โควิด-19 จะทำ‘คนตกงาน’ แค่ไหน และ ‘กลุ่มไหน’ เสี่ยงสุด

  • 503
  •  
  •  
  •  
  •  

นอกจากการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว โจทย์ยากอีกอย่างที่เกิดจากเจ้าไวรัสร้ายตัวนี้ ก็คือ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมหาศาลที่ทำให้คนต้องตกงานเป็นจำนวนมากในเวลาอันสั้น

สำหรับไทย ทาง ‘สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ’ หรือ ‘สศช.’ ได้ออกมาเปิดเผยถึงอัตราการว่างงานในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2563 ว่า พิษโควิด-19 ทำให้คนเสี่ยงตกงาน 8.4 ล้านคน ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การตกงานจะมีอัตราสูงสุดในไตรมาส 2 ก่อนจะลดลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ท่องเที่ยวอุตสาหกรรมบริการ 3 กลุ่มเสี่ยงตกงาน

จากรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 2563 ของ สคช. ชี้ให้เห็นว่า วิกฤตโควิด-19 ทำให้แรงงานมีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างทั้งสิ้น 8.4 ล้านคน โดยกลุ่มที่เสี่ยงตกงาน ได้แก่

1.แรงงานในภาคการท่องเที่ยว(ไม่รวมสาขาการค้าส่ง และการค้าปลีก) จะได้รับผลกระทบประมาณ 2.5 ล้านคน จากการจ้างงานที่มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 3.9 ล้านคน เพราะได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการท่องเที่ยวในประเทศ

2.แรงงานในภาคอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และต่อเนื่องมาถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม บางอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าขายในประเทศยังขยายตัวได้ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม หรือของใช้ที่จำเป็น รวมทั้งอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมจากทั้งหมด 5.9 ล้านคน คาดว่า จะมีคนว่างงาน1.5 ล้านคน

3.การจ้างงานในภาคบริการอื่นที่ไม่ใช่การท่องเที่ยว ในกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐจากการปิดสถานที่ เช่น สถานศึกษา หรือสถานที่มีการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก เช่น ตลาดสด สนามกีฬา ห้างสรรพสินค้า ซึ่งกลุ่มนี้มีการจ้างงานจำนวน 10.3 ล้านคน และคาดว่า จะมีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 4.4 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2563 อัตราการว่างงานจะอยู่ในช่วง 3-4% หรือตลอดทั้งปีมีผู้ว่างงานไม่เกิน 2 ล้านคน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มควบคุมได้และในครึ่งหลังของเดือนพฤษภาคมเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทสามารถเปิดดำเนินการได้มากขึ้น

นอกจากนี้รัฐบาลมีมาตรการในการช่วยเหลือ และฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเน้นกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ และภาคเกษตรกรรมจะสามารถรองรับแรงงานที่ว่างงานได้บางส่วนแม้ว่าจะมีปัญหาภัยแล้ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้การว่างงานพีคสุดอยู่ช่วง Q2 ปีนี้

ขณะที่ ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ ได้สำรวจสภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทยที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงวันที่ 21-28 พ.ค. 2563 พบประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่

อัตราการว่างงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เดือน พ.ค. 2563 อยู่ที่ 9.6% ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจ โดย 61.4% ของจำนวนผู้ว่างงานที่ทำการสำรวจ สาเหตุหลักมาจากผลกระทบของโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้ครัวเรือนบางส่วนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ

โดยอัตราการว่างงานน่าจะอยู่ในระดับสูงสุดช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2563 และค่อย ๆ ปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 หลังจากที่ภาครัฐทยอยผ่อนปรนความเข้มงวดในการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ภายใต้สมมติฐานที่ว่า ไม่มีการแพร่ระบาดซ้ำของโควิด-19 จนนำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์ ครั้งที่ 2

เมื่อสอบถามมุมมองของครัวเรือนไทยต่อสภาวะการมีงานทำของตนเอง พบว่า 6.4% ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจ (ที่มีงานทำ) มองว่า บริษัทที่ตนเองทำงานอยู่มีโอกาสสูงที่จะปิดตัวลงในไม่ช้าจากผลกระทบของโควิด-19 ขณะที่ 17.4% ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจ (ที่มีงานทำ) มองว่า มีโอกาสสูงที่บริษัทจะปรับลดพนักงานและตนเองจะถูกเลิกจ้าง ซึ่งครัวเรือนส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้มักเป็นผู้มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน และทำงานอยู่ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง

Social Distancing กระทบรายได้

จากการสำรวจยังพบว่า มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ได้ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนไทยส่วนใหญ่ แม้ในปัจจุบันจะมีการผ่อนปรนให้ธุรกิจส่วนใหญ่กลับมาดำเนินการตามปกติแล้ว แต่ครัวเรือนส่วนใหญ่ 95.5% กลับได้รับผลกระทบจากมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมในลักษณะที่แตกต่างกัน โดย 52.5% มีรายได้และผลประกอบการลดลง ทั้งนี้ ครัวเรือนส่วนใหญ่ 25.4% อยากให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังจากที่มาตรการเยียวยาในช่วงก่อนหน้าสิ้นสุดลง

ผลการสำรวจข้างต้นชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานและการใช้จ่ายของครัวเรือนไทยในระยะข้างหน้า โดย New normal ที่สะท้อนจากผลการสำรวจชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่สามารถดูดซับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19  ซึ่งเข้ามาแทนที่ภาคเกษตรกรรมที่แต่เดิมช่วยดูดซับแรงงานส่วนเกินจากภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ในขณะที่รูปแบบการใช้จ่ายของครัวเรือนกลับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ระมัดระวัง และเร่งสร้างวินัยทางการเงินของตนเองเพิ่มขึ้น

ทั้งหมดเป็นโจทย์เร่งด่วนสำหรับภาครัฐ ทั้งในเรื่องของการออกมาตรการเศรษฐกิจที่ช่วยสร้างงานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและรองรับจำนวนผู้ว่างงานใหม่หลังมาตรการเยียวยาสิ้นสุดลง และการออกมาตรการส่งเสริมการออมที่เอื้อต่อแรงงานหลายกลุ่ม เช่น แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานที่มีรายได้น้อย ฯลฯ


  • 503
  •  
  •  
  •  
  •