ไม่ว่าคุณจะเชื่อหรือไม่ แต่ IBM ได้บอกไว้ว่า ธุรกิจดั้งเดิม หรือ Incumbent จะเป็นผู้นำการสร้างความเปลี่ยนแปลงในทุกอุตสาหกรรม ไม่ใช่กลุ่มสตาร์ทอัพหรือแม้แต่ผู้ประกอบการรายใหม่ เพราะกลุ่มธุรกิจดั้งเดิมนั้นมีข้อมูลจำนวนมหาศาลซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี
สำหรับข้อมูลน่าสนใจที่ IBM เปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว คือ ผู้บริหารระดับสูงทั่วโลกกว่า 72% มองว่าธุรกิจดั้งเดิมยังเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและมีบทบาทในทุกๆ อุตสาหกรรม ด้วยเหตุผลที่กล่าวไปแล้วข้างต้น จากประโยชน์ในการครอบครองข้อมูลจำนวนมหาศาล ทำให้สามารถนำข้อมูลดังกล่าวผสานเข้ากับเทคโนโลยีคลาวด์ AI หรือบล็อกเชน เพื่อสร้างนวัตกรรม ทำให้กลุ่มธุรกิจดั้งเดิมกลายเป็นผู้มีอิทธิผลจนสามารถสร้างแรงสะเทือนในอุตสาหกรรม หรือที่เรียกว่า Incumbent Disruptor
ผลสำรวจล่าสุดโดยสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจ IBM Institute for Business Value ได้สำรวจความคิดเห็นและสัมภาษณ์เชิงลึกผู้บริหารระดับสูงกว่า 12,500 คนจากบริษัทชั้นนำทั่วโลก ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีผู้บริหารเพียง 22% ที่มองว่าบริษัทขนาดเล็กและบริษัทสตาร์ทอัพเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงที่มีกระทบต่ออุตสาหกรรม ขณะที่ 1 ใน 3 ระบุว่าได้รับผลกระทบน้อยมาก หรือไม่ได้รับผลกระทบเลยจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมของตน
เรื่องนี้ เจมส์ โคสิส พาร์ทเนอร์และรองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจไอบีเอ็ม โกลบอล บิสสิเนส เซอร์วิส IBM ประเทศไทย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ราวหนึ่งปี เราเชื่อว่าบริษัทขนาดใหญ่และธุรกิจดั้งเดิมทั่วโลกกำลังเผชิญความเสี่ยงที่จะถูกแทรกแซงและแย่งตำแหน่งโดยบริษัทสตาร์ทอัพและผู้เล่นหน้าใหม่ที่เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล ซึ่งความเข้าใจนี้มีส่วนจริง หลายบริษัทได้ก้าวผ่านระยะแรกของการถูกสั่นคลอนโดยผู้มาใหม่และบรรดาบริษัทสตาร์ทอัพที่เก่งๆ มาแล้ว แต่การเข้าสู่ยุคใหม่ของธุรกิจที่นวัตกรรมคลื่นลูกใหม่อย่างปัญญาประดิษฐ์ คลาวด์ และบล็อกเชน รวมถึงประสบการณ์ยาวนานที่ผู้มาใหม่ไม่สามารถลอกเลียนหรือเอาชนะได้ จะสร้างข้อได้เปรียบและเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ธุรกิจดั้งเดิมกลับมาเป็นผู้สร้างแรงสั่นสะเทือนในอุตสาหกรรม
เพราะข้อมูลได้กลายเป็นสินทรัพย์ที่ทรงพลังที่สุดของบริษัทที่ก่อตั้งมานาน และเนื่องจากข้อมูลในโลกนี้มีเพียง 20% ที่เป็นข้อมูลสาธารณะสามารถสืบค้นได้ผ่านอินเทอร์เน็ต ขณะที่ธุรกิจดั้งเดิมเป็นเจ้าของข้อมูลถึง 80% ของข้อมูลที่มีอยู่ทั่วโลก ข้อมูลเหล่านี้เป็นผลมาจากการผสานรวมความรู้เชิงลึก ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญของบุคลากรในองค์กรมาอย่างยาวนาน โดยกลุ่มธุรกิจดั้งเดิมได้นำข้อมูลเหล่านี้มาใช้เพื่อปรับปรุงองค์กรและกระบวนการต่างๆ พร้อมดึงนวัตกรรมคลื่นลูกใหม่อย่างปัญญาประดิษฐ์ บล็อกเชน และคลาวด์ เข้ามาเสริมความสามารถในการถอดรหัสข้อมูลและเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผู้เล่นหน้าใหม่จะสามารถต่อกรกับพวกเขาได้ง่ายๆ
ทั้งนี้ ผลการศึกษายังพบว่า 43% ของกลุ่มธุรกิจดั้งเดิมที่มีอิทธิพลต่อการสร้างแรงสะเทือนในอุตสาหกรรม มีแนวโน้มที่จะลงทุนในปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีค็อกนิทิฟ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของตน ขณะที่กลุ่มบริษัทอื่นๆ ลงทุนเพียง 25% รวมถึง ความสามารถในการใช้ข้อมูลเพื่อระบุความต้องการที่ซ่อนอยู่ของลูกค้า ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จำแนกกลุ่มองค์กรผู้นำออกจากกลุ่มอื่น โดย 80% ของกลุ่มผู้นำระบุว่า พวกเขาสามารถค้นหาความต้องการที่ลูกค้าบอกว่ายังไม่ได้รับการตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมองว่าพวกเขาสามารถทำงานนี้ได้ดีกว่ากลุ่มอื่นๆ ถึง 3 เท่า
ธุรกิจดั้งเดิมหันหาเทคโนโลยี เสริมศักยภาพข้อมูลและเพิ่มทักษะบุคลากร
ขณะที่ธุรกิจดั้งเดิมเริ่มนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้มากขึ้น ร่วมการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีและการบริหารทักษะบุคลากร รวมถึงบางกรณีที่มีการเข้าซื้อกิจการเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในธุรกิจให้สามารถแข่งขันในยุคดิจิทัลได้ อาทิ บีเอ็มดับเบิลยูที่ใช้ประโยชน์จากการเป็นเจ้าของธุรกิจและความเชี่ยวชาญในยานยนต์ของตนต่อกรกับอูเบอร์ ผ่านการให้บริการรถยนต์ที่ปรับแต่งเพื่อรองรับบริการเฉพาะด้านต่างๆ และให้บริการตามรูปแบบที่ผู้ใช้ต้องการ เช่น บริการรถยนต์ร่วมโดยสาร บริการเช่ารถระยะสั้น หรือบริการเช่ารถรายชั่วโมง เป็นต้น, วอลมาร์ทเข้าซื้อแพลตฟอร์มค้าปลีก “เจ็ท” (Jet) เพื่อส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซและขยายการเข้าถึงลูกค้า หรือ ยูนิลีเวอร์ที่เข้าซื้อดอลลาร์เชฟคลับ (Dollar Shave Club) ผู้นำพื้นที่โฆษณาที่เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง เพื่อขยายสายธุรกิจและสร้างข้อได้เปรียบด้านข้อมูลเชิงลึก ข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริโภคของบริษัท นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจดั้งเดิมยังมีโอกาสในการเพิ่มพูนความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และข้อมูลเพื่อสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ขยายไปยังอุตสาหกรรมใกล้เคียง หรือสร้างแพลตฟอร์มข้ามอุตสาหกรรม
อุตสาหกรรมผลิตสินค้าให้ความสำคัญ พัฒนาแพลตฟอร์มนวัตกรรม
รายงานฉบับดังกล่าวยังชี้ให้เห็นข้อมูลที่น่าสนใจในประเด็นการลงทุน เพราะ 28% ของผู้บริหารระดับสูงระบุว่ากำลังจัดสรรเงินทุนจำนวนหนึ่งเพื่อสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรม ขณะที่ 46% ของธุรกิจดั้งเดิมระบุว่าหากไม่สร้างแพลตฟอร์มขึ้นใหม่ก็จะเข้าไปมีส่วนร่วมลงทุนในแพลตฟอร์มอื่นที่มีความสำคัญต่ออนาคตของพวกเขา และ 57% ขององค์กรต่างๆ ที่มีกลยุทธ์ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง ล้วนเป็นผู้สร้างหรือเป็นเจ้าของโมเดลแพลตฟอร์มธุรกิจ โดยทำหน้าที่ประสานและจัดการการติดต่อโดยตรงระหว่างผู้บริโภคกับผู้ผลิต และรวบรวมข้อมูลการดำเนินงานจำนวนมาก เพื่อครองเซ็กเมนต์ตลาดต่างๆ และขยายขนาดของเซ็กเมนต์ตลาดใหม่ๆ
โดยอุตสาหกรรมที่ลงทุนเชิงรุกในด้านแพลตฟอร์มสูงสุด คือ อุตสาหกรรมการผลิตสินค้า เพิ่มขึ้น 25%, อิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น 22%, ยานยนต์ เพิ่มขึ้น 20% และค้าปลีก เพิ่มขึ้น 17%
เทคโนโลยีไม่สำคัญเท่า “ทักษะ-บุคลากร”
เมื่อในปี 2004 ผู้บริหารระดับสูงจัดลำดับปัจจัยด้านเทคโนโลยีเป็นอันดับที่ 5 เท่านั้น แต่เมื่อถึงปี 2012 การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้ก้าวขึ้นสู่อันดับ 1 และยังคงอยู่เช่นนั้นในการวิจัยหลายชิ้น จนกระทั่งปี 2017 บุคลากรกลับกลายเป็นเรื่องที่ผู้บริหารระดับสูงให้ความสำคัญสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทักษะของบุคลากร การแสวงหาบุคลากรที่เหมาะสม การฝึกอบรม หรือการรักษาบุคลากรเอาไว้ โดยกระโดดจากอันดับ 5 มาเป็นอันดับ 3 และมีความสำคัญมากขึ้นจนเทียบเท่าปัจจัยด้านเทคโนโลยี เนื่องจากกลุ่มผู้บริหารระดับสูงมีความเชื่อตรงกันว่าบุคลากรคือผู้ขับเคลื่อนบริษัท และ 70% ของกลุ่มผู้นำกล่าวว่าองค์กรของพวกเขามีวัฒนธรรมที่เปิดกว้างและการดำเนินงานที่ฉับไว ทั้งยังมีประสิทธิภาพในการสร้างวัฒนธรรมที่เน้นการสะท้อนความคิดเห็นอย่างกระตือรือร้น การกระจายอำนาจ การร่วมกันสร้างสรรค์ผลงาน และการแบ่งปันความรู้ มากกว่าองค์กรอื่นๆ ถึง 2 เท่า หากยิ่งมีการผสานรวมข้อมูลขององค์กรเข้ากับเทคโนโลยีการเรียนรู้และค็อกนิทีฟ จะยิ่งทำให้กระบวนการและเวิร์คโฟลว์ต่างๆ ซึ่งเป็นหัวใจของแพลตฟอร์มกลายเป็นระบบที่มีความอัจฉริยะมากขึ้น สร้างโอกาสเติบโตและยกระดับศักยภาพทั้งบุคลากรและธุรกิจ