ttb ฟันธงส่งออกไทยส่อแวว…ร่วง ตามเทรนด์โลกสวนทางการบริโภคในประเทศโต

  • 2
  •  
  •  
  •  
  •  

เศรษฐกิจปีนี้เรียกว่าต้องลุ้นกันต่อไป แม้ว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวในระดับที่เรียกว่าเกือบเท่าระดับก่อนเกิดสถานการณ์โรคระบาด แต่ดูเหมือนส่งออกของไทยกำลังเจอปัญหาเมื่อประเทศคู่ค้าหลักกำลังซื้อลดลง แถมอัตราการบริโภคภายในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อ GDP อย่างเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่สถาบันการเงินไทยยังแข็งแกร่งไม่ต้องกังวลว่าจะล้มแบบในต่างประเทศ

 

เศรษฐกิจโลกยังทรงตัวจับตาอาเซียน

คุณนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics มองว่า ช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกประสบปัญหาเงินเฟ้อสูง ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศ แต่จากข้อมูลพบว่า เงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุดมาแล้วแต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งเห็นได้จากราคาพลังงานตัวการหลักที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ มีการปรับตัวลดลง รวมถึงราคาสินค้าอื่นๆ ก็มีการปรับตัวลดลง ความตึงเครียดด้านซัพพลายเชนทั่วโลกก็มีสัดส่วนลดลง เช่นกัน

โดยตลาดส่งออกหลักของไทยอย่าง สหรัฐฯ เศรษฐกิจเติบโตเพียง 1.4% ขณะที่สหภาพยุโรปเศรษฐกิจเติบโตแค่ 0.7% และอังกฤษที่อัตราการเติบโต – 0.6% เมื่อย้อนกลับมาใน ฝั่งของเอเชียจะพบว่า อินเดียมีเศรษฐกิจที่เติบโตสูงถึง 6.1% ขณะที่จีนเศรษฐกิจเติบโตถึง 5.2% และกลุ่มประเทศอาเซียนเศรษฐกิจเติบโตอยู่ที่ 4.3% รวมไปถึงภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีเศรษฐกิจเติบโตสูงขึ้น ทำให้เอเชียกลายเป็นตลาดที่น่าสนใจในปัจจุบัน

 

สำหรับสถานการณ์ธนาคารในสหรัฐฯ ทั้ง 3 แห่งอย่าง Silvergate Bank, Silicon Valley Bank (SVB) และ Signature Bank นั้น ทาง ttb analytics มองว่า ไม่ส่งผลกระทบที่ไหนต่อธนาคารหรือธุรกิจการเงินในระดับโลก เป็นปัญหาเฉพาะรายธนาคาร โดยไม่เกี่ยวกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

 

และเมื่อเทียบนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเห็นว่าฝั่งสหรัฐฯ มีการปรับอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 4.75% สหภาพยุโรปปรับอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.50% และอังกฤษปรับอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 4.0% ขณะที่เกาหลีใต้มีการประกาศแล้วว่าจะล็อคอัตราดอกเบี้ยไว้อยู่ที่ 3.5% ส่วนมาเลเซียมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.75% และไทยที่ในปัจจุบันมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.5% โดยคาดว่าในปีนี้แบงค์ชาติอาจมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 2 ครั้งซึ่งจะทำให้ในปีนี้อัตราดอกเบี้ยของไทยอาจจะขึ้นไปอยู่ในระดับ 2.0%

 

3 ปัจจัยกระทบเศรษฐกิจไทย

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2566 นี้ มองว่ายังเติบโตได้ต่อเนื่องที่ 3.4% เป็นผลจากในช่วงที่ผ่านมาถือเป็นข่าวดีของประเทศไทย เมื่อตลาดท่องเที่ยวพลิกฟื้นตัวกลับมาแทบจะเรียกได้ว่าเต็มรูปแบบ โดยมีการคาดการณ์ว่า ในปีนี้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาประเทศไทยอาจจะแตะที่ระดับ 29.5 ล้านคน โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น จะเป็นกลุ่มประเทศอินเดีย ตะวันออกกลางและรัสเซีย ขณะที่จีนจะช่วงเร่งให้จำนวนนักท่องเที่ยวเติบโตได้ตามคาดการณ์ และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในเชิงบวก

ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้ ปัจจัยที่ 2 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่าง อัตราการบริโภคในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ถึงระดับ 4% ซึ่งเป็นผลมาจากสินค้าต่างๆเริ่มปรับเพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภครวมไปถึงการสนับสนุนของตลาดรถยนต์ EV

ขณะที่ปัจจัยด้านการส่งออกกลายเป็นความเสี่ยงสำคัญมาก เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกปรับตัวลดลง ส่งผลให้การส่งออก มีโอกาสหดตัวหรือไม่เติบโตสูง คาดว่าจะหดตัวที่ – 0.5% และหากหดตัวมากกว่านั้นอาจจะส่งผลให้ GDP ของไทยโตไม่ถึง 3% แม้ว่าการท่องเที่ยวของไทยจะกลับมาแล้วก็ตาม นั่นเพราะสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวมีเพียง 12% ของ GDP ขนาดที่การส่งออกมีสัดส่วนรายได้สูงถึง 65% ของ GDP ดังนั้นแม้การท่องเที่ยวจะเติบโตมากมายเพียงใดก็ไม่สามารถเทียบเท่ากับรายได้ของการส่งออก

 

จับตาการนำเข้าอาจปรับลด GDP

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าการส่งออกของไทยอาจหดตัวลดลง เพิ่งจะส่งผลในทางตรงกันข้ามกับการนำเข้าสินค้า โดย ttb analytics คาดว่าปี 2566 การตัดสินใจลงทุนและการนำเข้าสินค้าทุนของภาคเอกชนอาจมีแนวโน้มชะลอตัวออกไป ในขณะที่ราคานำเข้าพลังงานมีแนวโน้มลดลง ตัวเลขการนำเข้าสินค้าของไทยคาดว่าอยู่ที่ 1% ชะลอตัวจากปีก่อนที่ขยายตัว 13.6%

หากการนำเข้าเติบโต 1% ตามที่คาดการณ์ แต่การส่งออกสินค้าของไทยกลับหดตัวต่ำกว่า – 0.5% ตามที่คาดการณ์ เศรษฐกิจไทยปี 2566 โดยรวมจะขยายตัวลดลงมาเหลือ 3.1% และถ้าเลวร้ายยิ่งกว่าหากการส่งออกหดตัวถึง 2% จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเพียง 2.5% เท่านั้น ดังนั้นราคาสินค้าในตลาดโภคภัณฑ์ของโลกซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ การประคับประคองการส่งออกสินค้าของไทยให้เติบโตได้ต่อเนื่องทั้งปี จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ

 

หนี้สินเพิ่มขึ้น กลุ่มเปราะบางน่ากังวล

ในส่วนของหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อีกทั้งธนาคารไทยยังมีทุนสำรองที่อยู่ในระดับสูง สำหรับระบบธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันยังมีความแข็งแกร่งทั้งในด้านฐานเงินฝากที่มีคุณภาพและสินทรัพย์สภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง ด้านเงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CET1) อัตราส่วนเงินสำรองที่มีอยู่ต่อ NPL (NPL Coverage ratio) อยู่ในระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค

ในขณะที่สัดส่วน NPL ของไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2565 อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม คือ หนี้ครัวเรือนของไทยที่อยู่ในระดับสูงและสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเติบโตค่อนข้างเร็ว ยิ่งเมื่อมีการคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวสูงขึ้น ภาระหนี้ของกลุ่มรายได้น้อย กลุ่มเกษตรกร และภาคธุรกิจขนาดเล็ก (SME) ที่ยังจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มเพื่อพยุงระดับการบริโภคและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับประกอบธุรกิจครัวเรือน

อีกทั้ง มาตรการดูแลลูกหนี้ทั้งในส่วนของประชาชนและภาคธุรกิจที่กำลังทยอยหมดลงนับแต่เดือนเมษายนจนถึงสิ้นปี 2566 นี้ อาจเป็นปัจจัยกดดันให้ลูกหนี้ที่เปราะบางจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งธนาคารแต่ละแห่งคาดว่าจะมีมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยเหลือ

ttb analytics จึงเน้นย้ำว่า สิง่ที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญในปีนี้ คือวิกฤติการส่งออก ที่ผู้ประกอบการควรมองหาตลาดที่มีศักยภาพเพื่อรักาาระดับการส่งออกของไทย โดยเฉพาะกลุ่มตะวันออกกลาง อินเดียและกลุ่มอาเซียน ขณะที่ภาครัฐควรมีมาตรการบรรเทาค่าครองชีพให้กับครัวเรือนและดูแลกลุ่ม SME รายย่อย โดยเฉพาะราคาต้นทุน เช่น มาตรการช่วยเหลือค่าน้ำค่าไฟฟ้า เป็นต้น และสถาบันการเงินควรมีมาตรการทางการเงินและสินเชื่อเพื่อดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบางเป็นรายกรณี


  • 2
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา