แม้ว่าเทรนด์ท่องเที่ยวของคนไทยในตอนนี้ยังเป็น #เที่ยวทิพย์ แต่หลังจากสถานการณ์ COVID-19 ดีขึ้น การท่องเที่ยว ถือเป็นกิจกรรมแรก ๆ ที่เชื่อว่าจะได้รับความนิยมกลับมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งประเด็นนี้ Agoda (อโกด้า) ได้ทำการสำรวจในประเด็น เทรนด์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 2021 โดยมีประเด็นสำคัญที่นักท่องเที่ยวลงความเห็นว่าจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน คือ
– ระบุตัวเลือกการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ง่าย
– จำกัดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
– เสนอสิ่งจูงใจทางการเงินแก่ผู้ให้บริการที่พักที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
– สร้างพื้นที่คุ้มครองให้มากขึ้นเพื่อจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว
– เลิกใช้ผลิตภัณฑ์อำนวยความสะดวกในห้องพัก และห้องน้ำแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
หนึ่งในประเด็นที่ผู้ประกอบธุรกิจด้านท่องเที่ยวกังวล หลังหมดสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ก็ได้รับคำตอบจากนักท่องเที่ยวในเชิงการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ว่า…
– จะจัดการขยะของตนเอง รวมถึงจะหลีกเลี่ยงการใช้ถพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
– จะปิดแอร์ และไฟเมื่อออกจากห้องพัก
– จะเลือกใช้บริการที่พักที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
คุณจอห์น บราวน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Agoda กล่าวว่า จากผลสำรวจเทรนด์การเดินทางอย่างยั่งยืน พบว่าตอนนี้ผู้คนทั่วโลกให้ความสำคัญกับการทำตามวิธีดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมง่าย ๆ อย่างการปิดไฟ และเครื่องปรับอากาศเมื่อออกจากห้องพัก และการลดปริมาณขยะโดยการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง อีกสิ่งหนึ่งเราเห็นได้อย่างชัดเจนคือทั่วโลกมองว่ารัฐบาลต้องเป็นผู้นำในการบริหารจัดการการเดินทางท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน แต่ขณะเดียวกัน หลายคนก็ตระหนักว่าความรับผิดชอบบางอย่างขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของตนเองเช่นกัน
ทั้งนี้ ความต้องการที่จะเดินทางอย่างยั่งยืนที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งยังแพร่หลายมากที่สุดในกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามจากเกาหลีใต้ (35%) อินเดีย (31%) และไต้หวัน (31%) ขณะที่ ตัวเลขสำหรับทั่วโลกอยู่ที่ 25% และผู้คนอีก 35% กลับมีความปรารถนาดังกล่าวลดลง โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย (56%) ไทย (51%) และฟิลิปปินส์ (50%)
ส่วนข้อมูลที่น่าสนใจจากนักท่องเที่ยวชาวไทย ได้แก่…
– คนไทยส่วนใหญ่กังวลว่าการท่องเที่ยวมากเกินที่แหล่งท่องเที่ยวจะรับได้ การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อการท่องเที่ยว และการใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
– 30% ของคนไทยเชื่อว่าตัวเองมีความรับผิดชอบมากที่สุดในการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รองลงมาด้วยหน่วยงานการท่องเที่ยว (25%) และภาครัฐ (24%)
– คนไทยส่วนใหญ่สัญญาว่า เมื่อไปท่องเที่ยวหลังสถานการณ์ COVID-19 ดีขึ้น พวกเขาจะจัดการขยะของตนเองระหว่างการท่องเที่ยว ด้วยการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งให้น้อยลง (53%) มองหาที่พักที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ (37%) และปิดเครื่องปรับอากาศรวมถึงไฟเวลาออกจากห้องพัก (31%)
– แนวทางปฏิบัติที่คนไทยถือว่าเป็นประโยชน์ต่อการเดินทางอย่างยั่งยืนมากที่สุด ได้แก่ การที่ที่พักใช้พลังงาน หรือแหล่งน้ำหมุนเวียน (31%) การใช้ผลิตภัณฑ์อำนวยความสะดวกที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ (20%) และการใช้คีย์การ์ดจ่ายไฟในห้องพัก (15%)
– เมื่อถูกถามว่า มีแนวทางปฏิบัติอะไรที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนบ้าง คนไทย 47% ตอบการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน 41% ตอบการอนุรักษ์สัตว์ และ 35% ตอบการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจากธรรมชาติ
– มาตรการเพิ่มเติมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากขึ้น คือ ระบุตัวเลือกการท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืน/เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ง่าย เสนอสิ่งจูงใจทางการเงินแก่ผู้ให้บริการที่พักที่เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานถึงขีดสุด และจำกัดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งของสายการบินหรือในที่พัก เป็นต้น