ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ปัญหาภัยแล้ง
ไทยติดอันดับประเทศที่มีขยะทะเลมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก
สถานการณ์ไฟป่ารุนแรงในออสเตรเลีย
สิ่งมีชีวิตในทะเล และมหาสมุทรตกอยู่ในภาวะอันตรายจากขยะพลาสติก
ฯลฯ
ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่นับวันทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้บริโภคหันมาตระหนัก และตื่นตัวต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น
แน่นอนว่าย่อมมีทั้งผู้บริโภคที่คิด และลงมือทำ
ขณะเดียวกันก็มีผู้บริโภคที่คิด แล้วทำบ้างเป็นบางครั้ง หรือแม้แต่ผู้บริโภคที่คิดอย่างเดียว
วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) เปิดข้อมูลงานวิจัย “การตลาดโลกสวย Voice of Green : เพื่อโลก เพื่อเรา” ผ่านแบบสอบถามออนไลน์ กลุ่มผู้บริโภคตัวอย่างจำนวน 1,252 คน และแบบสัมภาษณ์เชิงลึก 105 คน รวมทั้งหมดแบ่งเป็นผู้ชาย 33.7% และผู้หญิง 67.3% ครอบคลุมทั้งกลุ่ม Baby Boomers, Gen X, Gen Y, Gen Z
“พลาสติก” สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมมากสุดในความคิดผู้บริโภค – “ประหยัดไฟ” การกระทำง่ายสุด ช่วยทั้งสิ่งแวดล้อม และประหยัดเงิน
ในการสำรวจครั้งนี้ ได้ถามระหว่าง “ความคิด” ที่ผู้บริโภคมองถึงปัจจัยที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม และตัวเขาเองจะสามารถช่วยด้านสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีใด VS. “การกระทำ” คือ การลงมือทำจริง เพื่อช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม พบว่า
ด้านความคิด ผู้บริโภคมองว่า ส่ิงที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด คือ “พลาสติก” เพราะเป็นขยะย่อยสลายยาก (4.67%)
อันดับ 2 สิ่งที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมคือ “มลพิษ” (4.50%) โดยมีรถยนต์เป็นต้นเหตุสำคัญ รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรม
อันดับ 3 ขยะ (4.47%) กลุ่มตัวอย่างมองว่า “การแยกขยะ” เป็นสิ่งที่ควรทำ แต่เหตุผลที่คนไทยยังไม่ทำอย่างแพร่หลาย กลุ่มตัวอย่างมองว่าเพราะการให้ความรู้การแยกขยะแก่ประชาชนยังไม่เพียงพอ
อันดับ 4 “น้ำ” (4.44%) กลุ่มตัวอย่างมองว่าการประหยัดน้ำเป็นสิ่งที่ดี ทั้งในเชิงประหยัดทรัพยากรโลก และต้นทุน
อันดับ 5 “ไฟฟ้า” (4.32%) กลุ่มตัวอย่างมองว่าการประหยัดไฟฟ้า เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม และช่วยต้นทุน
อันดับ 6 “การใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” หรือ Eco Brand (3.13%)
ขณะที่ “การลงมือทำ” เพื่อช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม พบว่าสิ่งที่กลุ่มตัวอย่างลงมือทำมากสุด คือ “ประหยัดไฟ” (4.30%) เพราะสามารถทำได้ง่ายในชีวิตประจำวัน ทั้งยังช่วยประหยัดค่าไฟที่ต้องจ่าย
อันดับ 2 “พลาสติก” (4.29) เพราะผู้บริโภคต้องการลดปริมาณขยะ
อันดับ 3 ใช้ “ผลิตภัณฑ์เพื่อส่ิงแวดล้อม” (4.19) ต่างจากการสำรวจความคิดข้างต้น ที่การใช้ผลิตภัณฑ์ Eco Product อยู่อันดับท้าย แสดงให้เห็นว่าในทางการปฏิบัติจริงที่ช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคมีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
อันดับ 4 “การใช้ซ้ำ – นำกลับมาใช้ใหม่” (4.18%)
อันดับ 5 “ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า” (4.11%)
อันดับ 6 “ใช้พลังงานสะอาด” (3.99%) เช่น รถยนต์ไฟฟ้า, เดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ สาเหตุที่การใช้พลังงานสะอาด เป็นส่ิงที่ผู้บริโภคไทยลงมือทำน้อยสุด เพราะปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ยังมีราคาสูง และระบบขนส่งสาธารณะของไทย ยังไม่ตอบโจทย์ความสะดวกแก่ประชาชน
รู้จัก 4 ตัวตน “ผู้บริโภคสายกรีน”
จากกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจครั้งนี้ ทำให้เห็นว่าปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้บริโภคสายกรีน 4 ประเภทหลัก คือ
1. สายกรีนตัวแม่ จำนวน 37.6%
ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความตั้งใจทำทุกอย่าง และยินดีจ่ายแพงขึ้นเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม
2. สายกรีนตามกระแส จำนวน 20.8%
เป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมตามกระแสการใช้สินค้าอีโค่ แต่ยังขาดทัศนคติในด้านความต้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นในระยะยาว
3. สายสะดวกกรีน จำนวน 15.7%
ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความเข้าใจเรื่องความจำเป็นในการปกป้องสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีพฤติกรรมที่เคยชินกับการบริโภคแบบเดิมๆ และยังไม่มีความกระตือรือร้นในการปรับเปลี่ยน
4. สายโนกรีน จำนวน 26.0%
ไม่ได้หมายความว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม หรือลงมือที่จะช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม แต่เนื่องด้วยความที่ยังไม่พร้อมใช้จ่ายเพื่อสิ่งแวดล้อม และยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เพราะมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก
ข้อมูลสถิติดังกล่าว สะท้อนได้ว่าคนไทยเป็น “สายกรีนตัวแม่” มากที่สุด
เมื่อรวมผู้บริโภค 3 สายกรี คือ สายกรีนตัวแม่, สายกรีนตามกระแส, สายสะดวกกรีน คิดเป็นสัดส่วน 74.1%
แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันผู้บริโภคไทยให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม และถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีแนวโน้มปรับเปลี่ยนทัศนคติ และพฤติกรรมเพื่อการบริโภคโลกสวยได้ ซึ่งเป็นโอกาสของนักการตลาดที่จะสร้างสรรค์สินค้า บริการ และแคมเปญ เพื่อเข้าถึงความต้องการดังกล่าว
อย่างไรก็ตามยังคงมีอีก 41.7% (สายโนกรีน และสายสะดวกกรีน) ที่ลงมือทำด้านสิ่งแวดล้อมเป็นครั้งคราว ดังนั้นเป็นโอกาสของแบรนด์ที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มนี้
ผู้บริโภค “Baby Boomer” มีแนวโน้มเป็น “สานกรีนตัวแม่” สูงสุด
ผลวิจัยยังระบุอีกว่า ผู้บริโภคที่อายุมาก โดยเฉพาะคนกลุ่ม Baby boomer (อายุ 55 – 73 ปี) มีแนวโน้มเป็นสายกรีนตัวแม่สูงสุด
ตามมาด้วยผู้บริโภคกลุ่ม Gen X (อายุ 39-54 ปี) Gen Y (อายุ 23-38 ปี) และ Gen Z (อายุต่ำกว่า 23 ปี) ตามลำดับ
เนื่องจากยิ่งผู้บริโภคที่มีอายุมาก จะยิ่งมีความพร้อมทางด้านรายได้ และมีความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ผู้บริโภคมององค์กรธุรกิจมีนโยบาย – กิจกรรมเพื่อส่ิงแวดล้อม ทำตามกระแส!
ผู้บริโภคมององค์กรธุรกิจมีนโยบายสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่ทำตามกระแส เพื่อภาพลักษณ์!
ผลสำรวจวิจัยครั้งนี้ ยังได้สอบถามมุมมองผู้บริโภคกลุ่มตัวอย่างที่มีต่อองค์กรธุรกิจที่มีนโยบายด้านส่ิงแวดล้อม พบว่า
-
79% มองว่าองค์กรส่วนใหญ่ทำตามกระแส และเพื่อทำให้องค์กรมีภาพลักษณ์ที่ดี
-
18% มองว่าทำเพื่อเพิ่มกำไร และลดต้นทุน เช่น แคมเปญลดถุงพลาสติก ผู้บริโภคมองว่าองค์กรธุรกิจลดต้นทุน ขณะเดียวกันได้กำไรจากการขายถุงผ้า
-
3% มองว่าองค์กรธุรกิจทำตามนโยบายภาครัฐ
เมื่อผู้บริโภคสะท้อนมุมมองเช่นนี้แล้ว ดังนั้นในการขับเคลื่อนนโยบาย และกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมขององค์กรธุรกิจต่างๆ ควรทำด้วย “ความจริงใจ” และผุ้บริโภคพร้อมเปลี่ยนแน่นอน!
ขณะที่แนวโน้มการเปลี่นแปลงทัศนคติ และพฤติกรรม พบว่า
-
61% คิดอยากจะทำ
-
10% เริ่มทำบ้าง บางเรื่อง
-
16% ทำเกือบทุกเรื่อง มีพฤติกรรม
-
13% ทำจนเป็นนิสัยในชีวิตประจำวัน
กลยุทธ์ “ENVI” กระตุ้นให้ผู้บริโภคตระหนักถึงการบริโภคที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
“เอ็นไว” (ENVI Strategy) ประกอบด้วย
1. ปลูกฝังจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่ (E : Early)
สำหรับผู้บริโภคกลุ่มในกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ที่ยังไม่ค่อยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ภาครัฐ และองค์กรธุรกิจจึงควรให้ความสำคัญกับการปลูกฝังเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ผู้บริโภคในกลุ่มนี้
2. ปัญหาสิ่งแวดล้อมควรแก้ไขทันที (N : Now or Never)
เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติผู้บริโภคที่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมน้อย นักการตลาดจึงควรให้ความสำคัญกับการสื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ
3. สื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างทั่วถึง (V : Viral)
นักการตลาดควรใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการสื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างทั่วถึง และแพร่หลาย (viral)
4. ใช้นวัตกรรมในการผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อม (I : Innovative)
การดึงนวัตกรรมมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อาทิ การใช้วัตถุดิบสำหรับอิเล็กทรอนิกส์ที่มีคุณสมบัติอนุรักษ์มากขึ้น การใช้ระบบดิจิทัลในการผลิต เป็นต้น
จับตา 4 เทรนด์ธุรกิจรักษ์โลกมาแรง
ผลการวิจัยยังระบุอีกว่า “องค์กรธุรกิจ” เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคจับตามองมากขึ้น องค์กรที่ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงใจ มีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคในปี 2563 ประกอบด้วยธุรกิจที่มีสินค้า หรือบริการต่อไปนี้
สินค้าที่ใช้วัตถุดิบย่อยสลายง่ายและกลับมาใช้ซำ้ เช่น ธุรกิจสตาร์ทอัพแบรนด์ Moreloop ที่นำเศษผ้าที่เหลือจากการตัดมารวมกัน และนำเศษเหล่านั้นมาตัดเป็นเสื้อผ้าใหม่เพื่อลดขยะ
สินค้าหรือบริการที่ใช้พลังงานสะอาด เช่น ธุรกิจศูนย์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจร้าน Refill Store เติมเท่าไหร่จ่ายเท่านั้น เป็นต้น
สินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ไบโอ และธุรกิจอาหารที่เปลี่ยนพืชให้มีรสชาติเหมือนเนื้อสัตว์ เป็นต้น
สินค้า Eco มีดีไซน์ตอบสนองคนรุ่นใหม่ เช่น กระเป๋าผ้าใบดีไซน์สุดติสต์ยี่ห้อ Freitag และแพคเกจจิ้งอาหารกินได้ เป็นต้น