เราคงเคยเจอกับช่วงเวลาที่ปัญหารุมเร้าทุกทิศทางจนไม่รู้จะรับมือยังไง ทั้งงานเยอะ เจ้านายไม่เข้าใจ เพื่อนร่วมงานขี้บ่น สารพัดปัญหาที่พร้อมจะทำให้รู้สึกแย่ไปทั้งวันและไม่รู้จะผ่านพ้นวันนี้ไปได้ยังไง แต่รู้หรือไม่ว่าล่าสุดมี “งานวิจัย” ค้นพบว่ามีคนประเภทหนึ่งที่ผ่านปัญหาเหล่านี้ไปได้อย่างง่ายดายนั้นก็คือ “คนขี้เล่น” เพราะคนกลุ่มนี้มีสกิลที่เรียกว่า “Lemonading” ที่ทำให้ชีวิตผ่านเรื่องยากๆไปได้ง่ายขึ้น
งานวิจัยที่ว่านี้มาจาก Oregon State University ในสหรัฐอเมริกาสำรวจความคิดเห็นของคนอเมริกันวัยผู้ใหญ่ถึงช่วงเวลาที่โควิด-19 กำลังระบาดหนักๆเพื่อเปรียบเทียบ “คนขี้เล่น” กับ “คนที่ไม่ค่อยขี้เล่น” ว่ารับมือกับช่วงเวลาที่ยากลำบากแบบนั้นต่างกันยังไง?
งานวิจัยนี้ทำอย่างไร?
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 ทีมนักวิจัยสำรวจความคิดเห็นของคนอเมริกันวัยผู้ใหญ่ถึง 503 คน ในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดหนักๆ โดยทีมนักวิจัยอยากรู้ว่า คนที่มี “ความขี้เล่น” กับ “คนที่ไม่ค่อยขี้เล่น” จะรับมือกับช่วงเวลาที่ยากลำบากแบบนั้นต่างกันอย่างไร?
ในแบบสำรวจ จะมีคำถามเจาะลึกไปถึงเรื่องต่างๆ เช่น ประสบการณ์ช่วงโควิด-19 เจออะไรมาบ้าง? รู้สึกยังไง มีคนช่วยเหลือ ให้กำลังใจกันไหม? กังวลมากน้อยแค่ไหน? คิดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นไหม? จัดการความรู้สึกตัวเองยังไง? ทำอะไรเพื่อรับมือกับสถานการณ์?
ที่สำคัญคือแบบสำรวจจะมีคำถามวัด “ความขี้เล่น” ของแต่ละคนด้วย! เช่น ถามว่าตัวเองเป็นคนเป็นคนเปิดรับอะไรใหม่ๆแค่ไหน? รู้สึกเหนียมอายในสถานการณ์ต่างๆ หรือเปล่า? รวมถึงมีแรงจูงใจที่จะหาความสนุกมากน้อยแค่ไหน?
พอกรอกแบบสอบถามเสร็จ นักวิจัยเค้าก็เอาข้อมูลมา เปรียบเทียบกัน ระหว่างกลุ่มคนที่ “ขี้เล่นที่สุด” กับกลุ่มคนที่ “ขี้เล่นน้อยที่สุด” แล้วเค้าก็ค้นพบสิ่งที่น่าสนใจมากๆ ว่า คนที่มีความขี้เล่นสูง ถึงจะเจอสถานการณ์โควิด-19 ที่ยากลำบากเหมือนคนอื่นๆ แต่เค้ากลับ
- มองโลกในแง่ดีกว่า มีความหวังว่าอนาคตจะดีขึ้น ชีวิตจะกลับมาเป็นปกติได้
- รับมือกับความเสี่ยงได้ “จริงจัง” แต่ไม่ “เครียด” ถึงจะรู้ว่าโควิด-19 อันตราย แต่ก็ยังมองโลกในแง่ดี และเชื่อมั่นในมาตรการป้องกันต่างๆ
- “สู้” ปัญหาด้วยวิธีที่ “สร้างสรรค์” กว่า ถึงจะรู้สึกเปราะบางและโดดเดี่ยวเหมือนกัน แต่คนขี้เล่นจะ “ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง” เพื่อจัดการกับปัญหา คิดหาทางออกใหม่ๆ ที่ไม่เหมือนใคร
Lemonading คืออะไร?
คุณ Shen นักสังคมศาสตร์จาก Oregon State University หนึ่งในทีมวิจัย อธิบายว่า “ความขี้เล่น” เหมือน “ชุดเครื่องมือทางจิตใจ” ที่ช่วยให้คนเราเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนการกระทำไปในทางที่ “สร้างสรรค์” และ “หาทางออก” ได้ดีกว่าเดิม
คุณ Shen บอกด้วยว่า “คนขี้เล่น” จะเก่งในเรื่องที่เรียกว่า “Lemonading” ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่ทีมวิจัยคิดขึ้นมาเอง เพื่อใช้อธิบายว่า คนขี้เล่นเค้ารับมือกับสถานการณ์ยากๆ ได้อย่างไร โดยอิงจากสำนวนดัง “When life gives you lemons, make lemonade” (เมื่อชีวิตให้มะนาวมา ก็ทำน้ำมะนาวซะ!)
คุณ Shen อธิบายด้วยว่า “อย่าเข้าใจผิดว่า ‘Lemonading’ คือการมองข้ามปัญหา งานวิจัยเราแสดงให้เห็นว่า คนขี้เล่นจะรู้ทันสถานการณ์ คนกลุ่มนี้จะรู้ว่ามีปัญหาอยู่จริง แต่จะมีความสามารถพิเศษในการมองหา และสร้างโอกาสดีๆ ให้ตัวเองได้”
Lemonading ฝึกได้
คุณเดวิด สปีเกล ผู้อำนวยการศูนย์ความเครียดและสุขภาพของ Stanford Center แนะนำเอาไว้ว่าให้ลองฝึก 4 วิธีคิดนี้เพื่อเพิ่มทักษะ Lemonading ให้กับตัวเอง
1.เอ็นจอยทุกโมเมนต์ : เป็นวิธีคิดที่ให้เราได้ลองโฟกัสกับเรื่อง “ระหว่างทาง” มากกว่าแค่ “ปลายทาง” ชื่นชมคนรอบข้าง มองหาเรื่องดีๆ เล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวัน เช่น แทนที่จะหงุดหงิดตอนรถติด ลอง ฟังเพลงที่ชอบ คุยเล่นกับเพื่อนร่วมทาง หรือ มองวิวข้างทาง เพลินๆ ก็ได้
2. ให้ความสำคัญกับ “ความสนุก” : เลิกถามตัวเองว่า “วันนี้ทำงานได้เยอะแค่ไหน?” แล้วลองถามตัวเองว่า “วันนี้มีโมเมนต์สนุกๆ บ้างไหม?” แทน แล้วหาเรื่องสนุกๆ ทำทุกวัน
3. เปลี่ยน คิดลบ เป็น คิดบวกเวลาเจอเรื่องแย่ๆ แทนที่จะจมดิ่งกับความคิดลบลอง “สลับความคิด” หาเรื่องดีๆ ที่ทำให้รู้สึกดี มา “แทนที่” ความคิดลบเหล่านั้น เช่น แทนที่จะคิดว่า “งานเยอะจนปวดหัว” ลองเปลี่ยนเป็น “งานเยอะ แต่เราก็ได้เรียนรู้เยอะนะ” หรือ “อย่างน้อยก็ได้ทำอะไรใหม่ๆ ไม่น่าเบื่อ”
4.ชวนคนรอบข้างมา “เล่น” ด้วยกัน: ลอง บอกเพื่อนร่วมงาน บอกคนในครอบครัว ว่าเราอยากเป็นคนขี้เล่นมากขึ้น แล้ว ชวนเค้ามาสนุกด้วยกัน เช่น จัดปาร์ตี้เล็กๆ ที่ออฟฟิศ ชวนกันไปกินข้าวกลางวัน ร้านใหม่ๆ หรือ เล่นบอร์ดเกมหลังเลิกงาน
ผู้เชี่ยวชาญย้ำว่า “Lemonading” ไม่ใช่การมองโลกสวยแบบหลอกตัวเองแต่เป็นการ “มองโลกในแง่บวก” แบบคนฉลาด ที่รู้ว่าต่อให้เจอเรื่องแย่ๆ เราก็ยังมี “ทางเลือก” ที่จะ “สร้างความสุข” ให้ตัวเองได้เสมอ
และนี่ก็คือสกิล “Lemonading” ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ในชีวิตการทำงานได้ เอาไว้ใช้รับมือกับปัญหาต่างๆ เพื่อเปลี่ยนให้วันทำงานที่บางครั้งอาจเป็นวันแย่ๆให้กลับมาเป็นวันที่ดี ช่วยให้เรามีความสุขกับการทำงานมากขึ้นได้