นักท่องเที่ยวจีนแห่มาไทยล้นทะลักหลังเปิดประเทศ ดีหรือไม่ต่อเศรษฐกิจไทย

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

 

ปี 2023 อาจกลายเป็นปีที่สร้างความหวังให้กับธุรกิจจำนวน หลังจากที่จีนประกาศนโยบายเปิดประเทศ พร้อมต้อนรับผู้คนเดินทางสู่จีนและเปิดโอกาสในชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศได้ นโยบายเปิดประเทศของจีนครั้งนี้เรียกได้ว่าเขย่าโลกทั้งใบ หลากหลายประเทศต่างออกมาขยับ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมรับการเดินทางเข้ามาของชาวจีน และการเตรียมความพร้อมในด้านธุรกิจ

การประกาศเปิดประเทศยกเลิกนโยบาย “Zero COVID” ของจีน ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทย โดยผู้เชี่ยวชาญหลายท่านมองว่าเป็นการเปิดประเทศเร็วกว่าที่คาด โดยจีนอาจจะต้องเจอความท้าทายจากการระบาดที่จะเกิดขึ้นอย่างหนักและรวดเร็วหลังเปิดประเทศ เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับวัคซีนประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะวัคซีนประเภท mRNA

หากการแพร่ระบาดเกิดขึ้นในวงกว้าง จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ และจะทำให้อย่างน้อยในช่วงไตรมาสแรกเศรษฐกิจจีนอาจยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ แต่หากการระบาดเกิดขึ้นเร็วและจบเร็วอาจนำไปสู่การฟื้นตัวเร็วขึ้นของเศรษฐกิจจีน แม้ไทยจะได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศของจีน แต่การฟื้นตัวของไทยในปีนี้ยังเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง มีความไม่แน่นอนและมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวังอีกหลายด้าน

 

ท่องเที่ยวไทยฟื้นเร็วขึ้น แต่การส่งออกยังเสี่ยง

อย่างที่ทราบรายได้หลักประเทศไทยมาจาก 2 ส่วน ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว ที่ผ่านมาประเทศไทยพึ่งพิงได้เพียงการส่งออกเท่านั้น ในด้านการท่องเที่ยวแทบไม่มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ การเปิดประเทศของจีนจึงเป็นเสมือนฝนต้นฤดู และถือเป็นช่วงโอกาสที่สำคัญ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเกิดภาวะชะลอตัวเนื่องจากเงินเฟ้อ ส่งผลกระทบต่อการส่งออก จีนเปิดประเทศจึงทำให้รายได้ของภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาช่วยบรรเทาผลกระทบภาคส่งออก

ซึ่ง ศูนย์วิจัยธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP Research) ได้ปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจในปี 2023 จากเดิมที่คาดการเติบโตไว้ที่ 2.8% เป็นเติบโต 3.6% โดยมีปัจจัยมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเดินทางเข้ามาในไทยถึง 25.1 ล้านคน จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 19.2 ล้านคน ซึ่งการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนจะส่งผลบวกต่อการบริโภคในประเทศ

แม้การท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่การท่องเที่ยวที่ผ่านมาเน้นการท่องเที่ยวตามเมืองท่องเที่ยวหลัก หรือการเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่มีชื่อเสียง ซึ่งจะส่งผลให้รายได้กระจุกตัวเพียงไม่กี่จังหวัด ขณะที่อีกหลายจังหวัดต้องหากลยุทธ์ในการดึงนักท่องเที่ยวเข้าสู่จังหวัดเพื่อนำรายได้เข้ามาสู่พื้นที่ ทำให้คาดว่าช่วงแรกที่การท่องเที่ยวกลับมาจะยังทำได้ไม่เต็มที่หรืออาจจะยังไม่ทั่วถึงทุกจังหวัด

 

นักท่องเที่ยวจีนแห่เที่ยวไทยล้นทะลัก

เรียกได้ว่าประเทศไทยรับอานิสงส์การเปิดประเทศของจีนแทบจะอัตโนมัติ ด้วยปัจจัยหลายประการ ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวทั้งหมดของโลกคิดเป็นประมาณ 7%-10% ถือว่ามีผลสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเมื่อภาตการส่งออกและการค้าชะลอตัวลง โดยรายได้จากภาคการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 4% ของ GDP โลก

และสำรวจการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีน จะพบว่าจุดหมายปลายทางหลักของนักท่องเที่ยวจีนส่วนใหญ่พุ่งตรงมาที่ประเทศไทย โดยข้อมูลจำนวนเที่ยวบินที่เดินทางมาจากจีนในเดือนมกราคมหลังเปิดประเทศ พบว่า มีเที่ยวบินตรงจากจีนมาไทยประมาณ 50 เที่ยวบินต่อวัน หรือ 1,500 เที่ยวบินต่อเดือน คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 230,000 คนต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากประมาณ 50,000 คนต่อเดือนในช่วงเดือนธันวาคมปี 2022

แต่หากเมื่อย้อนกลับไปดูสถานการณ์ในประเทศจีน ที่การระบาดเริ่มลดลงแต่เมื่อคำนวนจำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีนซึ่งอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ยังมีโอกาสในการแพร่ระบาดสูง ถือเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีน โดย KKP Research คาดว่าการเปิดประเทศของจีนจะเริ่มเห็นผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทยชัดเจนขึ้นในช่วงไตรมาส 2 และเริ่มเห็นผลเต็มที่ในช่วงครึ่งหลังของปี

 

ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้ด้วย

เมื่อนักท่องเที่ยวจีนมาไทยจะทำให้เกิดเงินสะพัดในทุกธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ยิ่งการที่นักท่องเที่ยวจีนแห่มาที่ประเทศไทย ยิ่งช่วยให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวได้เร็วขึ้น เมื่อย้อนดูตัวเลขการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนในปี 2019 จะพบว่าธุรกิจที่มีแนวโน้มได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวมากที่สุด คือ กลุ่มธุรกิจขายสินค้า อาหารและเครื่องดื่ม การเดินทางและสันทนาการ แต่จะมีเรื่องของพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเป็นปัจจัยเสริม

โดยเฉพาะ 6 จังหวัดใหญ่ที่การท่องเที่ยวจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วทั้ง กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต ชลบุรี สุราษฎร์ธานี กระบี่และพังงา เมื่อรวมทั้ง 6 จังหวัดจะทำให้มีสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวจีนมากถึง 90% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด หลายคนเริ่มกังวลว่า เงินนักท่องเที่ยวจีนจะไม่กระจายไปทั่วประเทศ และตัวเลข GDP ที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2023 อาจเป็นตัวเลขที่อาจไม่ได้สะท้อนภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างแท้จริง

ซึ่ง KKP Research ประเมินว่า นักท่องเที่ยวจีนจะกลับเข้ามาในไทยมากกว่าที่คาดการณ์ตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรก โดยนักท่องเที่ยวจีนส่วนใหญ่ตั้งเป้าเดินทางเพื่อมาฉีดวัคซีนและหายารักษาโควิด โดยข้อมูลพบว่า คนจีนประมาณ 20% พร้อมเที่ยวทันทีหลังเปิดประเทศและไทยยังคงเป็นประเทศที่จีนสนใจเดินทางมาเป็นลำดับต้นๆ ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกสำคัญ

 

การส่งออกไทยยังน่ากังวลแม้จีนเปิดประเทศ

ในทางกลับกัน การเปิดประเทศของจีน นอกจากให้นักท่องเที่ยวจีนออกนอกประเทศได้ ก็เปิดโอกาสให้มีการนำเข้าสินค้าได้ โดยการส่งออกสินค้าไทยไปยังจีนที่มีสัดส่วนประมาณ 15% ของการส่งออกทั้งหมด แต่ยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับประเทศหลักในการส่งออกอย่าง สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ที่เมื่อรวมกันแล้วจะมีสัดส่วนมากถึงประมาณ 30% ของการส่งออกทั้งหมด แต่ประเทศหลักเหล่านี้เริ่มมีการชะลอตัวชัดเจน ทำให้การส่งออกไปจีนอาจยังไม่สามารถกู้ภาพรวมการส่งออกได้

ซึ่ง KKP Research ประเมินว่า ปริมาณการส่งออกของไทยจะยังคงหดตัว 1.8% ในปี 2023 และการส่งออกในรูปสกุลเงิน US Dollar มีโอกาสหดตัวรุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปีเมื่อเทียบจากปีก่อนหน้า และคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังอาจจะมีโอกาสการปรับตัวดีขึ้น

แต่ใช่ว่าจะไม่มีผลในเชิงบวกใดๆ เลยกับการเปิดประเทศของจีน เนื่องจากบางกลุ่มสินค้าที่จีนนำเข้ายังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติ ซึ่งจีนเป็นผู้นำเข้าหลักของโลกในหลายกลุ่มสินค้า เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ ไม้ ฝ้าย พลาสติก และสินค้าในกลุ่มอาหาร ซึ่งประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้าเหล่านั้นไปยังจีนได้ ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ช่วยให้ส่งออกสินค้าในกลุ่มที่การนำเข้ายังไม่กลับไประดับปกติ และกลุ่มสินค้าเหล่านี้ยังมีโอกาสขยายตัวได้สูงในประเทศหลังเปิดประเทศ

 

3 ปัจจัยสัญญาณความไม่แน่นอนในปี 2023

การเปิดประเทศของจีนดูเหมือนจะเป็นความหวังให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตเร็วขึ้น แม้สถานการณ์โลกจะอยู่ในทิศทางตรงข้าม แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทย ซึ่งปัจจัยเหล่านั้นมีทั้งปัจจัยที่มาจากภายนอกประเทศไทยและปัจจัยที่เกิดขึ้นภายในประเทศไทย และจะเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการฟื้นตัวและการดำเนินนโยบายของเศรษฐกิจของไทย โดยแบ่งออกเป็น 3 ปัจจัยหลัก

 

ค่าเงินบาทที่มีความผันผวนสูงจะกระทบผู้ส่งออกและนำเข้า ในปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปมาก เป็นเพราะการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ร่วมกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐฯ ที่กว้างขึ้นจากนโยบายการเงินไทยที่ปรับดอกเบี้ยช้ากว่า และภาวะดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลมากที่สุดในรอบหลายปีเป็นผลมาจากรายได้ท่องเที่ยวหายไปและต้นทุนค่าขนส่งสินค้าอยู่ในระดับสูง

แม้การท่องเที่ยวจะกลับมา แต่ค่าเงินบาทก็ยังมีความไม่แน่นอนสูงและมีโอกาสอ่อนค่าอีก ซึ่งจะส่งผลต่อความเสี่ยงการขาดดุลในปีหน้า โดยตัวเลขดุลการค้าในไตรมาส 3 ปี 2022 ถือเป็นการขาดดุลเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี สะท้อนถึงมูลค่าการนำเข้ามากกว่ามูลค่าการส่งออก ชี้ให้เห็นความผันผวนค่าเงินบาทที่สูงขึ้นและความยากของผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกและนำเข้าในการจัดการความเสี่ยงด้านค่าเงิน

KKP Research ประเมินว่า แม้อุปสงค์ของจีนฟื้นตัวเต็มที่ในช่วงปลายปี ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่จะยังไม่กลับเป็นบวกได้อย่างแข็งแกร่ง เป็นความเสี่ยงสำคัญที่อาจสร้างความผันผวนต่อค่าเงินบาทโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีนี้ โดยเงินบาทอาจกลับมาอ่อนค่าอย่างรวดเร็วได้อีกครั้ง หากปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะหากมีแรงกดดันเพิ่มเติมด้านเงินทุนไหลออกโดยนักลงทุนที่เข้ามาถือเงินบาทเพื่อเก็งกำไรระยะสั้น

 

นักท่องเที่ยวจีนดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น

อีกหนึ่งปัจจัย คือ นักท่องเที่ยวจีนที่กลับมาเร็วอาจทำให้เกิดเงินเฟ้อในภาคบริการ ถึงการเปิดประเทศของจีนจะช่วยให้การท่องเที่ยวไทยมีรายได้เติบโต แต่ก็กดดันราคาในประเทศทั้ง ราคาภาคบริการปรับตัวสูงขึ้นตามกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น เช่น ราคาที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร ที่เริ่มมีสัญญาณปรับตัวบ้างแล้ว และปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคบริการ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในหลายประเทศหลัก หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด

ซึ่งแรงงานจำนวนมากย้ายออกงานบริการไปยังภาคการผลิต และเมื่อภาคบริการกลับมาฟื้นตัวก็จะไม่สามารถดึงแรงงานกลับมาได้ ทำให้สถานการณ์การขาดแคลนแรงงานในภาคบริการจะเกิดขึ้นในไทย ส่งผลให้ต้องปรับค่าแรงภาคบริการเพื่อดึงดูดให้แรงงานกลับมา และจะสะท้อนกลับไปเป็นต้นทุนค่าบริการ ซึ่งต้องจับตาว่าจะกระทบกับค่าครองชีพโดยรวมจนส่งผลให้เกิดการขึ้นราคาสินค้าด้วยหรือไม่

และปัจจัยสุดท้าย คือ อัตราเงินเฟ้อโลกยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าที่คาด ส่งผลให้มีการใช้มาตรการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในปี 2023 โดยคาดว่าปัญหาเงินเฟ้อจะเริ่มคลี่คลายลงและทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ไม่จำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเหมือนปีที่ผ่านมา และเฝ้าหวังถึงโอกาสปรับดอกเบี้ยลงในช่วงปลายปี อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะพุ่งสูงขึ้นอีก คล้ายเหตุการณ์ช่วงปี 1972–1983

ส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะทางการเงินที่ยังไม่ตึงตัวมากพอที่จะชะลอเศรษฐกิจ ตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง จีนที่กลับมาเปิดประเทศในปีนี้ ขณะเดียวกันปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคบริการ หากการท่องเที่ยวฟื้นตัวเร็วจะทำให้เงินเฟ้อในภาคบริการปรับตัวสูงขึ้นได้ และจะกดดันต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย และจะกระทบต่อภาระหนี้ครัวเรือนที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงอยู่มาก

ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วย้ำให้เห็นถึงความไม่แน่นอนในการคาดการณ์เศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงหลังโควิดเป็นต้นมา การคาดการณ์การเติบโตของ GDP โลกในปี 2023 มีความแตกต่างกันมากกว่าปกติถึง 2 เท่า สะท้อนว่านักลงทุนมีมุมมองต่อเศรษฐกิจโลกในปีนี้ที่แตกต่างกันมากกว่าปกติ ทำให้เศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาเศรษฐกิจโลกทั้งภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว จำเป็นต้องติดตามและประเมินผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด

 

ข้อมูล: ธนาคารเกียรตินาคินภัทร


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •