตั้งชื่อตามดาวเทียมดวงแรกที่ถูกส่งขึ้นไปโคจรรอบโลก มีประสิทธิภาพสูงถึง 91.6% โดยประเด็นหลักที่เกี่ยวข้องและได้รับการพูดถึงควบคู่กันคือ ‘ความต้องการฉีด และคุณภาพดีที่สุด’


  • 72
  •  
  •  
  •  
  •