ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมาถือเป็นหายนะครั้งใหญ่ของโลกผลกระทบเกิดขึ้นทุกภาคส่วน หลายคนมักนำไปเปรียบเทียบกับช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 ซึ่งหากมองลงไปในรายละเอียดจะพบว่า วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งบริษัทที่ทำการค้าระหว่างประเทศจะได้รับผลกระทบรุนแรงสุด ขณะที่บริษัทที่ทำการค้าภายในประเทศจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ขณะที่สถานการณ์ COVID-19 ส่งผลกระทบกับทั้งบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่ทำการค้าระหว่างประเทศหรือบริษัทที่ทำการค้าภายในประเทศต่างก็ได้รับผลกระทบถ้วนหน้า โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่มีเงินทุนน้อยจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มี Cashflow สูง จะสามารถผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ และสิ่งที่เห็นได้ชัดคือการปลดพนักงานออกในช่วงวิกฤติ COVID-19
จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) – JobsDB เผยผลสำรวจผู้ประกอบการและคนทำงานถึงผลกระทบสถานการณ์ COVID-19 ครอบคลุมคนทำงานกว่า 1,400 คนและผู้ประกอบการกว่า 400 ราย โดยพบว่า 25% ของคนทำงานได้รับผลกระทบโดยตรง แบ่งเป็นถูกเลิกจ้างถึง 9% และถูกให้หยุดงานแต่ยังคงสถานะลูกจ้างอีก 16% ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ กลุ่มเงินเดือนต่ำกว่า 16,000 บาท ในรูแบบสัญญาจ้างและอายุมากกว่า 45 ปีที่ทำงานให้กับองค์กรที่มีพนักงานน้อยกว่า 50 คน
นอกจากนี้ยังได้สำรวจ “ดัชนีความสุขในการทำงานของแรงงานไทย” โดยก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19 พบว่ามีความสุขกับการทำงานอยู่ที่ 85% แต่หลังเกิดวิกฤติกลับมีความสุขลดลงเหลือเพียง 59% นอกจากนี้ยังพบว่ามาตรการ Work from Home ทำให้ความสุขในการทำงานลดลง 3 เท่า เป็นเพราะต้องทำงานหนักขึ้น ได้รับแรงกดดันมากขึ้น และมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานขึ้น
ด้าน นางสาวพรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ชี้ว่า หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างคาดการณ์ไว้ว่า สถานการณ์ COVID-19 จะทำให้คนไทยตกงานราว 3-8 ล้านคน ขณะที่พนักงานที่ยังทำงานอยู่พบว่า 48% ถูกให้ทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) ขณะที่ 45% ได้รับผลกระทบในเชิงรายได้ โดยแบ่งเป็น 27% ไม่ได้รับโบนัส ส่วน 20% ไม่ได้รับการปรับเงินเดือนขึ้น และ 14% ถูกลดเงินเดือนลง 11%- 30% ของรายได้
ในด้านของผู้ประกอบการก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบาย โดย 52% ต้องให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) ขณะที่ 47% ต้องปรับนโยบายการจ้างงาน ซึ่งแบ่งเป็น 39% ต้องหยุดรับพนักงานใหม่ ขณะที่อีก 12% จำเป็นต้องลดพนักงานลง นอกจากนี้ยังพบความกังวลของผู้ประกอบการ โดย 52% กังวลถึงรายได้และสภาพการหมุนเวียนทางการเงิน ขณะที่ 41% กังวลในความเป็นอยู่ของพนักงาน ส่วน 38% กังวลในความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรและพนักงาน และ 4% กังวลในด้านการหาพนักงานใหม่
จากแบบสำรวจ Laws of Attraction ยังพบปัจจัยในการมองหางานและปัจจัยในการเลือกองค์กรที่จะเข้าไปทำงานด้วย โดยแบ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจเข้าทำงาน ประกอบไปด้วย เรื่องของเงินเดือนและค่าตอบแทน, ความสมดุลในการทํางานและการใช้ชีวิต, โอกาสความก้าวหน้า, เพื่อนร่วมงาน, ความมั่นคงในการทำงาน, สถานที่ตั้งของที่ทำงาน และสวัสดิการอื่นๆ
ขณะที่ปัจจัยในการเลือกองค์กรที่จะเข้าไปทำงานด้วย ประกอบไปด้วย การบริหารงานและทีมผู้บริหาร สภาวะแวดล้อมในการทำงาน, ชื่อเสียงของบริษัท, วัฒนธรรมองค์กร, การเติบโตของบริษัท, ความรับผิดชอบต่อสังคมและกระบวนการสรรหาบุคลากร
อย่างไรก็ตาม คนไทยให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงในการเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในการสำรวจจากทั้งหมด 6 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย 68% ต้องการได้งานประจำทำ ขณะที่ 40% ต้องการทำงานในบริษัทที่มั่นคง มีการดำเนินธุรกิจมายาวนานและมีสถานภาพทางการเงินที่ดี ส่วน 32% ต้องการทำงานในบริษัทที่มีพนักงานอยู่นานมีการลาออกน้อย
โดยหลายคนมองปัจจัยในเรื่องของสวัสดิการสำหรับพนักงานมากกว่าปัจจัยอื่นๆ ถึง 3 เท่า ขณะที่มองเรื่องของสถานที่ตั้งของที่ทำงาน มากกว่าปัจจัยอื่นๆ ถึง 2 เท่า และมองเรื่องความสมดุลในการใช้ชีวิตและการทำงานมากกว่าปัจจัยอื่นๆ ถึง 1.6 เท่า
เมื่อเปรียบเทียบการค้นหางานในช่วงเดือนพฤษภาคมแบบปีต่อปีจะพบว่า มีการค้นหางานมากกว่า 77 ล้านครั้งและมากกว่าในช่วง 3 เดือนก่อนถึง 26% ขณะที่การค้นหาคำแนะนำเรื่องงานมีมากกว่า 4 ล้านครั้งเมื่อเทียบปีต่อปีและมากกว่าในช่วง 3 เดือนก่อนถึง 10% นอกจากนี้ยังพบว่ามีการค้นหางานใน JobsDB มากกว่าเว็บหางานอื่นๆ ถึง 4 เท่า
สถานการณ์ COVID-19 ที่เริ่มดีขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้การหางานเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยพบว่า มากกว่า 36% มีการค้นหาในสายงาน Digital Marketing ขณะที่ในสายงาน Graphic Designer มีการค้นหางานมากขึ้นถึง 20% ส่วนงานที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษที่ผ่าน TOEIC (Test of English for International Communication) มีการค้นหามากขึ้นถึง 15% โดยจำนวนใบสมัครที่มากที่สุดจะอยู่ในกลุ่มนักศึกษาจบใหม่มากกว่า 62%
อย่างไรก็ตามการจ้างงานในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ผู้ประกอบการกว่า 88% คาดว่าการจ้างงานจะกลับมา ขณะที่ 33% มีแผนในการจ้างงานผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 โดยพบว่า 53% จะเป็นการจ้างงานเด็กนักศึกษาจบใหม่ และคาดว่าจะมีนักศึกษาจบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานปี 2563 จำนวนกว่า 520,000 คน
สำหรับ 5 อันดับสายงานที่ผู้ประกอบการจะมีการว่าจ้างในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 ประกอบไปด้วย กลุ่มสายงานไอที, กลุ่มสายงานการตลาดและงาน PR, กลุ่มงานขาย งานบริการลูกค้าและงานพัฒนาธุรกิจ, กลุ่มงานท่องเที่ยว งานโรงแรมและงาน Food&Beverage ซึ่งเป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ และกลุ่มงานจัดซื้อ
“ในส่วนขององคฏร์นั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเร่งสร้างในช่วงครึ่งปีหลัง คือการสร้างความสัมพันธ์ในองค์กรเพื่อให้เกิดความจงรักภักดีต่อองค์กรของพนักงาน รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นคงในการทำงาน และเพราะในปัจจุบันการทำงานเกิด New Normal ทำให้องค์กรต้องสร้างความสมดุลในการใช้ชีวิตและการทำงาน”
พร้อมกันนี้ จ๊อบส์ ดีบี ได้ขยายโครงการ “ทูเก็ตเทอร์อเฮด” (#TogetherAhead) จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2563 เพื่อช่วยเหลือผู้หางานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ถือเป็นอีกช่องทางให้ผู้ประกอบการได้คนทำงานที่ตรงใจ รวมถึงผู้หางานได้พบงานที่ดีมีคุณภาพจากองค์กรชั้นนำที่น่าเชื่อถือ
“ในอนาคต จ๊อบส์ ดีบี จะมีการใช้ข้อมูลในการเข้ามาเปรียบเทียบเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการทั้งผู้หางานและบริษัทที่ต้องการหาคน รวมไปถึงการมองหาเทคโนโลยี AI ในอนาคตที่จะเข้ามาช่วยเหลือให้การรับสมัครงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”