เมื่อ ‘การมีลูก’ มีราคาที่ต้องจ่าย เกาหลีใต้สร้างวัฒนธรรมหมดห่วง ถ้าคุณมีลูกจะได้เงินโบนัสตอบแทน

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

South-Korea

การเลี้ยงเด็กหนึ่งคนสำหรับคุณคิดว่ามีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่?

เพราะปัจจุบันการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมาอย่างดี กลายมาเป็นสิ่งที่หลอกหลอนคนในวัยเจริญพันธุ์ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ต่างก็เผชิญหน้ากับวิกฤตอัตราการเกิดต่ำอย่างสุดขีด อย่างเกาหลีใต้ ที่อัตราการเกิดต่ำมากที่ 0.72 จากปีก่อนหน้า 0.78 ต่อผู้หญิง 1 คน ในปี 2022 และยังคงต่ำลงเรื่อย ๆ (ข้อมูลจากสถิติเกาหลีใต้)

แม้แต่บทบาทหน้าที่ของ ‘ผู้หญิงเกาหลีใต้’ ในสมัยนี้ที่ถูกจัดวางให้ต้องช่วยหารายได้ให้ครอบครัว เป็นตัวหมากสำคัญพอ ๆ กับผู้ชายที่ต้องพิสูจน์สถานะทางสังคมให้เป็นที่ยอมรับ ดังนั้น ปัจจัยการมีลูก จึงกลายเป็นเครื่องต่อรองของทั้งชายและหญิง ที่พร้อมใจกันชะลอแพลนการมีลูกตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน

แต่มีเหตุผลเบื้องหลังอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับวัฒนธรรมการทำงานของเกาหลีใต้ที่เลวร้ายกว่าที่เราเห็น คือ เกาหลีใต้ยังมีช่องว่างเรื่องค่าจ้างระหว่างเพศที่เลวร้ายที่สุดในกลุ่มสมาชิก OECD หรือ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ รายงานในปี 2021 เคยตีแผ่ความไม่เท่าเทียมเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างระหว่างเพศ ซึ่งเกาหลีใต้มาเป็นอันดับหนึ่งของโลก ที่ผู้หญิงทำงาน full-time ได้ค่าจ้างน้อยกว่าผู้ชายที่ทำงาน full-time เหมือนกัน

Full-time Working Women-OECD
Credit: OECD

ดังนั้น การมีลูกสำหรับผู้หญิงเกาหลีใต้ จึงเป็นการมองเหมารวมไปถึงความก้าวหน้าในอาชีพการงาน การหารายได้เพื่อจุนเจือครอบครัว จากเดิมที่ค่านิยมทางสังคมแสดงความกดขี่ในบทบาทหน้าที่ และความสำคัญในสังคมเกาหลีใต้อยู่แล้ว

เมื่อทุกอย่างมีต้นทุน และการมีลูกก็หมายถึง ‘ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น’ สถานการณ์ของเด็กทารกเกิดใหม่จึงมืดมนเกือบดำสนิท สร้างความน่ากังวลต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้

หากมองทะลุเรื่องความเป็นประเทศเทคโนโลยีหรือ เป็นชาติที่มีนวัตกรรมก้าวหน้ามากมาย ความสวยงามที่เป็นเปลือกอันฉาบฉวยนี้ของเกาหลีใต้ จริง ๆ แล้วเต็มไปด้วยรากฐานทางสังคมที่ไม่แข็งแรง ซึ่งการจะรักษาภาพลักษณ์เหล่านั้นให้คงอยู่ต่อไปได้ ต้องมีประชากรวัยหนุ่มสาวเพื่อดึงดูดการลงทุน

จึงกลายเป็นเรื่องให้คิดหนักของรัฐบาลกรุงโซล ที่พยายามสร้างสิ่งจูงใจสารพัดอย่างเพื่อกระตุ้นให้กลุ่มคนหนุ่มสาวรู้สึกอยากจะมีลูก หรือสร้างความมั่นใจว่า พวกเขาสามารถมีลูกได้มากกว่า 1 คน เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ให้ดีขึ้น และทำให้สถานการณ์ของประเทศพ้นจาก red zone เสียที

เช่น การให้เงินอุดหนุนที่อยู่อาศัยสำหรับคู่บ่าวสาว, สิทธิพิเศษลดราคาในการดูแลหลังคลอดสำหรับคุณแม่มือใหม่ หรือแม้การเสนอ ‘เงินค่าเลี้ยงดูบุตร’ (baby payment) ที่จะให้ทันที 2,250 ดอลลาร์สหรัฐ หลังทารกแรกเกิดทุกคนลืมตาดูโลก แต่นั่นก็ยังไม่มากพอที่จะโน้มน้าวให้ผู้หญิงผู้ชายในยุคนี้อยากมีลูก

South-Korea

 

ถ้ามีลูก….เราจะให้โบนัส

ในเมื่อประชากรเด็กสำคัญ มีคุณค่าต่อกลไกเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ แล้วทำไมต้องมีแค่รัฐบาลล่ะที่เข้ามาช่วย?

นี่คงเป็นคำถามที่ติดอยู่ในใจของนักธุรกิจหลายคนที่อยากจะเข้ามาช่วยพัฒนา และแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่ด้วยอีกแรง ความอยากช่วย อยากมีส่วนร่วมจากหลาย ๆ บริษัท เกิดเป็น ‘วัฒนธรรม’ ที่อยากจะให้คนหนุ่มสาวที่แพลนอยากจะมีลูกแต่ไม่กล้า หรือคนที่เป็นพ่อคนแม่คนแล้วแต่ไม่กล้ามีลูกเพิ่ม รู้สึกดีขึ้น รู้สึกสบายใจ หมดห่วงได้บ้าง

ที่ผ่านมามีหลายบริษัท รวมทั้งแชโบล (กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่บริหารโดยตระกูลที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจเกาหลีใต้) ที่เริ่มประกาศนโยบาย โครงการช่วยเหลือด้านการเงิน กระตุ้นให้พนักงานวางแผนมีลูกเพื่อช่วยประเทศ

Booyoung Group: บริษัทด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของเกาหลีใต้ เป็นบริษัทแรกในประเทศที่ประกาศโครงการช่วยเหลือที่มีแบบแผนชัดเจน เช่น มอบโบนัสเป็นเงิน 100 ล้านวอน (ประมาณ 75,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ให้กับพนักงานทุกคนที่มีลูกทั้งพนักงานหญิงและชาย, โบนัสที่ว่านั้นจะจ่ายเงินย้อนหลังให้กับผู้ที่เริ่มต้นครอบครัวก่อนที่นโยบายนี้มีผลบังคับใช้, ให้การช่วยเหลือค่าเล่าเรียนบุตรของพนักงาน, ค่ารักษาพยาบาลสำหรับสมาชิกในครอบครัวโดยตรง และมีค่าเลี้ยงดูบุตรโดยเฉพาะ

ลี-จุงกึน (Lee Joong-keun) มหาเศรษฐีวัย 83 ปี ผู้ก่อตั้ง และประธาน Booyoung Group ได้พูดถึงโครงการนี้ว่า หากอัตราการเกิดของเกาหลีใต้ยังต่ำ ประเทศจะเผชิญกับวิกฤตการสูญพันธุ์ในอีก 20 ปี โดยอัตราการเกิดที่ต่ำ มาจากภาระทางการเงินและความยากลำบากในการสร้างสมดุลระหว่างงานและชีวิตครอบครัว”

นอกจากนี้ ลี-จุงกึน พยายามเสนอให้รัฐบาลใช้ระบบการลดหย่อนภาษีแบบใหม่ เพื่อยกเว้นภาษีนิติบุคคลและภาษีเงินได้ เพื่อให้พนักงานได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเต็มที่หากมีลูก อีกทั้งยังพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือด้านอื่นที่คิดว่าน่าจะทำให้หนุ่มสาวอยากมีลูกขึ้นมาบ้าง เช่น เสนอจัดหาที่ดินสำหรับพนักงานที่มีลูก 3 คนขึ้นไป และให้เลือกระหว่างการดูแลและคลอดบุตรฟรี 3 คน หรือ เลือกบ้านเช่าโดยที่ผู้เช่าไม่ต้องเสียภาษีหรือจ่ายค่าบำรุงรักษาให้กับรัฐบาล

South-Korea

Booyoung Group ถือว่าเป็นบริษัทที่มีโมเดลและแนวคิดที่ชัดเจน ทั้งยังมอบสิทธิให้กับพนักงานน่าสนใจมากที่สุด เมื่อเทียบกับบริษัทอื่น โดยบริษัทที่มีการช่วยเหลือไปก่อนหน้านี้ เช่น

Hyundai Motor: ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของประเทศ เปิดตัวคณะทำงานเฉพาะกิจสำหรับการเพิ่มอัตราการเกิดของประชากรและเสนอเงินโบนัส 3,750 ดอลลาร์สหรัฐสำหรับทารกแรกเกิดทุกคนที่เป็นลูกของพนักงาน

Posco: ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ ได้เสนอเงินโบนัสสำหรับเด็กแรกเกิดทุกคน จำนวน 3,750 ดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน และจะเพิ่มขึ้นสำหรับลูกคนที่ 2, พนักงานที่มีลูกอายุต่ำกว่า 9 ปีสามารถทำงานจากที่บ้านได้ทั้งวันหรือครึ่งวัน และอนุญาตให้พนักงานลาหยุดงานได้สำหรับคนที่มีภาวะมีบุตรยาก

LG Electronics: ผู้ผลิตเทคโนโลยีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชื่อดัง มีนโยบายให้พนักงานลาและทำงานอยู่ที่บ้านได้เพื่อเลี้ยงลูกได้สูงสุด 2 ปี และวันหยุดชดเชยได้ 3 วันสำหรับการรักษาภาวะมีบุตรยาก

Samsung Electronics: ผู้ผลิตเทคโนโลยีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของเกาหลีใต้ มอบสิทธิให้พนักงานคล้ายกัน เช่น พนักงานสามารถลดหยุดเพื่อเลี้ยงลูกได้ 2 ปี

South-Korea
Photo Credit: andyan1992 / Shutterstock.com

แนวคิดและการช่วยเหลือเหล่านี้ อาจต้องย้อนกลับมาถามกันอีกครั้งว่า เพียงพอหรือไม่สำหรับการที่จะทำให้คนเกาหลีใต้อยากมีลูกมากขึ้น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือจากรัฐบาลหรือจากธุรกิจก็ตาม อย่างน้อยทุกคนก็มีความคาดหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลง เห็นความเชื่อแบบใหม่ว่า การมีลูกไม่ใช่สิ่งที่ฟุ่มเฟือยหรือเป็นเรื่องที่ยากลำบาก แต่ที่สุดแล้ว ‘เงิน’ เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นในองค์ประกอบรวม เพราะอย่าลืมว่าเกาหลีใต้ยังมีรากเหง้าความเชื่อที่ไม่เสมอภาคระหว่างหญิงชายคั่นกลาง ดังนั้น ความคิดที่อยากจะมีลูกจากผู้หญิง และผู้ชาย ก็อาจไม่เหมือนกัน

 

Source: CNN, Reuters, Aol, Koreatimes, Washington Post, OECD


  •  
  •  
  •  
  •  
  •