10 เทรนด์นักช้อปไทยในยุค Market Fragmentation มองหาแบรนด์ใหม่-โปรส่วนลด ธุรกิจจะรับมือกับ Brand Loyalty ลดลงอย่างไร ?

  • 46
  •  
  •  
  •  
  •  

Thai Shopper Trends

ท่ามกลางการแข่งขันสูง ย่อมนำมาซึ่ง “ทางเลือก” ที่มากขึ้น ส่งผลดีต่อผู้บริโภคที่ทุกวันนี้มองหาสินค้าใหม่ – แบรนด์ใหม่ที่สามารถตอบโจทย์ demand และ pain point ของตัวเองได้ อีกทั้งเวลานี้ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลด้านค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้พิจารณาการเลือกซื้อสินค้ามากขึ้น ทั้งคุณภาพ-เบเนฟิตสินค้า ความคุ้มค่าคุ้มราคา โปรโมชั่นส่วนลด

ทำให้พฤติกรรมการช้อปของผู้บริโภคทุก Generation ในทุกวันนี้ แทบไม่ยึดติดแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง เรียกได้ว่า Brand Loyalty ลดลง ยิ่งคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Y, Gen Z เปิดรับการลองซื้อ ลองใช้แบรนด์ใหม่ๆ ในตลาดอยู่เสมอ

นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของแบรนด์ โดยเฉพาะในตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG: Fast Moving Consumer Goods) ในยุคที่ต้องรักษาฐานลูกค้าเก่า และในเวลาเดียวกันก็ต้องขยายฐานลูกค้าใหม่

NIQ” (NielsenIQ) บริษัทวิจัยผู้บริโภคระดับโลก ได้เปิดรายงาน Thai Shopper Trends 2024 เจาะลึกภาพรวมพฤติกรรมการช้อปสินค้าอุปโภคบริโภคของผู้บริโภคไทยที่ยังคงมีความกังวลเพิ่มขึ้น โดยหลายคนวางแผนที่จะลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อของตัวเอง เพื่อรับมือกับความตึงเครียดทางการเงิน พร้อมมุมมองจาก คุณชินตา ศรีจินตอังกูร ผู้อำนวยการบริหาร NIQ โดยสรุปออกมาเป็น 10 แนวโน้มดังนี้

Shopper Trend

 

1. สถานะทางการเงินของผู้บริโภคไทยแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด (เทียบมกราคม 2024 กับมกราคม 2023)

– 48% ของนักช้อปไทยบอกว่าสถานะทางการเงินของตนแย่ลง เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 39%

– สถานะทางการเงินที่ลดลงนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากค่าต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ส่งผลให้งบประมาณครัวเรือนทั่วประเทศตึงตัว

 

2. ผู้บริโภคมีความกังวลด้านค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นทุกด้าน

ผลวิจัยครั้งนี้ ได้ระบุถึงปัจจัยความกังวลของผู้บริโภคส่วนใหญ่ พบว่า

– 32% กังวลค่าใช้จ่ายสูงขึ้นทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำค่าไฟ ใช้จ่ายมากขึ้น

– 30% สภาพเศรษฐกิจถดถอย

– 30% กังวลราคาอาหาร หรือ FMCG ที่ปรับตัวสูงขึ้น

– 16% กังวลค่าเดินทางสูงขึ้น

– 13% กังวลอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น

– 11% สภาวะโลกร้อน

– 9% ความมั่นคงด้านอาชีพการงาน

NIQ Thai Shopper Trend

 

3. ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น – ลดปริมาณการซื้อ ซื้อของช่วงลดราคา

สำหรับการตอบสนองของผู้บริโภคต่อต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ใช้กลยุทธ์ต่างๆ ดังนี้

– ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและลดการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย: ผู้บริโภคหลายคนให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายสินค้าที่จำเป็นมากขึ้น โดยตัดการซื้อของที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อจัดการงบประมาณให้ดีขึ้น

– ลดปริมาณการซื้อ: ผู้บริโภคจะลดปริมาณการซื้อ โดยเน้นการซื้อเฉพาะสิ่งที่จำเป็น หรือสต็อกสินค้าที่จำเป็น

– ซื้อของในช่วงลดราคา: ผู้บริโภคมองหาสินค้าคุ้มค่าคุ้มราคามากขึ้น ด้วยการซื้อสินค้าในช่วงโปรโมชั่นลด และบางสินค้าซื้อ Pack Size ใหญ่ขึ้น เพราะเมื่อเปรียบเทียบปริมาณแล้วถูกกว่าซื้อขนาดเล็ก รวมทั้งเปลี่ยนแบรนด์ หันไปซื้อแบรนด์ราคาถูกลง เนื่องจากต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด

Shopper Trend

 

4. ผู้บริโภคมี Brand Loyalty และ Store Loyalty ลดลง จากปัจจัยหันไปซื้อสินค้าที่จัดโปรโมชั่น และเปิดรับแบรนด์ใหม่มากขึ้น 

ทุกวันนี้ผู้บริโภคมี Brand Loyalty (ความภักดีต่อแบรนด์) และ Store Loyalty (ความภักดีต่อร้านค้า) ลดลง โดยมาจาก 3 ปัจจัยหลักคือ 

ปัจจัยแรก ผู้บริโภคหันหาแบรนด์ที่มีโปรโมชั่น หรือส่วนลดพิเศษ

– 30% ของผู้บริโภคบอกว่าจะเปลี่ยนแบรนด์สินค้าเมื่อมีโปรโมชั่น หรือส่วนลดพิเศษ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2019 ซึ่งอยู่ที่ 19%

นอกจากนี้ไม่ใช่แค่ผู้บริโภคมี Brand Loyalty ลดลงเท่านั้น แต่ยังมีความภักดีต่อร้านค้าลดลงด้วยเช่นกัน

– 28% ของผู้บริโภคบอกว่าจะเปลี่ยนไปซื้อร้านค้าที่ให้ส่วนลดพิเศษที่ดีที่สุด ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2019 อยู่ที่ 18%

จากพฤติกรรมดังกล่าวตอกย้ำให้เห็นว่าในช่วงสถานการณ์เศรษฐกิจเช่นนี้ การจัดโปรโมชั่น หรือส่วนลดพิเศษ กลายเป็นกลยุทธ์สำคัญของแบรนด์ในการสร้างยอดขายและรักษาฐานลูกค้า

ปัจจัยที่สอง ผู้บริโภคต้องการซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่ตอบโจทย์ Value for money ได้ดีกว่า

คำว่า Value for money ไม่ได้หมายความถึงสินค้า หรือแบรนด์นั้นๆ นำเสนอราคาถูก หรือการให้โปรโมชั่นส่วนลดอย่างเดียว แต่หมายถึงสิ่งที่ผู้ซื้อจะได้รับ เมื่อเทียบกับเงินที่จ่ายไปนั้น ได้ความคุ้มค่ากลับมา  เช่น สินค้าบางแบรนด์ บางประเภท แม้จะมีราคาสูงกว่าคู่แข่ง แต่เมื่อเทียบคุณภาพและคุณประโยชน์ที่ได้รับ ผู้บริโภคมองว่าสินค้า/แบรนด์นั้นตอบโจทย์ความคุ้มค่าคุ้มราคาได้ดีกว่า 

Shopper Trend

ปัจจัยที่สาม ตลาด FMCG เข้าสู่ยุค Market Fragmentation

นั่นคือ มีแบรนด์และสินค้าแตกแยกย่อยมากมายและหลากหลาย ทั้งนวัตกรรม คุณสมบัติ/คุณประโยชน์ รสชาติ สี กลิ่น ขนาดบรรจุภัณฑ์ (Pack Size) ฯลฯ ทั้งจากแบรนด์เดิมที่อยู่ในตลาดมานาน และแบรนด์ใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาด ซึ่งเป็นความท้าทายของแบรนด์ที่ต้องเจอการแข่งขันสูงขึ้น แต่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้นจากสินค้าและแบรนด์ที่เพิ่มขึ้น โดยผลวิจัยพบว่า

– 89% ของผู้บริโภคเปิดรับแบรนด์ใหม่ และสินค้าใหม่

ตั้งแต่ช่วง COVID-19 เป็นต้นมา ผู้บริโภคไทยทุก Generation มองหาแบรนด์ใหม่ สินค้าใหม่ที่สามารถตอบโจทย์ Unmet Need ของเขาได้ ดังนั้นผู้ประกอบการ หรือแบรนด์ต้องพัฒนานวัตกรรมใหม่ต่อเนื่อง และอย่าหยุดลอนซ์สินค้าใหม่สู่ตลาด 

นอกจากนี้ คุณชินตา เล่าข้อมูลที่น่าสนใจอีกอย่างของ Market Fragmentation ว่าประเทศไทยเป็นตลาดที่มีความเป็น Fragmentation มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มาจากการที่ผู้บริโภคไทยเปิดรับแบรนด์ใหม่ สินค้าใหม่ ขณะเดียวกันมีแบรนด์ท้องถิ่นจำนวนมาก (Local Brand) เปิดตัวเข้าสู่ตลาด ซึ่งทำให้แบรนด์รายใหญ่ที่อยู่ในตลาดมาก่อน ต้องปรับตัวพัฒนาสินค้าใหม่ หรือเพิ่มแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอเข้ามาแข่งขันในตลาดเช่นกัน

NIQ Thai Shopper Trend

สำหรับกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคมองหา Innovation ใหม่ๆ เช่น

– อาหารหลัก เช่น แป้ง ข้าว เส้นพาสต้า (79%)

– แชมพูและครีมนวดผม (78%)

– น้ำมันปรุงอาหารและซอส (76%)

– ผงซักฟอกและน้ำยาปรับผ้านุ่ม (75%)

– ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว (74%)

– ปลาและอาหารทะเลสด (71%)

– ขนมปัง/ขนมอบสดใหม่ (70%)

– เนื้อสด (หมู ไก่ วัว) (69%)

– ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้นบ้าน (69%)

– บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทั้งแบบซองและถ้วย (68%)

จากผลวิจัยดังกล่าวจะเห็นว่ากลุ่มสินค้าอาหาร และผลิตภัณฑ์ดูแลตัวเอง เป็นสองประเภทสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการสินค้าที่มีนวัตกรรมใหม่มากที่สุด

NIQ Thai Shopper Trend

 

5. ผู้บริโภคชอบใช้บริการร้านค้าที่จัดเรียงสินค้าดี รรยากาศน่าเดิน

ผลวิจัยฉบับนี้ ยังได้สอบถามผู้บริโภคถึงปัจจัยที่มีผลในการเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าใดร้านค้าหนึ่ง พบว่า

– 96% ของผู้บริโภคบอกว่าจะไปซื้อสินค้าในร้านมีการจัดเรียงสินค้าอย่างดี ง่ายต่อการหา และมีบรรยากาศที่น่าเดิน ร้านค้าไม่แออัดเกินไป

– 92% ของผู้บริโภคบอกว่าการให้บริการจากพนักงานภายในร้านค้าเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการเลือกร้านค้า

– 90% ให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้ามากกว่าราคา ต้องไปร้านค้าที่มั่นใจได้ว่าสินค้าที่ขายบนเชล์ฟ มีคุณภาพ คุ้มกับที่ต้องจ่ายเงิน

– 78% บอกว่าไปซื้อร้านค้าที่มีสินค้าช่วยประหยัดเวลา เลือกหาง่าย

– 86% บอกว่าเลือกที่จะซื้อสินค้าที่มีส่วนลดพิเศษก่อน โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

– 79% บอกว่าเลือกที่จะไปร้านที่ให้ราคาต่ำที่สุดสำหรับสินค้าที่ฉันตั้งใจจะซื้อ

Shopper Trend

 

6. พฤติกรรมการช้อปสินค้าอุปโภคบริโภคของผู้บริโภคในแต่ละภาค

จากการสำรวจกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคแต่ละภาคให้ความสำคัญ ถ้าจะไปซื้อสินค้า FMCG ที่ร้านค้าใดร้านค้าหนึ่ง พบว่า

– กรุงเทพฯ – ปริมณฑล: Hero Product ที่ร้านค้าต้องมีคือ แชมพู-ครีมนวดผม

– ภาคเหนือ: Hero Product กลุ่มอาหารสด เช่น ซีฟู้ด เนื้อหมู ไก่ วัว

– ภาคอีสาน: Hero Product เบเกอรี อาจเพราะหลายจังหวัดในภาคอีเสาน เป็นเมืองมหาวิทยาลัย เช่น ขอนแก่น อุดรธานี ทำให้มีผู้บริโภค Next Gen นำเสนอด้วยความสะดวกสบาย

– ภาคใต้: Hero Product  กลุ่มผงซักฟอก และเครื่องประกอบอาหาร

ดังนั้นนอกจากร้านค้าปลีกต้องคำนึงถึงโปรโมชั่นและส่วนลดแล้ว ยังต้องคำนึงถึง “Product Assortment” ด้วยว่าจะเอาสินค้ากลุ่มไหนมาดึงดูดลูกค้า โดยในแต่ละภูมิภาคต้องมีกลยุทธ์ที่แตกต่างกัน

Shopper Trend

 

7. การซื้อขายสินค้า FMCG ในไทย ช่องทางหลักมาจาก “ร้านโชห่วย”

ปัจจุบันจำนวนร้านค้าปลีกในไทย มีจำนวน 470,000 ร้านค้า แบ่งเป็น

– โชห่วย 420,000 ร้านค้า

– ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต และร้าน Personal Care Store 31,000 ร้านค้า

– ร้านสะดวกซื้อ 19,000 ร้านค้า

พบว่าสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสินค้า FMCG ในไทย หลักๆ มาจากช่องทางร้านโชห่วย ในสัดส่วน 40% เหตุผลที่ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก หรือโชห่วยเป็นช่องทางการซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภคหลักในไทย มาจากร้านโชห่วยมีเสน่ห์ที่แตกต่างจากเชน Modern Trade นั่นคือ

– มีความคุ้นเคยกับคนในหมู่บ้าน ในชุมชน หรือในละแวกที่ร้านค้าตั้งอยู่ ทำให้รู้จัก-รู้ใจลูกค้า

– ร้านโชห่วยหลายร้าน มีการปรับตัวให้ทันสมัยขึ้น โดยนำเทคโนโลยี เช่น ระบบ POS มาใช้ในร้าน

– มีความคล่องตัว และยืดหยุ่นกว่าเชนค้าปลีกใหญ่ เช่น ขายแบบแบ่งขาย ตอบโจทย์กำลังซื้อและความต้องการของคนในพื้นที่

– มี Product Assortment ที่คนในพื้นที่ต้องการ ด้วยความที่โชห่วยรู้จักและรู้ใจลูกค้า จึงสามารถเลือกสินค้าเข้าร้านที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในพื้นที่

Shopper Trend

 

8. ผู้บริโภคไทยช้อป Sustainable Product มากขึ้น

อีกหนึ่งเทรนด์พฤติกรรมนักช้อปไทย คือ ให้ความสำคัญกับ สินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ Sustainable Product มากขึ้นอย่างชัดเจน โดยกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยการพิจารณาเลือกซื้อสินค้า/แบรนด์

อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันดีกว่ากลุ่มสินค้า Sustainable Product มีราคาจำหน่ายสูงกว่าสินค้าทั่วไป แม้ผู้บริโภคอยากเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลโลก แต่ขณะเดียวกันผลพวงจากเศรษฐกิจซบเซา เงินเฟ้อ และดอกเบี้ยยังคงสูง ทำให้เงินในกระเป๋าลดน้อยลง เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้บริโภคจึงต้องมีการชั่งน้ำหนักระหว่างการซื้อสินค้ารักษ์โลก กับงบประมาณการซื้อของตัวเอง

คุณชินตา ตอบประเด็นนี้ว่า ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับ Sustainability ถ้าเขาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเหลือได้ เขาจะรู้สึกภูมิใจกับตัวเอง และสังคมที่เขาจะสร้างให้กับคนรุ่นหลัง

แต่ทั้งนี้ในการเลือกซื้อสินค้า Sustainable Product ถ้าสินค้านั้นมีราคาแพงกว่าสินค้าทั่วไป ในกรณีที่มีกำลังจ่าย ผู้บริโภคจะพิจารณาก่อนว่าจะเลือกซื้อสินค้าในขนาดที่พอดีกับงบที่มี และถ้าในกรณีไม่มีกำลังจ่าย ผู้บริโภคจะเปลี่ยนพฤติกรรมด้านอื่นแทน

เพราะ Sustainability ไม่ได้จำเป็นว่าต้องเลือกซื้อสินค้า Sustainable Product เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการมีวิถีชีวิตที่ช่วยดูแลโลก และลดการใช้ทรัพยากรเช่นกัน อย่างสิ่งที่เจอจากการวิจัยครั้งนี้ คือ ผู้บริโภคก็มีพฤติกรรมการรักษ์โลกด้านอื่นๆ เช่นกัน เช่น การบริหารจัดการอาหารในบ้าน เพื่อลด Food Waste

อย่างไรก็ตามเมื่อ Sustainability กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ ดังนั้นแบรนด์ที่พัฒนาสินค้า หรือมีนวัตกรรมด้านความยั่งยืน จะช่วยส่งเสริม Brand Image และ Brand Loyalty ได้

Shopper Trend

 

9. เทคนิค Shrinkflation ปรับลดขนาด/ปริมาณสินค้ายังคงอยู่

เทคนิค Shrinkflation การปรับลดขนาดสินค้า ลดปริมาณ หรือปรับส่วนผสม แต่ขายในราคาเท่าเดิม แม้จะดูไม่ได้ปรับราคา ทว่าในความเป็นจริงแล้วผู้บริโภคต้องจ่ายมากขึ้น แต่ได้ของน้อยลง ซึ่งเป็นเทคนิคการขึ้นราคารูปแบบหนึ่งของบรรดาแบรนด์ผู้ผลิตสินค้าปรากฏให้เห็นในช่วงเงินเฟ้อที่ผ่านมา ถึงวันนี้ Shrinkflation ยังคงมีอยู่ เนื่องจากแบรนด์ต้องการลดต้นทุน และรักษาความสามารถในการทำกำไร

แต่ขณะเดียวกันผู้ผลิตก็ไม่ได้พึ่งแต่การลดขนาด หรือลดปริมาณอย่างเดียวเท่านั้น ได้แตกไลน์สินค้าให้หลากหลายขึ้น ทั้งไลน์สินค้าพรีเมียม ไลน์สินค้าแมส เพื่อแบ่งเบาภาระต้นทุนสูงขึ้น และเพิ่มโอกาสการขายเข้าไปยังผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ มากขึ้น

 

10. เศรษฐกิจ-กำลังซื้อซบเซา ดันสินค้า House Brand/Private Label โตขึ้น

อีกหนึ่งแนวโน้มที่ปรากฏให้เห็นมากขึ้นในตลาดไทยช่วงนี้คือ สินค้า House Brand หรือ Private Label ซึ่งเป็นสินค้าของ Retailer เติบโตขึ้น เนื่องจาก ผู้บริโภคเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้ามากขึ้น ขณะเดียวกัน Retailer ขยายพอร์ตโฟลิโอให้ครอบคลุมหลากหลายกลุ่มสินค้า และนำเสนอทั้งคุณภาพ จุดเด่นด้าน Value for money จึงได้การตอบรับจากผู้บริโภคไทยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามถ้าเทียบตลาด House Brand/Private Label ในไทย กับตลาดต่างประเทศ เช่น ยุโรป อเมริกา จะพบว่าตลาดสินค้า House Brand/Private Label มีขนาดตลาดใหญ่

Shopper Trend

 

แบรนด์รับมืออย่างไรเมื่อ Brand Loyalty ลดลง ?!?

แน่นอนว่าธุรกิจ โดยเฉพาะในภาค FMCG ต้องปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะความภักดีต่อแบรนด์มีแนวโน้มลดลงอย่างมาก อีกทั้งผู้บริโภคยังเผชิญกับความตึงเครียดทางการเงิน ดังนั้นเพื่อเป็นการซัพพอร์ตผู้บริโภคในสภาวะเช่นนี้ และธุรกิจยังคงสามารถรักษา Brand Loyalty ไว้ได้ แบรนด์ควรดำเนินการดังนี้

– พิจารณานำเสนอส่วนลดให้กับผู้บริโภค

– นำเสนอตัวเลือกสินค้ามากขึ้น ด้วยการพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์ Unmet Need ของผู้บริโภค

– ตอกย้ำถึงคุณค่าและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เพื่อรักษาและดึงดูดลูกค้า

– สำหรับธุรกิจที่มี Brand Heritage มายาวนาน อย่ายึดติดแต่ตำนาน การตลาดและวิธีการสื่อสารแบบเดิมๆ ที่เคยทำมา เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่เชื่อมโยงกับผู้บริโภครุ่นใหม่ ดังนั้นแบรนด์ควรหันมาทำ Brand Renovation เพื่อทำให้สินค้าและภาพลักษณ์แบรนด์เชื่อมโยงกับผู้บริโภคแต่ละ generation ซึ่งไม่ถึงกับต้อง Revamp

ตัวอย่างของการทำ Brand Renovation เช่น พัฒนาสินค้าใหม่ให้เหมาะกับพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภครุ่นใหม่ ทันสมัย ใช้/บริโภคง่าย สร้างสะดวก เช่น ออก Sizing ใหม่, สูตรใหม่, มีบรรจุภัณฑ์ดีไซน์ใหม่ โดยยังคงโลโก้ หน้าตาแบรนด์เดิมไว้ อย่างหลายผลิตภัณฑ์ของกินในครัวเรือน เช่น น้ำพริกเผา, นมข้นหวาน, แยม ออกบรรจุภัณฑ์ใหม่รูปแบบหลอดบีบ ตอบโจทย์ความสะดวก ง่ายต่อการพกพา หรือใช้งาน ในขณะที่บรรจุภัณฑ์ดั้งเดิมยังคงวางจำหน่ายเช่นเดิม

Shopper Trend

– พัฒนา Sustainable Product เพราะผู้บริโภคใส่ใจสิ่งแวดล้อม และต้องการซื้อสินค้ารักษ์โลก การมีผลิตภัณฑ์ ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน นอกจากช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์แบรนด์แล้ว ยังสร้าง Brand Loyalty ของลูกค้าได้เช่นกัน เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์รักษา Brand Loyalty ของลูกค้าเช่นกัน

– ใช้กลยุทธ์การขายออนไลน์มากขึ้น เพื่อลดต้นทุนหน้าร้าน และเพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้นให้กับผู้ซื้อที่มองหาข้อเสนอพิเศษทางช่องทางออนไลน์

สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศไทย ธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้และปรับกลยุทธ์

เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การคำนึงถึงความสามารถในการซื้อ คุณภาพ และการลดราคาเชิงกลยุทธ์จะช่วยให้ธุรกิจต่างๆ สามารถสนับสนุนผู้ซื้อได้ดีขึ้นในช่วงเวลาที่ท้าทายเหล่านี้และสามารถรับประกันถึงการมีส่วนร่วมของผู้ซื้ออย่างต่อเนื่องคุณชินตา สรุปทิ้งท้าย


  • 46
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ