Microsoft จับมือ LinkedIn เปิดผลวิจัย Work Trend Index 2024 เกี่ยวกับเทรนด์การทำงานประจำปีอีกครั้โดยรายงานฉบับนี้จะเป็นการสำรวจพนักงานและผู้บริหารกว่า 31,000 คนใน 31 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งผลการสำรวจแสดงให้เห็นเทรนด์การนำ AI มาใช้ในการทำงาน ซึ่งสิ่งนี้องค์กรในไทยสามารถอัพเดทและเปลี่ยนแปลงนโยบายบางอย่างเพื่อให้ก้าวทันกับเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วได้
เทรนด์การใช้ AI ในการทำงานในประเทศไทยมีอะไรบ้างและองค์กรต้องปรับตัวตามอย่างไร คุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ Microsoft ประเทศไทยก็ได้มาเล่าขยายความให้เห็นเทรนด์นี้ในประเทศไทย โดย Marketing Oops! สรุปมาให้ในบทความนี้
1. เทรนด์ Bring Your Own AI พนักงานนำ AI มาใช้เองแล้ว
จากผลสำรวจ Work Trend Index 2024 พบว่าพนักงานไทยกลุ่มตัวอย่างจำนวนมากถึง 92% นำเครื่องมือ AI มาใช้ในการทำงานแล้ว ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 75% อีกด้วย โดยในจำนวนคนที่นำ AI มาใช้ในที่ทำงานนั้นมีมากถึง 81% ที่นำเครื่องมือ AI “ของตัวเอง” ไม่ได้เป็น AI ที่องค์กรเตรียมไว้ให้มาใช้ช่วยทำงาน กระแสนี้เรียกว่า BYOAI หรือ Bring Your Own AI นั่นเอง
ผลสำรวจที่ทำให้เห็นเทรนด์ BYOAI นี้สอดรับกับภาระงานของคนทำงานที่ต้องแบกรับเพราะผลสำรวจพบว่า 68% ของพนักงานทั่วโลกมีปัญหามีงานที่ต้องทำให้เสร็จให้ทันเวลาล้นมือ AI จึงเข้ามาช่วยประหยัดเวลาเสริมความคิดสร้างสรรค์ และทำให้สามารถไปทำงานที่สำคัญมากกว่าได้
ในมุมผู้บริหารองค์กรผลสำรวจพบว่าผู้บริหารไทยมากถึง 91% เชื่อว่าองค์กรต้องนำนวัตกรรม AI มาใช้เพื่อให้ยังมีความสามารถในการแช่งขันในตลาด ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ที่ 79% และผลสำรวจยังพบว่าผู้บริหารไทย 64% ยังกังวลว่าองค์กรของตนยังขาดแผนงานและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในด้านการนำ AI มาใช้ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกเล็กน้อยที่ 60% นอกจากนี้ยังเจอปัญหาในการประเมินผลลัพธ์จากการใช้ AI ออกมาเป็นตัวเลขหรือตัวเงิน เป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่จะต้องก้าวข้ามไปให้ได้
ดังนั้นองค์กรจำเป็นที่จะต้องกำนดกลยุทธ์ในระดับองค์กรในการใช้ AI ให้ชัดเจนและแก้ปัญหา BYOAI ด้วยการหาโซลูชั่น AI สำหรับองค์กรที่ปลอดภัยไม่เสี่ยงต่อการรั่วไหลของข้อมูลออกมาใช้งาน เพราะปัญหานี้เราเคยเห็นกันมาแล้วกับข่าวข้อมูลผลิตภัณฑ์ใหม่ของ Samsung ที่หลุดออกสู่สาธารณะอย่างไม่ตั้งใจเพราะพนักงานใช้ AI ที่มีบริการอยู่ในตลาดมาใช้ในการทำงานด้วยตัวเองนั่นเอง
2. คนใช้ AI ระดับ Power User เพิ่มขึ้นจะเป็น Game Changer ในองค์กร
Work Trend Index 2024 ยังเปิดเผยให้เห็นด้วยว่าทั่วโลกจำนวน AI Power Users หรือคนใช้งาน AI ระดับสูงที่ใช้งาน AI มาช่วยงานอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์มีมากขึ้นเรื่อยๆ คนกลุ่มนี้จะนำ AI มาปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานในแต่ละวันและสามารถช่วยลดเวลาทำงานลงได้วันละ 30 นาทีหรือเฉลี่ย 10 ชั่วโมงต่อเดือนเลยทีเดียว ซึ่งเทรนด์ของการมี Power Users ที่เพิ่มจำนวนขึ้นนั้นทีมวิจัยมองว่าจะสามารถช่วยปลดล็อกเส้นทางสู่ความเปลี่ยนแปลงขององค์กรในอนาคตได้
สำหรรับผลการวิจัยพบว่าในไทยมีพนักงานกลุ่ม Power Users มากถึง 86% เลือกที่จะใช้ AI ตั้งแต่เริ่มต้นรวมถึงใช้จบการทำงานในแต่ละวันซึ่งเทรนด์นี้มีสัดส่วนสอดคล้องกับเทรนด์ระดับโลก อย่างไรก็ตาม Power Users ในไทยจะมีแนวโน้มในการทดลองใช้ AI รูปแบบใหม่ๆแค่ 45% เท่านั้นต่างจากเทรนด์ของโลกที่ 68%
นอกจากนี้ในมุมของ AI Power User ในไทยมีเพียง 28% เท่านั้นที่ได้รับรู้แนวทางหรือสาระเกี่ยวกับบทบาทของ AI จากแผนกหรือฝ่ายที่ตัวเองทำงานอยู่ ซึ่งจุดนี้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 40% และ Power Users ในไทยเหล่านี้มีเพียง 22% เท่านั้นที่ได้รับโอกาสการฝึกทักษะ AI เพิ่มเติมจากองค์กรต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 42% เช่นกัน
เทรนด์นี้เห็นได้ชัดเจนว่า คนทำงานในไทยที่ใช้ AI ในการทำงานบ่อยๆมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นแต่ได้รับข้อมูลแนวทางหรือการสนับสนุนด้านการฝึกอบรมจากองค์กรน้อยมากๆ ดังนั้น องค์กรควรจะต้องให้ความสำคัญกับการให้นโยบายและแนวทางในการใช้ AI ลงไปในระดับคนทำงานให้มากขึ้น รวมถึงจัดให้มีการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้วย AI ที่เหมาะสมกับงานในแต่ละฝ่ายและแต่ละแผนกให้มากขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่ม Power Users ที่เป็นพนักงานที่สามารถจเป็น Game Changer หรือช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กรได้ในอนาคตต่อไป
3. AI เป็นทักษะใหม่ที่ทำลายขีดจำกัดสายอาชีพ
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจใน Work Trend Index 2024 ก็คือ ทักษะ AI ที่กลายเป็นสิ่งสำคัญที่คนทำงานใช้ในการสมัครงาน รวมไปถึงองค์กรต่างๆก็พิจารณารับคนเข้าทำงานโดยให้ความสำคัญกับทักษะ AI มากขึ้นกว่าเดิมมากอย่างไม่น่าเชื่อเช่นกัน เช่นจากผลสำรวจพบว่าผู้บริหารในไทยมากกว่า 74% “ไม่ต้องการจ้างพนักงานที่ไม่มีทักษะ AI เข้าทำงาน” ซึ่งเทรนด์นี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 66% อีกด้วย
ที่น่าสนใจก็คือหากให้เลือกระหว่างพนักงานที่ Wมีประสบการณ์สูงแต่ไม่มีทักษะ AI” กับพนักงานที่ “มีประสบการณ์น้อยแต่มีทักษะ AI” ปรากฎว่าผู้บริหารในไทยถึง 90% จะเลือกพนักงานที่มีประสบการณ์น้อยแต่มีทักษะด้าน AI เข้าทำงานมากกว่าซึ่งเทรนด์นี้ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 71% อีกด้วย
เทรนด์นี้ยังสอดคล้องกับข้อมูลจากผู้ใช้ LinkedIn ทั้งในระดับองค์กรและคนทำงาน ที่พบตัวเลขที่น่าสนใจด้วยไม่ว่าจะเป็น
- 142 เท่าตัว คือตัวเลขของจำนวนของสมาชิก LinkedIn ทั่วโลกที่ใส่ข้อมูลเกี่ยวกับทักษะการใช้งาน AI อย่าง ChatGPT และ Copilot ในโปรไฟล์ของตนเองเพิ่มมากขึ้นและนี่คือข้อมูลจากช่วงปลายปีที่แล้ว นั่นหมายความว่าเวลานี้อาจเพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีก
- 17% คือสัดส่วนผู้สมัครที่เพิ่มมากขึ้นกับตำแหน่งงานที่เปิดรับทาง LinkedIn เพราะมีการระบุถึงทักษะการทำงานที่เกี่ยวกับ AI ด้วย
- ที่น่าสนใจคือตำแหน่งงานที่เพิ่มทักษะด้าน AI มากที่สุด 10 อันดับพบว่า 3 อันดับแรกเป็นงาน Creative ไม่ใช่งานสายเทคโดยตรงเช่นงาน “เขียนคอนเทนต์” “กราฟฟิกดีไซน์” และ “การตลาด” ตามลำดับ โดยตำแหน่งในสายงานด้านเทคโนโลยีติดอันดับมาเพียง 2 ตำแหน่ง คือนักพัฒนา ระบบ Front-End ในอันดับที่ 4 และนักพัฒนาเว็บ อันดับ 8 ขณะที่ 3 อันดับแรกเป็นตำแหน่งงาน
เทรนด์นี้แสดงให้เห็นว่าทักษะ AI นั้นมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นกว่าการนำมาใช้ช่วยงานเท่านั้น แต่ยังเป็นทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการด้วยเช่นกัน คนที่สมัครงานเองที่มีทักษะ AI จะเป็นที่ต้องการกับตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับตำแหน่งงานที่ระบุถึงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับ AI ก็จะได้รับความสนใจจากแรงงานด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นด้วยว่า AI ยังถูกใช้งานโดยคนที่ทำในตำแหน่งงานสายครีเอทีฟเป็นส่วนใหญ่ด้วย ไม่ใช่แต่เพียงตำแหน่งงานสายเทคเท่านั้น
ด้านคุณธนวัฒน์ พูดถึงสิ่งที่พบจาก Work Trend Index 2024 ว่า เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารจะต้องเร่งตอบสนองต่อปรากฎการณ์นี้ เพื่อให้องค์กรและพนักงานได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้งาน AI ทั้งในเชิงประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น และการพัฒนาขีดความสามารถใหม่ๆ ควบคู่ไปกับความปลอดภัยที่เพิ่มสูงขึ้นจากแนวทางและนโยบายด้านการใช้ AI ที่ชัดเจน
“องค์กรจึงควรที่จะตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการนำ AI มาใช้ช่วยแก้ปัญหาและปลดล็อคอุปสรรคต่างๆ ในการทำงานของพนักงาน ในขณะเดียวกัน ผู้บริหารจะต้องคิดว่าควรทำอย่างไรที่จะช่วยเพิ่มทักษะด้าน AI ให้กับบุคลากรของเรา และเตรียมความพร้อมในการจัดหาเครื่องมือ AI ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยในการใช้งาน รวมถึงให้ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับทำงานร่วมกันในการกำหนดนโยบายหรือทิศทางการใช้งาน AI ในองค์กรเพื่อให้เกิดความชัดเจนและเห็นผลสำเร็จได้จริงในทุกตำแหน่งและสายงาน” คุณธนวัฒน์ระบุ
และแน่นอนว่าคุณธนวัฒน์ ก็เปิดเผยถึงคุณสมบัติใหม่ๆของ Copilot for Microsoft 365 ด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การรองรับภาษาไทย” ที่จะมาในเร็วๆนี้ รวมไปถึงฟีเจอร์ใหม่ๆเช่น การแนะนำ Prompt คือคำถามเพิ่มเติมในการใช้งาน การพัฒนาหน้าจอแชทแบบใหม่ ระบบเติมคำอัตโนมัติ (Auto Complete) และอื่นๆ
ขณะเดียวกันคุณธนวัฒน์เปิดเผยด้วยว่า LinkedIn ก็นำเสนอคอร์สอบรมเกี่ยวกับ AI กว่า 600 รายการ เพื่อให้คนทำงานสามารถก้าวต่อไปบนเส้นทางในสายอาชีพด้วย คอร์สเกี่ยวกับ AI จำนวน 50 หลักสูตรโดยไม่มีค่าใช้จ่าย นับตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 8 กรกฎาคมนี้ด้วย
สำหรับใครที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมรวมถึงอ่านรายงานฉบับเต็มของ Work Trend Index 2024 สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ https://www.microsoft.com/en-us/worklab/work-trend-index/ai-at-work-is-here-now-comes-the-hard-part#section1