แม้จะมีกระแสการนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพให้ธุรกิจ ทั้งสายการผลิต การบริการอำนวยความสะดวกต่างๆ มากขึ้น แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการทั้งรายเล็กรายย่อยอาจรู้สึกว่า…สิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องไกลตัว โดยเฉพาะในธุรกิจบริการและค้าขายในไทย แต่จะเป็นอย่างไร ถ้าเราจะบอกคุณว่า ถึงเวลาที่คุณต้องปรับตัวพร้อมรับเทคโนโลยีเหล่านั้นได้แล้ว…!
จากรายงานของ PwC ซึ่งทำการศึกษาเกี่ยวกับประเด็นการใช้เทคโนโลยีในธุรกิจด้านสุขภาพ พบว่าเทคโนโลยี AI (เอไอ) และหุ่นยนต์ กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนโฉมธุรกิจบริการสุขภาพในระยะเวลาอันใกล้ ด้วยเหตุผลที่เข้าใจง่าย เพราะผู้บริโภคต้องการเทคโนโลยีการแพทย์ที่ทันสมัยและเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็วขึ้น ดีขึ้นนั่นเอง
กลับมาที่สถิติของรายงานดังกล่าว ผู้ตอบแบบสำรวจราว 10,000 คน จาก 12 ประเทศในยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เป็นจำนวนกว่า 55% ระบุว่ายินดีที่จะใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ขั้นสูงหรือหุ่นยนต์สำหรับการตอบคำถามด้านสุขภาพ การวินิจฉัยโรค หรือแม้แต่ขั้นตอนแนะนำการรักษา โดยเฉพาะประชากรในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ซึ่งมีความพร้อมและยอมรับเทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์ทางการแพทย์มากกว่ากลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ขณะที่ ประเทศไทยมีแนวโน้มเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจเพราะจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูง ซ้ำยังขาดระบบจัดการฐานข้อมูล รวมถึงการปรับทัศนคติของแพทย์และพยาบาล
โดย ดร.ทิม วิลสัน หัวหน้าสายงานอุตสาหกรรมสุขภาพประจำตะวันออกกลาง ของ PwC ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า “ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ แต่ AI และหุ่นยนต์คืออนาคตของการบริการสุขภาพ เพราะวันนี้การเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ อยู่ในราคาที่สามารถจ่ายได้และนำมาซึ่งสุขภาพที่ดี ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการดำเนินชีวิตมนุษย์ นอกจากนี้ยังเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมจากการบรูณาการเอไอและหุ่นยนต์เข้ากับระบบการดูแลสุขภาพที่มี และสร้างบริการดูแลสุขภาพรูปแบบใหม่ๆ ผ่านการใช้เทคโนโลยี”
ถ้าถามว่าเหล่าผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวอย่างไร จะปรับหรือเปลี่ยนเพื่อรับมือสิ่งที่ตนไม่มีความเชี่ยวชาญอย่างไร PwC ให้คำแนะนำ 5 ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้…
ภาครัฐ
ควรกำหนดมาตรการควบคุมคุณภาพ กรอบการกำกับดูแล และข้อบังคับธุรกิจในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพอย่างครอบคลุม พร้อมกับสร้างแนวทางที่เหมาะสมต่อการกระตุ้นและสนับสนุนแนวทางการรักษาด้วยวิธีการใหม่ๆ
แพทย์/ผู้เชี่ยวชาญ
ต้องเข้าใจหลักการทำงานของ AI และหุ่นยนต์ว่าสามารถเอื้อประโยชน์และทำงานร่วมกันได้ ทั้งในบริบททางการแพทย์และระบบนิเวศน์ของการดูแลสุขภาพทั้งหมด และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการเปิดใจยอมรับกับการเปลี่ยนแปลง
ผู้ป่วย
ไม่ใช่ว่าเป็นผู้ป่วยหรือผู้ใช้บริการแล้วจะชิลๆ ได้เลย แต่พวกเราก็ควรศึกษาและทำความคุ้นเคยกับการใช้ AI และหุ่นยนต์มากขึ้น และควรต้องเข้าใจถึงประโยชน์ที่ได้จากการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อใช้ในการดูแลสุขภาพของตน
ผู้พัฒนาเทคโนโลยี
ภาคเอกชนที่เป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์ ต้องสร้างโซลูชั่นที่สามารถแก้ไขปัญหาสำคัญๆ โดยเฉพาะด้านความต้องการและทรัพยากร ซึ่งระบบดูแลสุขภาพในปัจจุบันกำลังเผชิญอยู่ จึงเรียกว่าสามารถใช้โอกาสที่มีในการเข้ามาพลิกโฉมธุรกิจบริการดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นผ่านโซลูชั่นการดูแลสุขภาพการใช้ AI และหุ่นยนต์ที่มีประสิทธิภาพ
ผู้บริหารสถาบัน/ธุรกิจสุขภาพ
เรียกว่าเหล่าผู้มีอำนาจในการตัดสินใจของธุรกิจและสถาบันสุขภาพทั้งหลาย ถึงคราวพัฒนา Evidence base (หลักฐานเชิงประจักษ์) ทั้งการประเมินผลสำเร็จและประสิทธิภาพเทคโนโลยี รวมถึงการลำดับความสำคัญของภารกิจและมุ่งเน้นที่ความต้องการของผู้บริโภคให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน
Copyright © MarketingOops.com