เมื่อทั่วโลกแข่งกันดึงดูดแรงงานทักษะสูง ประเทศไทยอยู่ตรงไหน

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

คุณภาพแรงงานหรือทรัพยากรมนุษย์สัมพันธ์กับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ประเทศที่แรงงานมีความรู้ความสามารถ เศรษฐกิจประเทศนั้นย่อมพัฒนา เติบโตได้ดี ในทางตรงข้าม ประเทศใด แรงงานมีทักษะต่ำ ความรู้ความสามารถน้อย ย่อมเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ยาก

การพัฒนาแรงงานให้มีทักษะหรือศักยภาพสูงจึงเป็นเรื่องจำเป็นของทุกระบบเศรษฐกิจ เพื่อสร้างงานที่มีคุณค่า ผลผลิตที่มีคุณภาพ ตลอดจนสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยี ทั้งนี้ ในการสร้างแรงงานทักษะสูง นอกจากพัฒนาแรงงานของประเทศตัวเองให้มีคุณภาพผ่านการศึกษา การฝึกทักษะอาชีพ หลายประเทศอาจใช้วิธีดึงดูดแรงงานจากต่างประเทศ

เมื่อต้นเดือน พ.ย. 2563 Bloomberg รายงานข่าวน่าสนใจชิ้นหนึ่งจากสิงคโปร์ว่า สิงคโปร์กำลังออกวีซ่าประเภทใหม่สำหรับดึงดูดแรงงานที่มีทักษะสูงด้านเทคโนโลยี โดยตั้งเป้าดึงดูดแรงงานที่มีศักยภาพสูงระดับโลกให้ได้ 500 ราย จุดประสงค์หลักเพื่อสร้างบรรยากาศและพัฒนาสภาพแวดล้อมให้สิงคโปร์เอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของภูมิภาคและของโลก

มาตรการออกวีซ่าดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการชื่อ Tech.Pass Program ที่จะอนุญาตให้บุคคลธรรมดาสามารถขอวีซ่าประเภทนี้ เพื่อมาลงทุน จัดตั้ง ดำเนินธุรกิจ หรือเป็นที่ปรึกษาให้บริษัทต่างๆ เช่น สตาร์ทอัพในสิงคโปร์ได้สะดวก วีซ่าประเภทใหม่นี้จะสะดวกกว่า ยืดหยุ่นกว่าวีซ่าประเภทเดิมที่ต้องมีบริษัทในสิงคโปร์รับรองการจ้างงาน

ที่น่าสนใจคือ วีซ่าประเภทใหม่นี้ไม่ได้มุ่งดึงดูดแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีระดับกลางที่อาจมาแย่งงานคนสิงคโปร์ แต่มุ่งดึงดูดแรงงานที่มีทักษะสูงหรือเชี่ยวชาญจริงๆ ตลอดจนผู้ประกอบการจากต่างขาติที่จะช่วยเอาความรู้ เทคโนโลยี เครือข่าย ตลอดจนเงินทุนเข้ามาในสิงคโปร์ เพื่อต่อยอดเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและเทคโนโลยีของภูมิภาคให้ได้

ทั้งนี้ผู้ยื่นขอวีซ่าประเภทนี้ ต้องมีคุณสมบัติ 2 ใน 3 ข้อที่ระบุไว้ ได้แก่

  1. ต้องได้รับเงินเดือนสุดท้ายขั้นต่ำที่ 14,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ
  2. มีประสบการณ์ทำงานอย่างน้อย 5 ปี ในบริษัทเทคโนโลยีที่มีมูลค่าตั้งแต่ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  3. มีประสบการณ์ทำงานอย่างน้อย 5 ปี ในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเทคโนโลยี ที่มีผู้ใช้ประจำ (active user) ไม่น้อยกว่า 100,000 รายต่อเดือน หรือผลิตภัณฑ์นั้นต้องมีรายได้ไม่น้อยกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยโครงการนี้ รัฐบาลสิงคโปร์จะเริ่มดำเนินการเปิดให้ผู้สนใจขอวีซ่าได้ในช่วงเดือนมกราคม 2564 เป็นต้นไป ผู้ได้รับวีซ่าสามารถพำนักในสิงคโปร์ได้ 2 ปี ต่ออายุได้อีก 2 ปี

หันมามองประเทศไทย ในการจัดอันดับของ Global Talent Competitive Index (ดัชนีด้านศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรบุคคลของโลก) ปี 2020 โดยความร่วมมือระหว่างสถาบัน INSEAD, Adecco Group และ Google ซึ่งเปรียบเทียบศักยภาพแรงงานทักษะสูงใน 132 ประเทศ โดยประเมินความสามารถในการสร้างแรงงานทักษะสูงของแต่ละประเทศด้านต่างๆ เช่น ความสามารถในการพัฒนาแรงงานศักยภาพสูง ความสามารถในการรักษาแรงงานศักยภาพสูง และความสามารถในการดึงดูดแรงงานศักยภาพสูง กับผลลัพธ์ คือ คุณภาพแรงงานของประเทศนั้นในด้านต่างๆ เช่น ด้านทักษะความรู้ ด้านทักษะทางอาชีพ เป็นต้น

ผลสำรวจพบว่า ไทยอยู่อันดับที่ 67 ลดลงจากอันดับที่ 66 ในปี 2019 โดยผู้ประเมินให้ความเห็นว่า ไทยยังสามารถปรับปรุงหรือพัฒนาวิธีการจัดการหรือดึงดูดแรงงานทักษะสูงได้อีกมาก ซึ่งจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ และยกระดับผลิตภาพทางเศรษฐกิจได้ โดยในปี 2020 สิงคโปร์อยู่อันดับ 3 ของโลกในการจัดอันดับ

ทั้งนี้จากรายงานของ IMD พบว่า นอกจากระบบการศึกษาและคุณภาพชีวิตในแต่ละประเทศที่เป็นตัวสร้างหรือดึงดูดแรงงานทักษะสูงแล้ว การสร้างระบบให้แรงงานสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) คือหัวใจสำคัญของการพัฒนาและดึงดูดแรงงานศักยภาพสูง สิงคโปร์เป็นตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ IMD ระบุว่าแต่ละประเทศควรจัดการระบบการศึกษาให้มากกว่าเรื่องของโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย แต่ควรพัฒนาให้เป็นศูนย์เรียนรู้ตลอดชีวิต ให้แรงงานทักษะสูงสามารถพัฒนาตัวเองได้เสมอ ตลอดจนมีแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาตัวเอง

IMD ยังระบุอีกว่า ลำพังภาคธุรกิจไม่สามารถสร้างระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับพัฒนาแรงงานได้ด้วยตนเอง จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องสร้างกลไกต่างๆ ให้เกิดแรงงานทักษะสูง รักษาแรงงานเหล่านี้เอาไว้ และดึงดูดแรงงานทักษะสูงรายใหม่ให้เข้าสู่ประเทศเพิ่มมากขึ้น หรือแม้กระทั่งดึงดูดแรงงานทักษะสูงรายเก่าที่ย้ายออกจากประเทศไปแล้ว

มองมาตรการดึงดูดแรงงานทักษะสูงของรัฐบาลสิงคโปร์ และคำแนะนำของ IMD แล้วย้อนดูไทย สมควรตั้งคำถามถึงรัฐบาลว่ามีนโยบายอย่างไรในการสร้าง พัฒนา หรือดึงดูดแรงงานทักษะสูง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น สตาร์อัพ แอพลิเคชั่น หรือสินค้าที่ต้องการนวัตกรรม ซึ่งเป็นหัวใจในการสร้างสินค้าและบริการใหม่ๆ ที่ผู้บริโภคในยุคดิจิทัลต้องการ และเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างธุรกิจใหม่ๆ ให้แข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถามนี้ควรส่งเสียงดังๆ ไปถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ควรเป็นหัวหอกของรัฐในการสร้างเสริมทักษะเหล่านี้ให้แก่ประเทศและประชาชน ว่ามีนโยบายต่อเรื่องนี้อย่างไร

 

แหล่งที่มา

Adecco, Bloomberg, Imd, Insead, Jimcollins, Bangkokpost, th.hrnote


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  
ดร.สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล
ดร.สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล หรือ ดร.ชาย จบปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 1 จากคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยยอร์ค ประเทศอังกฤษ ดร.ชายเป็นเจ้าของธุรกิจ และสวมหมวกเป็นอาจารย์พิเศษด้านเศรษฐศาสตร์ และที่ปรึกษาให้หลายองค์กร ดร.ชายขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในน้อยคนที่ทำเรื่องเศรษฐศาสตร์ให้ง่ายและสนุกได้