เมื่อโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ และความรู้เก่าๆ ที่สะสมมาทั้งหมดเริ่มที่จะหมดอายุ ต้องอาศัยความรู้ใหม่การเรียนรู้ใหม่ทุกวัน ขณะที่คนเราต้องเข้าใจกระบวนการ ‘Unlearn – Relearn – Upskills’ มากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น ในโลกที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การศึกษาไทยต้องรับมืออย่างไร เร่งปรับตัวตรงไหนบ้าง หาคำตอบไปด้วยกันที่งานสัมมนาออนไลน์ THE STANDARD ECONOMIC FORUM ในหัวข้อเรื่อง “การเรียนรู้และทักษะแห่งอนาคต” (Skills for The Future) โดยวิทยากร 2 ท่าน ได้แก่ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ คุณอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AP (Thailand)
ด้วยความที่รากฐานของการพัฒนาประเทศนั้นๆ ต้องเริ่มมาจาก ‘คน’ ก่อนเสมอ หมายความว่า ‘การศึกษา’ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพของคนขึ้นมา ขณะที่ประเทศไทยอย่างที่ทราบกันดีว่า เรามีปัญหาในเรื่องหลักสูตรการศึกษาที่ยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมเท่าที่ควร กลายเป็นปัญหาที่วนลูปเดิมๆ มานาน
และด้วยสถานการณ์โลกที่ไม่เป็นเหมือนเช่นเคย หรือที่ใครๆ หลายคนเรียกกันติดปากว่า ‘New Normal’ นั่นคือ ความปกติในรูปแบบใหม่ การศึกษา จะมีบทบาทอย่างมากที่จะช่วยให้บัณฑิตใหม่ในไทยจบมาแล้วสามารถใช้ศักยภาพได้อย่างเต็มที่ ในช่วงวิกฤต และเศรษฐกิจโลกยังไม่เป็นใจ ณ ขณะนี้
‘การศึกษาไทย’ ให้คุณค่า ‘การท่องจำ’ มากเกินไป
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ สะท้อนถึงปัญหาการศึกษาไทยให้ฟังว่า ที่ผ่านมาเน้นการปลูกฝังและให้คุณค่าในเรื่องของการท่องจำมากจนเกินไป หรือเรียนรู้เฉพาะเรื่องความรู้หลักๆ เท่านั้น แต่ไม่ได้นำไปสู่การคิด วิเคราะห์ และการตั้งประเด็นคำถามต่างๆ รวมถึงการที่หลายๆ คนให้คุณค่ากับคำว่า ‘ปริญญา’ มากจนเกินไป จนลืมไปว่าหนทางสู่ความสำเร็จจริงๆ ต้องมาจากช่วงเวลาของการเรียนรู้ที่มันสนุก แม้แต่การทำงานก็ต้องตื่นเต้นกับมัน ต้องมี passion กับมันจริงๆ เพราะความอยากรู้อยากทำอยากลองจะทำให้เรามีพัฒนาการกับวิชาชีพอยู่ตลอดเวลา
พูดง่ายๆ ก็คือ หนึ่งในปัญหาสำคัญ คือ เรายังขาด passion ที่ชัดเจน และส่วนหนึ่งก็มาจากการที่พ่อแม่เข้ามาแทรกแซงวิธี หรือการตัดสินใจของลูกๆ มากเกินไป เช่น ให้คำปรึกษาลูกๆ หลานๆ ตามความชอบของตนเอง หรือตามสิ่งที่สังคมเห็นว่าควรจะเป็นแบบนั้นถึงดี รวมๆ ก็คือ คนบางกลุ่มยังมี mindset ที่ผิด ทำให้ค้นหาตัวเองไม่เจอ และเดินหลงทางในที่สุด
บัณฑิตใหม่ในไทยมี ‘skills set’ ไม่พร้อมใช้งานจริง
คุณอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AP (Thailand) กล่าวเปิดใจในฐานะผู้ประกอบการว่า จะเห็นว่าที่ผ่านมาเด้กจบใหม่เปลี่ยนงานไวมาก ขณะที่หนึ่งในคุณสมบัติของบริษัทส่วนใหญ่ต้องการคนที่ ‘พร้อมทำงาน’ หรือใช้เวลาปรับตัวในทุกมิติเร็วที่สุด
“อีกหนึ่งสิ่งที่ผมเจอบ่อยๆ เลยก็คือ มีความรู้ด้าน academic เยอะมากแต่ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้ หรือไม่ก็ความรู้ด้านวิชาการอาจไม่ทันสมัย เป็นต้น”
อย่างเช่น ที่ AP (Thailand) ส่วนใหญ่ใช้โปรแกรม BIM (Building Information Management) ในการดีไซน์ต่างๆ แทนที่โปรแกรม AutoCAD แต่ปัญหาที่พบก็คือ BIM ในหลักสูตรการศึกษาของไทยเป็นแค่ ‘วิชาเลือก ไม่ใช่ วิชาหลัก’ ในขณะที่สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ หรือแม้แต่เวียดนามเองก็ใช้โปรแกรมดังกล่าวมานานแล้ว
คุณอนุพงษ์ กล่าวว่า ในเมื่อหาเด็กจบใหม่ที่ใช้โปรแกรม BIM ไม่ได้ สิ่งที่ AP ไทยแลนด์ทำก็คือ ต้องจ่ายเงินอีก 10 ล้านบาทเพื่อสอนเพื่อกระตุ้นให้พนักงานในฝ่ายดีไซน์ใช้ BIM ให้เป็นเพื่อความคล่องตัวของงาน ดังนั้นสรุปง่ายๆ ก็คือ ปัญหาของเด็กจบใหม่ที่เจอมาตลอด คือ “ความรู้ไม่เพียงพอ – ความพร้อมไม่ตรงสาย – ทำงานไม่ได้จริง”
อีก 10 ปี ตำแหน่งงาน 40% จะหายไป – แทนที่ด้วยทักษะใหม่
หากมองย้อนกลับไปต้นตอของปัญหา คุณอนุพงษ์ มองว่าเกิดขึ้นจากหลายๆ ปัจจัยรวมกัน ซึ่งไม่ควรโทษมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว เพราะการที่จะยกเครื่องหลักสูตรการศึกษาไทยให้ไปได้เร็วขึ้น เป็นการศึกษาแห่งอนาคตได้ มหาวิทยาลัยเอกชนและของรัฐต้องร่วมมือกัน อย่างน้อยต้องเริ่มที่การปรับ หรือ update หลักสูตรตลอดเวลาให้เข้ากับสถานการณ์ ซึ่งผมไม่รู้ว่าติดปัญหาตรงไหนอาจจะเรื่องของกฎหมายหรือไม่ เพราะเท่าที่เคยคุยกับหลายๆ มหาวิทยาลัย การปรับหลักสูตรเกิดขึ้นได้ยากทีเดียว
งานวิจัยของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด เคยระบุไว้ว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า ประมาณ 40% ของอาชีพในปัจจุบันจะหายไป และจะมีตำแหน่งงานใหม่โผล่ขึ้นมาแทนที่ หมายความว่า
“เราจำเป็นต้องมี skills set ใหม่ ต้องอัพเดตทักษะด้านการเรียนรู้และการศึกษาของคนที่อยู่ในตลาดแรงงานให้เร็วที่สุด ต้องมีการอัพเดตตลอดเวลา เช่นเดียวกับคอนเทนต์ที่ทางมหาวิทยาลัยใช้สอนก็ต้องมีการอัพเดตด้วยเช่นกัน”
หลักสูตรการศึกษาต้อง ‘Practical’ ทดสอบก่อนลงสนามจริง!
รศ.เกศินี กล่าวเสริมในส่วนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่ามีหลักสูตรที่ค่อนข้างหลากหลาย มีโมเดลที่ practical บัณฑิตจบใหม่สามารถออกสนามรบได้จริง เช่น โมเดล 2+2 นั่นก็คือ การทำ workshop หรือ การส่งไปฝึกงานกับอุตสาหกรรมอีก 2 ปี หลังจากที่เรียนรู้ด้าน academic เป็นเวลา 2 ปีในมหาวิทยาลัย และโมเดล 3+1 คือ เรียนที่มหาวิทยาลัย 3 ปี ฝึกงานเจอของจริงอีก 1 ปี ขึ้นอยู่กับสายอาชีพนั้นๆ
“ไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัย แต่อาจารย์เองก็ต้อง active ค่อนข้างมาก ที่สำคัญทุกมหาวิทยาลัยในไทยควรจะมีมาตรฐานที่ใกล้เคียงทั่วถึง” นับว่าเป็นการช่วยกันกระตุ้นให้บุคคลากรในตลาดแรงงานมีศักยภาพขึ้น
‘Soft skills’ สำคัญพอๆ กับ ‘Hard skills’
ที่ผ่านมาเราอาจจะถกเถียงกันเรื่อง Soft skills และ Hard skills ว่าอะไรมีความสำคัญมากกว่ากัน แต่เอาจริงๆ แล้วในมุมมองของผู้ประกอบการ คุณอนุพงษ์ กลับมองว่า พนักงานจำเป็นต้องมีมากพอๆ กัน ซึ่งได้ยกตัวอย่าง 4 ทักษะทางสังคมที่จำเป็นมากๆ เพื่อให้การทำงานร่วมกันเป็นทีมนั้นไหลรื่น ได้แก่
-
การตัดสินใจ
-
การแก้ปัญหา
-
ความคิดสร้างสรรค์
-
การสื่อสาร
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการต้องกลับมานั่งคิดว่า บุคคลากรมีความพร้อมมั้ย? มีภาวะ learning mindset หรือไม่ โดยส่วนใหญ่ในโลกของความเป็นจริงที่เจอมา บางกลุ่มยึดติดอยู่กับความรู้ด้าน academic ค่อนข้างมากจนไม่สามารถปรับตัวได้ หรือองค์ความรู้ที่มาจากรั้วมหาวิทยาลัยยังไม่ practical จริงๆ ในชีวิตการทำงาน
ตัวชี้วัดจำเป็น ‘skills for better life – better society’
ในมุมมองของ รศ.เกศินี ในฐานะที่เป็นผู้คร่ำหวอดในด้านการศึกษาของไทย มองว่า ตัวชี้วัดหรือตัวแปรด้านทักษะแห่งอนาคตที่สำคัญของยุคต่อจากนี้ ต้องมีการเรียนรู้ที่หลากหลายแต่ครบทุกด้านมากขึ้น แม้แต่ตัวผู้สอนเองก็ยังต้องอัพเดททักษะของตัวเอง เพื่อให้เข้าใจและมงภาพออกว่าอะไรที่ควรหยิบมาสอน และอะไรที่ควรอัพเดท
ดังนั้น หากจะสรุปง่ายๆ ว่าสกิลอะไรบ้างที่เราต้องมีติดตัวนับจากนี้ไป ไม่ว่าจะเป็นการ upskills, reskills และ unlearn สร้างความเชื่อมั่นว่าจะไม่ตกงานจนเดินเตะฝุ่นแน่ๆ ในสถานการณ์แบบนี้ ได้แก่
ความรู้ความสามารถ
– ด้านดิจิทัล
– ด้านการเงิน
– ด้านสังคม
กรอบทักษะจำเป็น(ต้องปรับ)
– ความคล่องตัว คิดไว ทำไว ปรับตัวให้ไว (Agility)
– การเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial) รู้จักวางแผน มุ่งมั่น และมีเป้าหมายชัดเจนที่ต้องทำให้ได้
– ความเข้าใจคนอื่น (People)
– ระบบการทำงานคอมพิวเตอร์ หรือ โปรแกรมเมอร์ (Coding)
‘Mindset ผู้ประกอบการ’ สำคัญ และกำลังปัจจัยเลือกรับพนักงาน
คุณอนุพงษ์ พูดเสริมทิ้งท้ายว่า หลายๆ คนพูดเสมอว่า “คนตกงานเพราะไม่มีงานให้ทำ” แต่ความจริงแล้วตำแหน่งงานในปัจจุบันยังมีอยู่มาก แต่ปัญหาคือ ไม่มีคนที่มี skills เหมาะสมกับตำแหน่ง ดังนั้น การเพิ่มพูนทักษะใหม่ๆ ไม่ว่าจะ hard skills – soft skills ต้องตื่นตัวตลอดเวลา
สำหรับ Mindset ผู้ประกอบการ ผมมองว่ากำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ โดยคุณลักษณะของคนที่มา mindset แบบนี้ เช่น ไม่ยอมแพ้ ต้องทำให้ได้ และมีเป้าหมายชัดเจน ต้องทำทุกทางเพื่อไปอยุ่จุดๆ นั้นให้ได้ เป็นต้น
กระบวนการทำงานที่ถูกต้องของ Mindset ผู้ประกอบการ คือ มีเป้าหมาย – โฟกัสให้ถูกจุด – วิธีการ(ต้อง)ทำทุกอย่างแบบไหนก็ได้ – (ถ้า)ล้มเหลว – รับผลลัพธ์ให้ได้ – เรียนรู้ใหม่เร็ว – เริ่มวางแผนทำใหม่อีกครั้ง
ที่น่าสนใจอีกแง่มุมหนึ่ง ก็คือ “เด็กจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มงานมักจะมองไปที่ ‘วิธีการ’ มากกว่า ‘เป้าหมาย’ ดังนั้น เมื่อคุณเฟลไม่ประสบผลสำเร็จคุณจะลุกขึ้นช้ากว่า” แต่ mindset แบบผู้ประกอบการเขาจะไม่สนใจว่า คุณใช้วิธีการแบบไหน แผน A แผน B หรือ แผน C แต่คุณจะมองไปที่เป้าหมายเท่านั้น”
สรุปมุมมองของคุณอนุพงษ์สำหรับทักษะที่จำเป็นในอนาคตที่ต้องมีติดตัว ได้แก่
-
หาเป้าหมายในชีวิตก่อน
-
องค์ความรู้และความเข้าใจ (academic) ต่อสายงานนั้นๆ ต้องมีเป็นพื้นฐาน
-
Deep skills หรือ Digital Literacies ต้องเข้าใจในกระบวนการของโลกดิจิทัล นำมาปรับใช้ให้เป็น
-
Soft skills หรือ ทักษะทางสังคม/ทักษะทางอารมณ์ที่ต้องมีในสังคมการทำงาน
-
Passion คือ แรงผลักดันในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือ ทักษะที่พร้อมเรียนรู้อยู่เสมอ
รู้แบบนี้แล้วเราคงได้คำตอบกันชัดเจนแล้วว่า ไม่ใช่แค่สกิลด้าน academic เท่านั้นที่จำเป็น แต่บรรดา soft skills ทั้งหลายก็สำคัญมากๆ อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเรียนรู้กันได้ในตำราอีกด้วย เพราะทุกอย่างล้วนมาจากประสบการณ์ชีวิตจริงๆ และความพร้อมในการเปิดใจปรับ mindset ให้ทันโลกอนาคต ที่สำคัญสกิลด้าน agility หรือความคล่องตัวต้องอย่าลืม!
ที่มา : THE STANDARD ECONOMIC FORUM