แม้รัฐบาลจะประกาศว่าตัวเลขจีดีพีของไทยจะสูงขึ้น (+3.7) แต่ในความรู้สึกของคนไทยกลับยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังไม่ดีเท่าที่ควร และปัญหาการว่างงานก็ยังมีอยู่ ถ้าเช่นนั้นความเป็นจริงเกี่ยวกับการว่างงานนั้นเป็นอย่างไร
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา บริษัทจัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัดหรือ JobDB.com เผยผลสำรวจพบว่า แนวโน้มตลาดงานส่อแววซบเซาหลายประเทศในอาเซียน ขณะที่ผู้ประกอบการในไทยกลับมองว่าสถานการณ์จ้างงานปีนี้ขยายตัวดี สวนทางการคาดการณ์ของภูมิภาค ในขณะที่ผู้หางานมีทัศนคติเชิงลบต่อการหางานเป็นผลมาจากการแข่งขันสูงในสายงานและความยากในการเข้าถึงตำแหน่งงานที่ดี และช่องทางออนไลน์เป็นช่องทางอันดับหนึ่งที่ผู้หางานนิยมใช้
นพวรรณ จุลกนิษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จะส่งผลให้กำลังซื้อกลับมาสดใส และภาคการผลิตเริ่มกลับเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมอีกครั้ง ทำให้ตลาดการจ้างงานเตรียมฟื้นตัวขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี ความท้าทายที่เกิดขึ้นอีกประการหนึ่ง คือแรงงานทักษะสูงที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางยังไม่เพียงพอต่อความต้องการนายจ้างส่วนใหญ่ ก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างแรงงานทักษะสูงและแรงงานทักษะพื้นฐานที่ล้นตลาดและจะกลายเป็นผู้ว่างงานในที่สุด
ภาพรวมทัศนคติต่อตลาดแรงงาน 6 ประเทศอาเซียน
โดยภาพรวมของผู้ประกอบการ 6 ประเทศอาเซียน ประกอบด้วย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มองว่าปีนี้ตลาดแรงงานจะซบเซากว่าปีก่อน ถึง 60% และมีเพียง 13% เท่านั้นที่มองว่าจะดีกว่าปีที่แล้ว ในขณะที่ทางฝั่งผู้หางานก็มองไปนทางเดียวกัน โดย 44% มองว่าตลาดแรงงานจะซบเซาเช่นกัน และมีเพียง 23% เท่านั้นที่มองว่าจะดีกว่าปีที่แล้ว
ส่วนแนวโน้มการจ้างงานของผู้ประกอบการในภูมิภาคอาเซียน 50% คิดว่าจะจ้างพนักงานในลักษณะเพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างเท่านั้น โดยมีเพียง 22% ที่บอกว่าจะมีการจ้างงานเพิ่ม ในขณะที่ 7% มีความคิดว่าจะไม่จ้างพนักงานเพิ่มขึ้นเลย โดยมีเพียง 2 ประเทศที่มองว่าตลาดแรงงานในปีนี้เป็นได้ในทางบวกได้แก่ ฟิลลิปปินส์ และเวียดนาม
บทสรุปสำหรับภูมิภาคอาเซียน
คาดการณ์ตลาดแรงงานในภูมิภาคอาเซียน โดยภาพรวมมองว่า “ซบเซา” กว่าปีที่แล้ว โดยมองว่าน่าจะมีการหดตัวเล็กน้อย เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมของอาเซียนเป็นช่วงขาลง เป็นผลจากการปรับตัวของราคาน้ำมันโลกและการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศจีน
โดยทั้งผู้ประกอบการและผู้หางานต่างเห็นว่า ตลาดงานทั้งภูมิภาคในปีนี้ มีแนวโน้มค่อนข้างซบเซาเมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ประกอบการก็ยังมองโลกในดีกว่าผู้หางาน
ภาพรวมตลาดแรงงานไทย
ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะเติบโตอยู่ที่ 3.5% รายงานยังระบุว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาคการส่งออกที่เพิ่มขึ้นถึง 6.6% ซึ่งสูงที่สุดในรอบสี่ปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับรายงานของ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ระบุว่า เศรษฐกิจไทยกำลังขยายตัวในทิศทางตรงกันข้ามกับการขยายตัวของตลาดแรงงานในไทย โดยผลสำรวจการทำงานโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประจำเดือนกรกฎาคม 2560 พบว่าคนไทยว่างงานเพิ่มขึ้นรวม 4.76 แสนคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.5 หมื่นคน
43% ผู้ประกอบการเล็งขยายกิจการ
ผลสำรวจการคาดการณ์ตลาดงานในไทย พบว่า 43 % ของบริษัทที่ร่วมสำรวจคาดว่าธุรกิจจะขยายกิจการและจ้างงานเพิ่ม ขณะที่ 39% คาดว่าจะมีการจ้างงานเพื่อทดแทนตำแหน่งงานเดิมที่ว่างลงหรือเฉพาะตำแหน่งงานที่จำเป็นเท่านั้น ความต้องการผู้หางานที่มีความสามารถยังมีต่อเนื่องเป็นผลจากการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ โดยเฉพาะธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค บริการและค้าปลีก
ที่นี่สนใจมากคือ ผู้ประกอบการคาดว่า ‘ธุรกิจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ’จะเติบโตดีกว่าปีก่อน โดยได้คะแนนระดับ 7 (จากคะแนนเต็ม 7) ซึ่งเท่ากันกับธุรกิจการผลิต ด้านผู้หางานมองว่า ธุรกิจบริการด้านการเงิน (3.86) ธุรกิจด้านโทรคมนาคม (3.83) และธุรกิจการผลิต (3.53) จะเติบโตน้อยกว่าปีก่อน
เกิดช่องว่างความคิด ระหว่างผู้ประกอบการ VS.ผู้หางาน
รายงานยังระบุอีกว่า 39% ของผู้ประกอบการคาดการณ์ว่าตลาดแรงงานในประเทศไทยจะดีขึ้นกว่าปีก่อน (ผู้ประกอบการให้คะแนนเฉลี่ยที่ 4.30 คะแนน) ซึ่งสวนทางกับมุมมองของผู้หางานกว่า 50% ที่เชื่อว่าตลาดงานจะซบเซากว่าปีที่ผ่านมา ความย้อนแย้งของบริบทดังกล่าว
ชี้ให้เห็นว่า แม้ความต้องการแรงงานของนายจ้างในประเทศไทยจะมีทิศทางขยายตัวขึ้น แต่ครึ่งหนึ่งของผู้หางานที่ตอบแบบสอบถามกลับไม่เชื่อมั่นว่าจะมีตำแหน่งงานรองรับอย่างเพียงพอ โดยปัจจัยที่ทำให้ผู้หางานมองภาพรวมตลาดงานในเชิงลบ เป็นผลจากการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นระหว่างผู้หางานที่อยู่ในสายงานเดียวกัน ประกอบกับความยากในการเข้าถึงตำแหน่งงานที่ตรงใจผู้หางาน
โดยประเภทธุรกิจที่ผู้หางานคาดการณ์ว่าจะมีโอกาสได้ค้นพบตำแหน่งงานที่ตรงใจ 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (3.63) ธุรกิจการผลิต (3.53) และธุรกิจโทรคมนาคม (3.50) นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์อีกว่า การแข่งขันในสายงานของธุรกิจพลังงาน (6.20) ธุรกิจการผลิต (5.93) และธุรกิจโทรคมนาคม (5.67) จะมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น (ตามภาพ)
ทั้งนี้ ผู้หางานยังให้ความคิดเห็นต่อการเติบโตของตลาดงานอีกว่า จากแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจต่างๆ รวมทั้งบริษัทต่างชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย ประกอบกับสัญญาณการเติบโตในเชิงบวกของธุรกิจสตาร์ทอัพ จะก่อให้เกิดอาชีพใหม่หรือรูปแบบการทำงานที่หลากหลายมากขึ้นทำให้เกิดทักษะการทำงานใหม่ที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับเนื้องาน ส่งผลให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ ๆ มากยิ่งขึ้น
ช่องทางในการหางานในปัจจุบัน
ในรายงานชี้ให้เห็นว่า 52% ของผู้หางาน เลือกใช้ ‘ช่องทางออนไลน์’ ในการค้นหาตำแหน่งงาน ซึ่งความนิยมในการใช้ช่องทางออนไลน์หางานมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน ไม่เพียงเท่านี้รายงานยังระบุอีกว่า ผู้หางานใช้เว็บไซต์งานในการติดตามและดูความเคลื่อนไหวตลาดงาน อยู่ที่ 5.53 คะแนน ในขณะที่มีการใช้เว็บไซต์งานสมัครงานใหม่อยู่ที่ 5.47 คะแนน
ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรหันมาให้ความสำคัญกับการใช้ช่องทางออนไลน์ เพื่อดึงดูดผู้หางานคุณภาพ การใช้ช่องทางออนไลน์ เช่น เลือกใช้เว็บไซต์งานที่มีคุณภาพนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้หางานในการค้นหาและเข้าถึงตำแหน่งงานดี ๆ ได้ตลอดเวลาแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการได้งานอีกด้วย
นอกจากนี้ข้อมูลจากการสำรวจของจ๊อบส์ดีบี พบว่าการอัปเดตโปรไฟล์อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ 80% ของผู้หางานได้รับการติดต่อเสนองานและ 74% ได้งานทำภายใน 1 เดือนหลังจากสมัครงาน
5 อันดับ อาชีพในช่วง 1-3 ไตรมาส ที่ได้รับการตอบรับจากการสมัครงานผ่าน JobsDB.com
- เซลล์
- มาร์เก็ตติ้ง
- วิศวะ
- แอดมิน HR.
- IT
นางนพวรรณ กล่าวว่า กุญแจสำคัญในการดึงดูดคนคุณภาพให้เข้ามาร่วมงาน ภายใต้สภาวะที่ตลาดงานมีการแข่งขันสูง ผู้ประกอบการควรใช้สื่อออนไลน์ให้เกิดประโยชน์ เชื่อว่าในปัจจุบันนอกจากใช้เพื่อ การสร้างแบรนด์องค์กร การทำการตลาด และติดต่อสื่อสารกับลูกค้าแล้ว ช่องทางออนไลน์ยังกลายเป็นช่องทางหลักที่ใช้ในการสรรหาว่าจ้างและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ขององค์กรได้อีกด้วย
นอกเหนือจากการคำนึงถึงการเพิ่มจำนวนบุคลากรในองค์กรแล้ว สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการควรให้ความใส่ใจอีกเรื่องหนึ่งคือ วิธีการรักษาและพัฒนาศักยภาพของพนักงานให้อยู่ในองค์กรต่อไปได้ การสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กรอย่างเดียวอาจยังไม่เพียงพอ ผู้ประกอบการควรลงทุนเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการสนับสนุนงานที่ช่วยเพิ่มคุณภาพ ทักษะของพนักงาน เพิ่มโอกาสและรายได้ เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นและพัฒนาความสามารถของพนักงาน รวมไปถึงความเท่าเทียมกันของทุกคน อีกทั้งต้องเตรียมพร้อมรับมือกับกลุ่มมนุษย์งานพันธุ์ใหม่ที่ทยอยเข้าสู่ตลาดงาน ซึ่งเป็นคนกลุ่มที่เชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง เห็นคุณค่าของตัวเองมากกว่าที่จะยึดติดกับบริษัท และพร้อมที่จะลาจากเมื่อไม่เป็นที่ยอมรับ ทำให้วิธีการทำงานที่ถอดรูปแบบสมการเดิม
“นั่นคือการทำงานเพื่อเงินเดือนใช้ไม่ได้กับแรงงานกลุ่มใหม่นี้อีกต่อไป เพราะแรงงานกลุ่มนี้ชอบการทำงานที่วัดผลได้ หากทำงานจนได้ผลลัพธ์ในเชิงบวก ก็พร้อมที่จะลงแรงเพื่อเพิ่มตัวคูณให้กับสมการดังกล่าว นั่นหมายถึงว่าการทำงานได้คุ้มค่ากับเงินเดือนยังไม่เพียงพอ แต่งานนั้นต้องสร้างประโยชน์ได้มากกว่าแค่เงินเดือนเพิ่ม และต้องพัฒนาให้พวกเขามีทักษะอื่น ๆ ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในฐานะทุนมนุษย์ด้วย”
สรุปคำแนะนำแก่ผู้ประกอบการ
- สร้างแบรนดให้แข็งแกร่ง
- ใช้สื่อออนไลน์ให้เป็นประโยชน์
- มีโอกาสได้พนักงานที่มีความสามารถที่โดดเด่น
- จัดโปรแกรมฝึกอบรมเพื่อรักษาพนักงาน
- มีการวางแผนกำลังคนและใช้กระบวนการสรรหาที่ดี
- กำหนดแผนการถ่ายทอดความรู้
สรุปคำแนะนำแก่ผู้หางาน
- ผู้หางานต้องเพิ่มทักษะทั้งด้านวิชาชีพ ทักษะด้านภาษา และทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้มากขึ้น
- ผู้หางานควรที่จะต้องอัปเดทโปรไฟล์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเปิดโอกาสให้พบงานดีๆ
- ผู้หางานควรใช้ช่องทางออนไลน์ในการหางานอัปเดทโปรไฟล์และสมัครงาน