เมื่อยุคโควิดสร้างโอกาสให้ Brand.com เติบโตคึกคักตามตลาดอีคอมเมิร์ซในไทย

  • 67
  •  
  •  
  •  
  •  

 

คงจะพูดได้ไม่เต็มปากว่า การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นั้นส่งผลดี แต่จะพูดว่าปัจจัยเหล่านี้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผลดีต่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทย รวมไปถึงผู้บริโภค และเศรษฐกิจไทยในภาพรวม

อย่างที่ คุณพอล ศรีวรกุล, Group CEO ของบริษัท aCommerce ผู้ให้บริการด้านอีคอมเมิร์ซโซลูชั่นรายใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่พูดว่า ที่จริงธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทยเติบโตน่าสนใจตั้งแต่ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดแล้ว แต่การเติบโตในปี 2020 มีความโดดเด่นมากขึ้นไปอีก เพราะทุกๆ การช้อปปิ้งเกิดขึ้นบนออนไลน์ ตั้งแต่สินค้าทั่วไป, เสื้อผ้า ไปจนถึงของใช้ในบ้านที่ชิ้นใหญ่ขึ้น เรียกได้ว่าแทบจะทุกอย่างที่ซื้อผ่านออนไลน์

ถึงแม้ว่าในบางพฤติกรรมการช้อปปิ้งของผู้บริโภคจะค่อนข้างซับซ้อน โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในการซื้อของ หรือดีมานด์ (ชั่วคราว) ในการซื้อสินค้าบางอย่างที่เกิดจากความกังวลของ COVID-19 ก็ตาม

แต่ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ก็สร้างโอกาสมากมายให้กับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เศรษฐกิจของไทย รวมไปถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภคด้วย แต่ที่น่าสนใจคือ อีคอมเมิร์ซ สร้างโอกาสให้กับ Brand.com หรือเว็บไซต์, เพจร้านค้าของแบรนด์นั้นๆ ด้วย ถือว่าเป็นพฤติกรรมผู้บริโภคใหม่ที่น่าจับตา

 

 

ลูกค้าใหม่ในอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้น 50% ในปี 2020

อย่างแรกเราไปอัพเดทกันก่อนว่า สถานการณ์อีคอมเมิร์ซล่าสุดของไทยเป็นอย่างไร ในรายงาน eConomy SEA 2020 โดย Google, Temasek และ Bain & Company ชี้ตรงมาที่ จำนวน ลูกค้าใหม่ ที่เข้าสู่วิถีการช้อปปิ้งบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มากขึ้นเฉลี่ยประมาณ 50% ในปี 2020 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ และในไตรมาส 2/2020 มีลูกค้าที่ซื้อของบนออนไลน์ ครั้งแรก เพิ่มขึ้นประมาณ 120%

ในรายงานยังบอกด้วยว่า การช้อปปิ้งออนไลน์ในประเทศไทยเติบโตขึ้นอีก 40% หลังจากที่มีการล็อกดาวน์ในปี 2020 ดังนั้น aCommerce จึงปรับประเมินว่า ภายในปี 2025 ยอดขายในธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยทั้งหมด น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (จากที่คาดการณ์ว่าจะโต 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งคาดการณ์นี้ถือว่า เป็นยอดซื้อที่น่าสนใจที่สุดในประเทศกลุ่มอาเซียน

 

www.acommerce.asia

 

 

อีคอมเมิร์ซในไทยสร้างโอกาสให้ Brand.com อย่างไร?

อันที่จริงประเด็นการช้อปปิ้งออนไลน์บน e-Marketplaces กับ Brand.com เคยเป็นที่พูดถึงอยู่บ่อยๆ ช่วงที่ผ่านมา ว่าแบรนด์ควรจะโฟกัสไปที่อีคอมเมิร์ซแบบไหน ระหว่าง e-Marketplaces และ Brand.com หมายความว่า การลงทุนในดิจิทัลเทคโนโลยต่างๆ รูปแบบไหนถึงจะคุ้มค่ามากกว่ากัน

แต่ในยุคที่การแพร่ระบาดอยู่กับเรามาเกือบ 2 ปี ซึ่งทำให้เกิดดีมานด์การซื้อขายบนโลกออนไลน์มากกว่าสถานการณ์ปกติ ดังนั้น คำตอบของผู้บริโภคจึงอยู่ในโลกออนไลน์ ขณะเดียวกัน คนไทยยังชอบที่จะค้นหาสินค้า-บริการ จาก Google หรือ search engine อื่นๆ ดังนั้น พฤติกรรมเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เกิดโอกาสสำหรับ Brand.com ขึ้นมา

รายงานของ aCommerce ชี้มาที่ประเด็น Good for brands ซึ่งโอกาสหรือประโยชน์ที่ว่านี้ ก็คือ อัตราความต้องการที่ซื้อสูงในไทย เป็นข้อดีที่แบรนด์สามารถมุ่งมาที่การโฆษณา หรือเพิ่มช่องทางการเข้าถึงลูกค้าทางออนไลน์ โดยที่ไม่ต้องกังวลกับร้านค้าออฟไลน์อย่างที่เคย

 

www.acommerce.asia

 

ขณะที่การลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ลูกค้าเข้าถึงเราได้ง่ายขึ้น อย่างเช่น รูปแบบ direct-to-consumer channels มีความสำคัญมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน โดยจะเห็นจากข้อมูลของ aCommerce ที่ระบุว่า ยอดขายของแบรนด์ต่างๆ บนช่องทาง direct-to-consumer หรือ Brand.com เติบโตขึ้นมากกว่า 110% ในปี 2020 ที่น่าสนใจ คือ การเติบโตนั้นมากกว่าช่องทางขายใน e-Marketplaces อย่าง Shopee หรือ Lazada

นอกจากนี้ ด้วยความที่ผู้บริโภคซื้อของออนไลน์มากขึ้นจนกลายเป็นวัฒนธรรมความเคยชิน จึงทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มรู้สึกลังเล และไม่สบายใจ หากในอนาคตจะต้องกลับไปซื้อของในห้างสรรพสินค้าเหมือนเดิม แต่ก็ยังกังวลเกี่ยวกับความเชื่อมั่นจากการซื้อของออนไลน์ด้วย เช่น สินค้าแบรนด์เนมเป็นของจริงหรือไม่, ระบบการจ่ายเงินปลอดภัยหรือไม่ หรือ ออเดอร์แล้วจะได้รับสินค้าหรือไม่ ซึ่งความกังวลเหล่านี้ มีส่วนโดยตรงทำให้การเติบโตของ Brand.com เพิ่มขึ้นแซงหน้า e-Marketplaces

ดังนั้น พฤติกรรมนี้ทำให้สรุปได้ว่า การลงทุนกับประสิทธิภาพในการช้อปปิ้งออนไลน์ยังเป็นเรื่องจำเป็น และวัฒนธรรมการช้อปปิ้งออนไลน์น่าจะอยู่กับเราอีกนาน

ทั้งนี้ รายงานของ aCommerce ยังพูดถึงข้อดีต่อผู้บริโภค และเศรษฐกิจของไทยในภาพรวมด้วย ลองมาดูคำอธิบายกันว่าเป็นอย่างไร

 

ดีต่อผู้บริโภค (Good for consumers)

ให้เราลองจินตนาการคิดง่ายๆ ว่า เวลาที่เราเห็นฝูงปลาอยู่ในแม่น้ำไหนก็ตาม เราก็คงอยากจะรีบเข้าไปตกปลาให้เร็วที่สุดก่อนที่คนอื่นจะมาเห็น หรือแม้ว่าคนอื่นจะเห็นแล้ว แต่เราคงต้องใช้อาหารล่อเหยื่อที่ดึงดูด และน่าสนใจมากกว่า เพื่อให้เราตกปลาได้มากขึ้น

คล้ายกันกับ circle ของตลาดอีคอมเมิร์ซ ที่แบรนด์ ธุรกิจ หรือผู้ให้บริการเห็นว่า ตลาดแห่งนี้กำลังเติบโตเร็ว คึกคัก และยังมีดีมานด์สูง ดังนั้นการที่ธุรกิจตบเท้ากันเข้ามา นั่นหมายถึงตัวเลือกของผู้บริโภคที่มากขึ้นด้วย

และไม่ใช่แค่ตัวเลือกของสินค้าบริการที่มากขึ้น แต่มันจะพ่วงมากับความสะดวกสบายในการซื้อ การขนส่ง การจ่ายเงิน หรือการเคลมสินค้าบางอย่าง เพราะปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดความภักดีต่อแบรนด์ได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดแข็งที่ธุรกิจจะอยู่รอดได้หากมีฐานลูกค้าเดิมเพียงพอ

นอกจากนี้ ตัวเลือกของสินค้าในอีคอมเมิร์ซจะไม่ได้กระจุกตัวอยู่แค่หัวเมืองใหญ่ หรือในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่สินค้าจะกระจายไปยังจังหวัดเล็กอื่นๆ เพื่อขยายฐานลูกค้า อีกทั้งผู้บริโภคจะได้สินค้าที่มีทั้งคุณภาพและราคาที่เหมาะสม เพราะการแข่งขันจะต้องมาพร้อมกับการจัดแคมเปญ, โปรโมชั่น หรือโปรแกรมส่งเสริมการขายอยู่แล้ว

 

 

ดีต่อเศรษฐกิจไทย (Good for the economy)

พอตลาดอีคอมเมิร์ซคึกคัก ลูกค้ารู้สึกว่าสะดวก ราคาคุ้มค่า คุณภาพสินค้าเป็นที่น่าพอใจ ดังนั้น การเติบโตของธุรกิจและแบรนด์ต่างๆ สามารถส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจของไทยได้ โดยผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของดิจิทัลในไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อรองรับกับดีมานด์ผู้บริโภค

โดยการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ก็จะเป็นในเรื่องของเทคโนโลยี นวัตกรรม อินเทอร์เน็ต การเงิน โลจิสติกส์ ฯลฯ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีส่วนส่งเสริมให้การเติบโตของเศรษฐกิจดีขึ้นได้ในระยะยาว

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงทักษะของบุคลากรในกลุ่มใหม่ ที่ป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานเพื่อรองรับกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เติบโตขึ้น ดังนั้น ในภาพรวมอัตราการว่างงานก็จะดีขึ้น, ระดับเงินเดือนขั้นต่ำจะสูงขึ้น หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในทางอ้อม

มีประโยคหนึ่งจาก เวิล์ดแบงก์ ที่เคยพูดว่า “อีคอมเมิร์ซ สามารถสร้างงานได้โดยตรง และมีส่วนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้ดีขึ้น รวมไปถึงส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ ecosystem ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อีกทั้งยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องความสะดวกสบาย การเข้าถึงผู้บริโภค การพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่สำคัญการแข่งขันที่สูงขึ้นจะสร้างอำนาจต่อรองในเรื่องราคาได้ โดยผู้บริโภคจะมีส่วนในการกำหนดความยุติกรรมด้านราคา และการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ”

พอเราเห็นแบบนี้แล้ว ทำนายได้เลยว่า อีคอมเมิร์ซ จะอยู่กับเราแบบนี้ไปอีกนาน แม้ว่าสถานการณ์ COVID-19 จะดีขึ้นก็ตาม แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ คือ Brand.com ที่น่าจะกลายเป็นพระเอกในช่องทางการเข้าถึงลูกค้าได้ เพราะดูจากแนวโน้มการซื้อสินค้าออนไลน์จาก Brand.com ที่มากกว่า e-Marketplaces เป็นไปได้สูงว่า ทิศทางการลงทุนด้านมาร์เก็ตติ้งของแบรนด์อาจต้องหันหน้ามาทาง Brand.com มากขึ้น

 

 

 

ที่มา: aCommerce


  • 67
  •  
  •  
  •  
  •  
prakai
'ชีวิต' ต้องมีสีสันหลากหลาย เหมือนกับความรู้ที่มีหลายมิติ ทั้งไลฟ์สไตล์, การตลาด, ดิจิทัล, ประเพณี-วัฒนธรรม