ผลสำรวจทิศทาง Online Shopping โดย MasterCard

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

logo_mastercard2ปี 2552 นี้ หลายฝ่ายกังวลเรื่องของเศรษฐกิจในปีหน้าที่ว่ากันว่าจะเป็นปีเผาจริงนั้น แท้จริงแล้วแนวโน้มธุรกิจออนไลน์ของไทย ยังไปได้ดีหรือไม่ และปัจจัยใดที่ทำให้ธุรกิจไปรอดหรือมีช่องทางในการทำธุรกิจอย่างไรในปีหน้า 2552 นี้ ข้อมูลจากการสำรวจของมาสเตอร์การ์ดที่ทางอีคอมเมิร์ซได้รวบรวมมา น่าจะเป็นแนวทางในการพิจารณาทิศทางของธุรกิจ Online ของไทยได้

ปัจจัยที่มีผลต่อการซื้อขายทางอินเตอร์เน็ต จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2009

ตอบโดย Mr. Garth Viegas, Senior Business Leader, Marketing Intelligence & Planning, Asia/Pacific, Middle East & Africa, MasterCard Worldwide

การซื้อขายบนอินเตอร์เน็ตจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2009 แม้อาจจะเป็นการเติบโตที่ชะลอตัวลงเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจของโลก ปัจจัยพื้นฐานหลักๆ ที่เป็นตัวส่งเสริมการซื้อขายออนไลน์จะไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก การจ่ายเงินออนไลน์จะยังเป็นหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดที่ร้านค้าจะทำธุรกรรมกับผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจสายการบินที่มีปริมาณการแลกเปลี่ยนออนไลน์อย่างมหาศาล ผู้บริโภคจะยังคงต้องเดินทางและซื้อตั๋วทางอินเตอร์เน็ต ถึงแม้ว่าพวกเขาอาจจะลดระดับจากการซื้อตั๋วชั้นธุรกิจมาเป็นชั้นประหยัดก็ตาม การจ่ายเงินออนไลน์ยังทำให้ผู้บริโภคมีความสะดวกที่จะซื้อของจากที่ไหนก็ได้ ในเวลาใดก็ได้ นักช้อปออนไลน์ยังได้ประโยชน์จากการหลีกเลี่ยงภาวะผันผวนของค่าเงิน และเลือกที่จะซื้อสินค้าที่ราคาถูกกว่าจากแหล่งอื่น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อค่าเงินดอลล่าร์ออสเตรเลียตกลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐ แต่ยังคงมูลค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินปอนด์อังกฤษ นักช้อปมากประสบการณ์จากออสเตรเลียก็จะสามารถประหยัดเงินได้เมื่อเขาเปลี่ยนจากการซื้อของจากเว็บในประเทศอเมริกา ไปซื้อของจากเว็บในประเทศอังกฤษแทน

ปัจจัยกระตุ้นการใช้จ่ายออนไลน์ นอกจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก

ทางหนึ่งที่ร้านค้าจะจะกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อสินค้า/ บริการออนไลน์ได้ในระยะสั้น ก็คือการเสนอข้อเสนอพิเศษเพื่อส่งเสริมการขาย ที่จะดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคที่ชื่นชอบการลด/ แลก/ แจก/ แถม และกลุ่มนักช้อปมือใหม่ด้วย ถ้ากลุ่มนักช้อปมือใหม่ได้มีประสบการณ์เริ่มต้นที่ดี พวกเขาก็จะซื้อของออนไลน์ต่อไปเรื่อยๆ ทำให้การใช้จ่ายออนไลน์เติบโตขึ้น สำหรับในระยะยาว เราเห็นว่าการซื้อของออนไลน์จะเข้าไปอยู่ในตลาดหลัก ในหลายๆ ตลาด และจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ปัจจัยหลักๆ เช่น การเพิ่มความปลอดภัยของการจ่ายเงินออนไลน์เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการที่จะกระตุ้นแนวโน้มของการซื้อของออนไลน์ ผู้ค้าจำนวนมากจะผันตัวเข้าร่วมโปรแกรมสนับสนุนการใช้จ่ายออนไลน์ เพื่อที่จะเพิ่มยอดขายของตนให้มากขึ้น

ความพร้อมของผู้บริโภคในประเทศไทย เกี่ยวกับการการจ่ายเงินผ่านทางมือถือ

ตอบโดย Mr. Andrew Smith, Regional Director, Mobile Centre of Excellence, Asia/Pacific, Middle East & Africa, MasterCard Worldwide

ในด้านภาพรวม การจ่ายเงินผ่านมือถือนั้นมี 2 ประเภท ประเภทแรกคือการจ่ายทางไกลสำหรับการโอนเงินแบบ Real Time ระหว่างคนสองคน (P2P) หรือสำหรับการซื้อสินค้า/ บริการ (P2B) ยกตัวอย่างเช่น SmartMoney ในประเทศฟิลิปินน์ ที่ผู้บริโภคสามารถใช้มือถือในการโอนเงินให้แก่กัน จ่ายบิล ทำธุรกรรมกับธนาคาร (Mobile Banking) และเติมเงินในมือถือระบบ Prepaid ของตนเอง ลูกค้าของ SmartMoney ยังสามารถเลือกที่จะเชื่อมต่อมือถือของตนกับบัตร MasterCard Prepaid ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถโอนเงินเพื่อใช้ซื้อของที่หน้าร้าน หรือใช้ถอนเงินสดจากเครื่อง ATM ได้อีกด้วย

ประเภทที่สองของการจ่ายเงินผ่านมือถือก็คือ การติดตั้งระบบไร้สัมผัส (Contactless) เช่น MasterCard Paypass ที่มือถือ ยกตัวอย่างเช่น Near Field Communication (NFC) MasterCard PayPass ให้ความสะดวกแก่ผู้บริโภคในการจ่ายเงินด้วยการ แตะแล้วไป (Tap & Go) หมายความว่าผู้ถือบัตรต้องทำเพียงแค่แตะโทรศัพท์ที่มีบริการ PayPass หรือบัตร หรืออุปกรณ์อื่นบนเครื่องอาน PayPass เท่านั้นก็เป็นการเรียบร้อย ในช่วงปีที่ผ่านมา MasterCard ได้ทดลองใช้ระบบ PayPass นี้ในหลายตลาด ในหลายประเทศ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลลิปปินน์ และออสเตรเลีย

ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีบุคลิกภาพที่เหมาะสมกับการจ่ายเงินผ่านมือถือประเภท P2P/ P2B เพราะประเทศไทยนั้น อยู่ในช่วงกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีประชากรค่อนข้างน้อย มีตัวเลขของกลุ่มคนที่มีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจสูง มีการศึกษาสูง มีปริมาณการเข้าถึงของโทรศัพท์มือถือสูง และมีสัดส่วนของผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือแบบ Prepaid ที่สูงมาก และประเทศไทยก็ยังมีบุคลิกภาพที่เหมาะกับระบบการจ่ายเงินผ่านมือถือแบบ Contactless อีกด้วย และได้มีการนำร่อง เครื่องอ่านและบัตร PayPass ในประเทศไทยมาแล้ว ในปี 2005 MasterCard ได้ทำการทดลองกับ Major Ceniplex และ Payment Solution ในการออกบัตร MasterCard PayPass บัตรแรกของประเทศไทย ในชื่อว่า Ok Cash Man U PayPass Card ระบบของบัตร PayPass นั้นง่ายและเร็วกว่าการใช้เงินสด เหมาะสมอย่างที่สุดกับธุรกิจโรงหนังเพื่อให้มีการจ่ายเงินที่เร็วขึ้น ตลาดในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่าสถาบันต่างๆ ได้ให้ความสนใจในการติดตั้งระบบจ่ายเงินผ่านมือถือกันอย่างมาก การพัฒนาโครงสร้างของผู้ค้าให้รองรับการจ่ายเงินแบบ Contactless เป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการจะส่งเสริมปริมาณผู้ใช้ระบบมือถือ Contactless

แนวโน้มอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยสามารถเติบโตได้

จากผลการสำรวจของ MasterCard เกี่ยวกับการใช้จ่ายออนไลน์ ของประเทศในเอเชีย ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2008 พบว่า ในบรรดากลุ่มผู้ถูกสำรวจชาติต่างๆ ในแถบประเทศเอเชียแปซิฟิคทั้ง 8 ประเทศนั้น ประเทศไทยยังมีแนวโน้มที่จะช้อปออนไลน์มากขึ้น ถึงแม้ว่าการช้อปปิ้งออนไลน์มีอัตราส่วนเพียง 43% เท่านั้นจากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด โดยเป็นการคำนวณจากยอดนักช้อปออนไลน์เทียบกับสัดส่วนของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศ 

โดยในบรรดาผู้ถูกสำรวจชาวไทยทั้ง 43% ไทยจะแบ่งออกเป็นผู้ที่ช้อปปิ้งออนไลน์เป็นครั้งคราวมีสัดส่วนมากถึง 50% ทีเดียว ในขณะที่การช้อปปิ้งแบบออฟไลน์ หรือช้อปปิ้งตามร้านค้าทั่วไปก็มีอัตราที่สูงไม่แพ้กันคือ 48% โดยมีผู้ที่ช้อปปิ้งออนไลน์เป็นประจำเพียงแค่ 10% เท่านั้น โดยสาเหตุของการช้อปปิ้งออนไลน์ของคนไทยนั้น ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 74 เนื่องมาจากสินค้าออนไลน์ราคาถูกกว่า หรือได้รับส่วนลดที่ดีกว่าการซื้อตามร้านค้า อันดับที่ 2 ร้อยละ 48 คือ เป็นสินค้าที่หาซื้อได้ยากในท้องตลาดทั่วไป เป็นสินค้าที่ไม่มีวางจำหน่ายตามปกติ และอันดับที่ 3 ที่ทำให้คนไทยหันมาช้อปปิ้งออนไลน์ก็คือ การเห็นโฆษณา หรือมีโปรโมชั่นส่งเสริมการขายที่น่าสนใจ

โดยการซื้อสินค้าออนไลน์นั้น ผู้ซื้อคนไทยถึง 78% มักจะซื้อหลังจากเล่นเว็บมาซักระยะหนึ่ง เป็นการค้นหาข้อมูลและวางแผนการซื้อไว้ก่อน ถือเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ นักช้อปที่มีโอกาสจะซื้อแบบถูกกระตุ้น (Impulse buying) นั้นมีสัดส่วนที่น้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด โดยการกระตุ้นให้ซื้อในแต่ละครั้ง มักจะเกิดจากการที่สินค้ามีราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไปอย่างมาก และสินค้าส่วนใหญ่มักเป็นสินค้าที่หาซื้อได้ในอินเทอร์เน็ตเท่านั้น ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ที่คนมักจะซื้อด้วยการกระตุ้น ก็จะเป็นเสื้อผ้าและเครื่องประดับของผู้หญิง เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ และแผ่นซีดี/ดีวีดี ซึ่ง การซื้อที่ไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อนนี้ จะทำให้คนไทยที่ช้อปปิ้งออนไลน์เป็นครั้งคราว มีแนวโน้มจะใช้บัตรเครดิตในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เนื่องจากไม่ได้เตรียมเงินเอาไว้ล่วงหน้า

MasterCard 3 2008

คนไทยนิยมใช้เงินสดมากกว่า และจำนวนบัตรเครดิตยังไม่มาก

ในด้านของการชำระเงินออนไลน์นั้น ประเทศไทยนิยมใช้บัตรเดบิตมากกว่าบัตรเครดิตเล็กน้อย โดยมีการจ่ายผ่านบัตรเดบิตอยู่ถึงร้อยละ 46 ในขณะที่มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 41 โดยให้เหตุผลว่าความน่าเชื่อถือของบัตรเครดิต และเว็บไซต์บางแห่ง ทำให้การใช้จ่ายแบบเงินสด หรือใช้บัตรเดบิตเป็นทางเลือกที่นิยมมากกว่า ซึ่ง ปัจจัยที่ทำให้การซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

  1. อัตราการเติบโตของประชากรผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี
  2. รายได้ของประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น
  3. วัฒนธรรมของแต่ละประเทศ นั่นคือ ประเทศที่มีอัตราการเติบโตของประชากรผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสูง จะมีการใช้จ่ายผ่านทางออนไลน์สูง ในฝั่งของประเทศไทย มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพียงแค่ 13% จากทั้งประเทศเท่านั้นและเมื่อประชากรมีรายได้สูงขึ้น ก็จะทำให้เกิดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากขึ้น และในสาเหตุข้อที่ 3 ในเรื่องของวัฒนธรรม นั่นคือ คนไทยนิยมดูสินค้าจริงที่ร้านมากกว่าการเห็นภาพบนอินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว อีกทั้งไม่อยากกรอกข้อมูล และไม่ชอบการส่งสินค้า รวมทั้งไม่มั่นใจในความปลอดภัย แต่ข่าวดีก็คือ มีการคาดการณ์จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือปี 2010 เปรียบเทียบกับจำนวนผู้ใช้ในปี 2007 นั้น ประเทศไทยจะมีการขยายตัวของประชากรผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสูงขึ้นเกือบเท่าคัว คือ จาก 13.0 มาเป็น 27.9 จึงมีผลสืบเนื่องให้มีอัตราการช้อปปิ้งออนไลน์เพิ่มจาก 43.0 มาเป็น 57.5 ในปี 2010

เหตุผลอันดับหนึ่งที่ใช้บัตรเครดิต คือ ความสะดวก

การที่คนไทยใช้บัตรเครดิตในการจับจ่ายออนไลน์นั้น เหตุผลมาจาก ความสะดวกรวดเร็วมากที่สุดถึง 69% รองลงมาคือ ง่ายในการใช้จ่าย อยู่ที่ 26% และโปรโมชั่นพิเศษมีผลแค่ 8% เท่านั้น โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้นักช้อปออนไลน์ของไทยตัดสินใจซื้อ คือ ในเรื่องความปลอดภัยของการจ่ายเงิน มีผลมากถึงร้อยละ 90 วิธีจ่ายเงินที่สะดวกก็จะทำให้เกิดการซื้อมากขึ้นเช่นกัน และปัจจัยด้านราคา ก็มีผลกับการตัดสินใจซื้อถึงร้อยละ 86 ในเรื่องของ ความปลอดภัยในการชำระเงินนั้น สำหรับประเทศที่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้น้อย จะมีความระมัดระวังเรื่องนี้เป็นพิเศษ หมายความว่า หากประเทศใดที่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น จะสร้างความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัย และทำให้เกิดการช้อปออนไลน์ด้วยบัตรเครดิตมากขึ้น

สินค้าทีช้อปมากสุด

สินค้าที่ขายได้มากที่สุดในเอเชียแปซิฟิก

  1. หนังสือและงานศิลปะ
  2. อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์
  3. คือ CD DVD และ VCD
  4. เสื้อผ้าแฟชั่นของผู้หญิง
  5. ตั๋วเครื่องบิน
  6. ของเล่นและของขวัญ
  7. ของอุปโภค บริโภค
  8. บัตรภาพยนตร์และคอนเสิร์ต
  9. เครื่องสำอาง
  10. ของใช้ส่วนตัว
  11. จองโรงแรม
  12. เสื้อผ้าแฟชั่นของผู้ชาย
  13. ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
  14. ยา
  15. ประกันภัย

เมื่อมองถึงสินค้าที่ขายได้มากที่สุดทั้ง 15 อันดับแล้ว พบว่า สินค้าที่มีขนาดเล็กถึงขนาดกลาง และสินค้าบริการ เช่น บัตรภาพยนตร์และตั๋วเครื่องบิน จะทำให้กลุ่มที่มีโอกาสจะซื้อ ซื้อได้เร็วยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ดี สินค้าอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดการซื้ออย่างฉับพลัน (Impulse Buying) ได้เช่นกัน

กล่าวโดยสรุป คือ การใช้จ่ายผ่านทางอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยนั้น ยังคงมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2009 โดยการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มอัตราส่วนของผู้ซื้อแบบออนไลน์ได้ดี ล่าสุดผลการสำรวจดัชนีความมั่นใจของผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคของมาสเตอร์การ์ด พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของคนไทย แม้จะลดลงจากปีที่แล้ว แต่ก็ยังสูงกว่าครั้งล่าสุดที่ได้สำรวจมา และสูงกว่าตอนเกิดเหตุการณ์ต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 ในขณะที่สภาพเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของทั่วโลกจะมีดัชนีที่ลดลงก็ตาม จึงกล่าวได้ว่า แนวโน้มของอีคอมเมิร์ซในปีหน้านี้ อาจมีโอกาสที่จะทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ได้มากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยยังมีช่องว่างของผู้ที่ยังไม่เคยซื้อสินค้าออนไลน์อยู่สูงทีเดียว และปัจจัยเสริมก็คือ การเพิ่มขึ้นของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในปีหน้าจะทำให้มีผู้ที่มีแนวโน้มจะซื้อสินค้าออนไลน์มากยิ่งขึ้น


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •