ทุกวันนี้ผู้คนใช้ชีวิตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลมากมายที่อยู่บนภาวะความไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม สงคราม การเมือง การแพร่ระบาดของโรคและการกลายพันธุ์ ประกอบกับวิถีชีวิตเร่งรีบ โดยเฉพาะในสังคมเมืองที่แข่งขันสูง สิ่งที่ตามมาคือ ภาวะความเครียด ความวิตกกังวล ส่งผลต่อ “การนอนหลับ”
แม้เราทุกคนทราบเป็นอย่างดีว่าเวลา 1 ใน 3 ของชีวิตคือ การนอน เป็นช่วงเวลาของการพักผ่อน เพื่อฟื้นฟูร่างกาย ฮอร์โมน ระบบประสาทต่างๆ และช่วยเยียวยาจิตใจ แต่ผลจากความเครียด ความกังวล และปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ทำให้คุณภาพการนอนของคนเราลดลง ไม่ว่าจะนอนน้อย หรือนอน 7 – 8 ชั่วโมงต่อคืนก็ตาม แต่เมื่อตื่นมาก็ยังไม่รู้สึกสดชื่น ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพกาย-สุขภาพจิต และกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเช่นกัน!
ด้วย Pain Point ดังกล่าวที่ใครหลายคนกำลังประสบอยู่ นี่จึงทำให้ “Sleep Economy” หรือ “Sleep-health Economy” คือ ระบบเศรษฐกิจเกี่ยวกับการนอน เป็นอีกหนึ่ง Mega Trend ที่น่าจับตามองในยุคนี้ เป็นโอกาสทางธุรกิจให้กับสินค้าและบริการที่พัฒนา solutions ตอบโจทย์การสร้างคุณภาพการนอนหลับให้กับผู้บริโภค
ปัญหาการนอนหลับ กระทบทั้งสุขภาพ และ GDP ของประเทศ
การนอนหลับไม่เพียงพอ หรือการอดนอน ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อร่างกาย-จิตใจเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อระบบเศรษฐกิจด้วย เพราะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของผู้คนลดลง ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนเกิดปัญหาสุขภาพเรื้อรังตามมา และอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น
ด้านสุขภาพและประสิทธิภาพในชีวิตประจำวัน
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้ประกาศว่า “การนอนหลับไม่เพียงพอ เป็นปัญหาสาธารณสุข” โดยพบว่ามากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่ชาวอเมริกัน ประสบกับการนอนหลับไม่เพียงพอเป็นประจำ นำไปสู่ปัญหาสุขภาพร่างกายและจิตใจทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
– การนอนหลับไม่เพียงพอ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง และประสิทธิภาพการรับรู้ลดลง กระทบต่อการตัดสินใจ ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ไปจนถึงอาจเกิดอุบัติเหตุ
ข้อมูลจากคณะกรรมการความปลอดภัยด้านขนส่งแห่งสหรัฐฯ ชี้ว่า 20% ของอุบัติเหตุรถชนมาจากความเหนื่อยล้า เป็นสาเหตุให้ประสิทธิภาพการขับขี่ลดลง เช่นเดียวกับสมาคมยานยนต์สหรัฐฯ ระบุว่าการอดนอน ส่งผลกระทบเหมือนกับการดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีผลต่อการตัดสินใจและการตอบสนอง
– การนอนไม่เพียงพอ หรืออดนอน มีผลต่อสุขภาพระยะยาว และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน, ความดัน, เบาหวาน, โรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง
– การนอนไม่เพียงพอ หรืออดนอน สัมพันธ์กับประสิทธิภาพการทำงานลดลง นำไปสู่การขาดงาน เนื่องจากการเจ็บป่วยด้านสุขภาพ ส่งผลให้ในแต่ละปีองค์กรต่างๆ ต้องสูญเสียวันทำงาน
- สหรัฐอเมริกา ในแต่ละปีสูญเสียวันทำงานโดยเฉลี่ย 1.2 ล้านวันต่อปี
- ญี่ปุ่น สูญเสียวันทำงานโดยเฉลี่ย 600,000 วันต่อปี
- สหราชอาณาจักร และเยอรมัน สูญเสียวันทำงานมากกว่า 200,000 วันต่อปี
- แคนาดา สูญเสียวันทำงานประมาณ 80,000 วันต่อปี
– การนอนไม่เพียงพอ หรือการอดนอน ยังเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงขึ้น โดยข้อมูลจาก 5 ประเทศในกลุ่ม OECD ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, เยอรมนี, สหราชอาณาจักร และแคนาดา พบว่าคนที่นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อคืน โดยเฉลี่ยมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงกว่าคนที่นอน 7 ชั่วโมงต่อคืน ถึง 13% ส่วนคนที่นอนระหว่าง 6 – 7 ชั่วโมง มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต 7%
ด้านเศรษฐกิจ
ปัญหาการนอนหลับไม่เพียงพอ นอกจากเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขแล้ว ยังส่งผลถึง GDP ของประเทศเช่นกัน โดยพบว่า กระทบต่อ GDP ประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 3% ในทางตรงกันข้ามประเทศไหนที่ประชาชนนอนหลับเพิ่มขั้นอย่างเพียงพอ จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศนั้นๆ ได้หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ตัวอย่าง 5 ประเทศในกลุ่ม OECD ที่ประชากรเผชิญกับภาวะนอนหลับไม่เพียงพอ แล้วผลกระทบต่อ GDP ของประเทศ
– สหรัฐอเมริกา: มูลค่าการสูญเสียทางเศรษฐกิจ 411 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือคิดเป็น 2.28% ของ GDP
– ญี่ปุ่น: มูลค่าการสูญเสียทางเศรษฐกิจ 138 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือคิดเป็น 2.92% ของ GDP
– เยอรมนี: มูลค่าการสูญเสียทางเศรษฐกิจ 60 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือคิดเป็น 1.56% ของ GDP
– สหราชอาณาจักร: มูลค่าการสูญเสียทางเศรษฐกิจ 50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือคิดเป็น 1.86% ของ GDP
– แคนาดา: มูลค่าการสูญเสียทางเศรษฐกิจ 21.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือคิดเป็น 1.35% ของ GDP
ผลวิจัยชี้ “คนไทย” 8 ใน 10 คน “เครียด – นอนไม่หลับ”
ไม่เพียงแต่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกที่ผู้คนเผชิญกับภาวะความเครียด อันมีผลต่อสุขภาพการนอนหลับเท่านั้น ยังว่าประเทศไทย ก็เจอปัญหาดังกล่าวเช่นกัน
รายงานวิจัยจาก Mintel (มินเทล) โดยคุณวิลาสินี ศิริบูรณ์พิพัฒนา นักวิเคราะห์ไลฟ์สไตล์อาวุโส มินเทล รีพอร์ทส์ ประเทศไทย ฉายภาพว่า ผู้บริโภคไทยประมาณ 8 ใน 10 คน พบเจอกับปัญหาด้านสุขภาพจิตในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา โดยอาการ 3 อันดับแรกที่พบเจอมากที่สุดคือ
– ความเครียด (46%)
– การนอนไม่หลับ (32%)
– ความวิตกกังวล (28%)
งานวิจัยนี้พบว่าผู้บริโภคในแต่ละช่วงอายุและเพศ พบเจอปัญหาสุขภาพจิตที่แตกต่างกัน การทำความเข้าใจปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตในกลุ่มผู้บริโภคที่แตกต่างกัน จะช่วยให้แบรนด์สามารถเลือกหนทางที่เหมาะสมที่สุดในการส่งเสริมสุขภาพจิตได้
ตัวอย่างเช่น จำนวนเกือบ 1 ใน 3 (31%) ของผู้หญิงไทยอายุ 18 – 34 ปี บอกว่าพวกเขารู้สึกหมดไฟในการทำงาน แต่กลุ่มผู้ชายในช่วงอายุเดียวกันที่รู้สึกหมดไฟมีสัดส่วนเพียง 17%
เนื่องจากผู้หญิงอายุ 18 – 34 ปี มักต้องแบ่งเวลาให้กับงานบ้านงานเรือน ความมั่นคงทางการงาน และชีวิตคู่ ผู้บริโภคกลุ่มนี้มองว่าการทำงาน/การเรียน ความไม่แน่นอนในการวางแผนอนาคต สถานะทางการเงิน และความรับผิดชอบ เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตมากที่สุด
จากตัวอย่างนี้ แบรนด์ควรนำเสนอสินค้าและบริการที่ช่วยให้ผู้หญิงจัดการปัจจัยเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น เพื่อให้พวกเขาได้ทำกิจกรรมที่ดีต่อสุขภาพ และสามารถรักษาสมดุลของร่างกายและจิตใจได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ เแบรนด์สามารถส่งเสริมความตระหนักรู้ด้านสุขภาพจิตในประเทศไทยได้ด้วยการแนะนำสินค้าบรรเทาความเครียด หรือจัดเสวนาด้านสุขภาพจิตผ่านโซเชียลมีเดีย โดยเปิดโอกาสให้ผู้คนแบ่งปันเรื่องราวของตนเอง
“Sleep Economy” สร้างโอกาสธุรกิจมหาศาล!
จะเห็นได้ว่า “การนอน” ไม่ใช่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งกับชีวิต สุขภาพ และภาพรวมของระบบเศรษฐกิจ นี่จึงทำให้ทุกวันนี้หลายคนเริ่มตระหนักการการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีผลิตภัณฑ์และบริการที่มาเป็น “ตัวช่วย” ให้นอนหลับได้สบายขึ้น
มีการคาดการณ์มูลค่า Sleep Economy หรือเศรษฐกิจเกี่ยวกับการนอนทั่วโลก ระหว่างปี 2019 – 2024 เติบโตขึ้นทุกปี สะท้อนให้เห็นถึง Demand ที่นับวันผู้คนยิ่งมีต้องการ “การนอนหลับอย่างมีคุณภาพ” มากขึ้น
– ปี 2019: 432,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
– ปี 2020: 459,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
– ปี 2021: 488,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
– ปี 2022: 518,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
– ปี 2023: 551,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
– ปี 2024: 585,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างในสหรัฐอเมริกา อุตสาหกรรม Sleep-health Economy คาดว่ามีมูลค่าตลาด 30,000 – 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปี
เมื่อสำรวจตลาดในไทย ปัจจุบันธุรกิจเกี่ยวกับ Sleep Economy อยู่ในทิศทางเติบโตเช่นกัน โดยเริ่มเห็นสินค้าและบริการช่วยการนอนหลับในหลากหลายกลุ่มมากขึ้น ทั้งผู้ผลิตแบรนด์รายใหญ่ และรายใหม่ที่เข้ามาทำตลาด
เช่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหารเสริม เครื่องดื่มที่ช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น, ชุดนอนที่ทอด้วยเส้นใยผ้านุ่ม เบา สบาย, เครื่องนอนที่ปรับให้เข้ากับสรีระและท่าทางการนอน, เครื่องใช้ไฟฟ้า-อุปกรณ์ Gadget ช่วยให้การนอนหลับผ่อนคลายขึ้น, ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล อาทิ ครีมที่มีกลิ่นและส่วนผสมช่วยผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้า, สเปรย์ช่วยการนอน
โดยหัวใจสำคัญของการทำตลาดผลิตภัณฑ์และบริการเกี่ยวกับการนอน ต้องโฟกัสใน 3 แกนหลักคือ
– ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ (Brand Credibility) สินค้าและบริการด้านการนอน ถือเป็นส่วนหนึ่งของตลาดสุขภาพ ดังนั้นในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ หรือใช้บริการ จะพิจารณาความน่าเชื่อถือของแบรนด์ เช่น ข้อมูลการศึกษาวิจัย, ส่วนผสม, คุณประโยชน์ชัดเจน, ผลพิสูจน์ที่เชื่อถือได้, มาตรฐานการรับรอง รวมไปถึงการสื่อสารอาจใช้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วย endorsement แบรนด์และผลิตภัณฑ์
– จุดขายที่ชัดเจนและแตกต่าง (Differentiation) ด้วยความที่ทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์และบริการช่วยให้การนอนดีขึ้น มีตัวเลือกมากขึ้น เพื่อดึงความสนใจของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย นำไปสู่การตัดสินใจซื้อ/ใช้บริการ ควรมีจุดขายที่แตกต่างจากแบรนด์อื่น เช่น นวัตกรรมของวัสดุ, การจัดส่งรูปแบบใหม่, โมเดลธุรกิจใหม่, บริการลูกค้า ขณะเดียวกันสื่อสารถึงจุดขายที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจในคุณสมบัติของสินค้า-บริการ ขณะเดียวกันจุดขายนั้น ควร
– พัฒนาและนำเสนอสินค้า-บริการใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง (Business Growth) นอกจากสินค้าหรือบริการที่เป็นเรือธงให้กับแบรนด์แล้ว ธุรกิจควรต้องพัฒนาสินค้า-บริการใหม่ที่มากไปกว่า core product เพื่อสร้างการเติบโตระยะยาว และนำเสนอทางเลือกใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค
3 แนวทางช่วยการนอนหลับดีขึ้น
McKinsey&Company แนะนำ 3 แนวทางช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น
1. สร้างบรรยากาศห้องนอนให้ผ่อนคลาย – สบาย เมื่อการนอนคือเวลา 1 ใน 3 ของชีวิต การปรับเปลี่ยนห้องนอน และเครื่องนอนที่มีคุณภาพ เช่น เตียง, ฟูก, หมอน ยังช่วยให้นอนหลับสบายตลอดคืน
ปัจจุบันนอกจากแบรนด์เครื่องนอนรายใหญ่ที่ทำตลาดมานานแล้ว ยังเป็นโอกาสทองของสตาร์ทอัพที่พัฒนานวัตกรรมเครื่องนอน และ solution ด้านการนอน เพื่อตอบรับ demand ที่มากขึ้น ช่วยกระตุ้นการเติบโตให้กับตลาดเครื่องนอนโดยรวม
อย่างในสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมเครื่องนอนมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ส่วนประเทศไทย มูลค่าตลาดที่นอนอยู่ที่กว่า 10,000 ล้านบาท มีผู้เล่นแบรนด์ใหม่เข้ามาทำตลาด
2. ปรับเปลี่ยนกิจวัตรก่อนนอน ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับแนะนำถึงการเตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อมเข้านอนเร็วขึ้น และนอนหลับได้นานขึ้น ด้วยกิจวัตรก่อนนอน เช่น จิบเครื่องดื่มอุ่นๆ อ่านหนังสือ หรือนั่งสมาธิให้จิตใจสงบก่อนนอน
นอกจากนี้การใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามที่ช่วยปลอบประโลมจากความเหนื่อยล้า ก็ช่วยผ่อนคลายทั้งก่อนนอน และระหว่างหลับได้เช่นกัน รวมทั้งตรวจเช็คสุขภาพการนอน ด้วยแอปพลิเคชันด้านการนอน หรืออุปกรณ์ Smart Device เพื่อมอนิเตอร์คุณภาพการนอนหลับ และการตื่นนอน หรือแม้แต่ชุดนอน ปัจจุบันผู้ผลิตแบรนด์ต่างๆ ได้พัฒนาเทคโนโลยีวัสดุใหม่ ที่ใส่แล้วรู้สึกสบายกับร่างกาย
3. บำบัดด้วยการแพทย์ อีกหนึ่งแนวทางช่วยให้การนอนหลับมีคุณภาพดีขึ้น คือ การรักษาทางการแพทย์ โดยปัจจุบันชาวอเมริกันหลายล้านคนที่มีปัญหาด้านการนอน หันมารักษาด้วยการแพทย์ เพื่อได้รับการวินิจฉัย และการรักษาจากแพทย์โดยตรง ส่งผลให้คลินิกการแพทย์, ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ และบริษัทยา ที่ให้บริการและพัฒนาผลิตภัณฑ์ช่วยด้านการนอนเติบโตขึ้น
ยิ่งโลกเต็มไปด้วยความเร่งรีบ ความเครียด ความกังวลมากขึ้นเท่าไร จนทำให้ผู้คนเกิดปัญหาด้านการนอน “Sleep Economy” หรือ “Sleep-health Economy” เศรษฐกิจเกี่ยวกับการนอน ก็ยิ่งเติบโตมากขึ้น เนื่องจากผู้คนจะแสวงหาผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่ช่วยให้การนอนหลับของตนเองมีคุณภาพดีขึ้น
Source: RAND Corporation, McKinsey&Company