การระบาดของ COVID-19 กระทบเศรษฐกิจทุกประเทศอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ่านมิติการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศ
ทุกประเทศไม่ว่าประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศกำลังพัฒนา ล้วนมีส่วนพึ่งพาเศรษฐกิจ การจ้างงาน รายได้รัฐ เงินตราต่างประเทศจากการท่องเที่ยวทั้งนั้น ปัจจุบันจึงกลายเป็นว่าประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวมาก ยิ่งได้รับผลกระทบมาก เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 มากสุด
ในภาพรวม จากรายงานของ UNCTAD ที่เผยแพร่เมื่อ ก.ค. 2563 ประเมินว่า การท่องเที่ยวที่หดตัวจาก COVID-19 ทำให้ GDP โลกลดลงราว 2.8-4.2% โดยไทยเป็นประเทศลำดับต้นๆ ในโลกที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวมากสุด
หากประเมินในมุมผลกระทบที่คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP พบว่าไทยสูงเป็นอันดับสอง รองจากประเทศจาไมกาเท่านั้น โดยจาไมกาได้รับผลกระทบต่อ GDP ที่ 11% ขณะที่ไทยได้รับผลกระทบต่อ GDP ที่ 9%
ทั้งนี้ หากประเมินผลกระทบในเชิงมูลค่า ไทยก็จัดว่าได้รับผลกระทบสูงเช่นกัน โดยมูลค่าเศรษฐกิจที่หดตัวของไทยอยู่ลำดับ 3 รองจากสหรัฐอเมริกาและจีนเท่านั้น ทั้งที่หากเทียบขนาดเศรษฐกิจประเทศ เศรษฐกิจไทยจัดว่าเล็กกว่าอเมริกาและจีนมาก โดยมูลค่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่กระทบประมาณ 187,038 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่าเศรษฐกิจของจีนที่กระทบประมาณ 104,690 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่มูลค่าเศรษฐกิจของไทยที่กระทบประมาณ 47,728 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ผลจากการที่ภาคท่องเที่ยวมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องจำนวนมาก เช่น ที่พัก อาหารและเครื่องดื่ม ขนส่งและเดินทาง ก่อสร้าง ฯลฯ มีการใช้แรงงาน ทุน ทรัพยากรการผลิตที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง การหดตัวของนักท่องเที่ยวจึงไม่ได้กระทบแค่ภาคท่องเที่ยวเท่านั้น แต่กระทบภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ด้วย จากการประเมินด้วยแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ รายได้จากการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่ลดลงทุก 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้รายได้แต่ละประเทศลดลง 2-3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ผลของจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่ลดลงยังทำให้คนว่างงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแรงงานจากธุรกิจในภาคท่องเที่ยวที่ปิดตัว ซึ่งหากเป็นเวลาปกติ สามารถย้ายไปสมัครงานในภาคอื่นได้ แต่ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยเช่นนี้ การหางานใหม่จึงเป็นเรื่องยาก
ผลจากจำนวนแรงงานที่ว่างงานเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานในแต่ละประเทศได้รับผลกระทบทางลบ จากการประเมินพบว่า ในมิติค่าจ้างที่ได้ลดลง มีความเป็นไปได้สูงที่ไทยเสี่ยงได้รับผลกระทบมากสุด โดยค่าจ้างแรงงานมีฝีมือเสี่ยงลดลง 12% ค่าจ้างแรงงานไร้ฝีมือเสี่ยงลดลง 17%
ทั้งนี้ ในยามปกติ การท่องเที่ยวสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย เพราะสร้างงานถึง 1 ใน 6 และสร้างรายได้กว่า 13-14% ต่อ GDP โดยนักท่องเที่ยวจีนมีจำนวนมากสุด คิดเป็น 30% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด
ผลจากการที่นักท่องเที่ยวจีนและนานาประเทศหายไป เราจึงเห็นภาพสถานที่ท่องเที่ยวใน กทม. เช่น วัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง วัดโพธิ์ และจังหวัดที่เป็นจุดหมายนักท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่ ภูเก็ต ร้างผู้คน ธุรกิจที่พึ่งสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้ ทั้งร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านอาหารริมหาด ธุรกิจขายของที่ระลึกจึงพลอยซบเซาไปด้วย
ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปตอนไทยมีรายงานเคสผู้ติดเชื้อรายแรก อัตราจองห้องพักโรงแรมทั่วประเทศลดลงถึง 65% ไม่ใช่แค่ห้องที่ว่างขึ้น แขกที่ลดลง แต่โรงแรมยังต้องลดราคาห้องพักลง 10-20% ภาพดังกล่าวย้อนกลับมาอีกครั้งตอนมีข่าวทหารจากอียิปต์เดินทางในระยอง ทำให้ผู้คนตื่นตระหนกแห่ยกเลิกที่พักที่ระยองในสุดสัปดาห์นั้นเกือบทั้งหมดทั้งที่เป็นวันหยุดยาว
เหตุการณ์นี้สะท้อนว่า นักท่องเที่ยวในปัจจุบันอ่อนไหวต่อข่าวลักษณะนี้มาก การจัดการการท่องเที่ยวของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต้องเร่งสื่อสารทำความเข้าใจ และสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชน ผู้คนจึงจะเดินทางท่องเที่ยว
ทุกท่านครับ ความกลัวหรือความตระหนกต่อการกลับมาระบาดของโรคที่มากเกินไป จะทำให้เศรษฐกิจในประเทศไทยไม่สามารถฟื้นกลับมา หากดูจากผลสำรวจของสวนดุสิตโพล์ในประชากร 1,459 คน ทั่วประเทศระหว่าง 14-18 ก.ค. 2563 ทันทีหลังเกิดเหตุการณ์ทหารอียิปต์และลูกทูตติดเชื้อ พบว่า เกือบ 95% ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการให้รัฐบาลไทยยกเลิกการอนุญาตให้มีการเดินทางจากต่างประเทศเข้าไทยได้ทั้งหมด ไม่ผ่อนปรนให้กรณีใดๆ ทั้งสิ้น ความกังวลเช่นนี้อันตรายต่อการบริหารเศรษฐกิจและเปิดรับนักท่องเที่ยวในวันข้างหน้า เพราะเศรษฐกิจไทยไม่สามารถปิดตลอดไปได้
COVID-19 กระทบการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยมากแค่ไหน ก็ดังผลวิจัยของ UNCTAD ที่นำมาแสดงข้างต้น หากไทยไม่สามารถดึงการท่องเที่ยวให้กลับมาได้ จะกระทบเศรษฐกิจทั้งหมดอย่างรุนแรงในระดับที่มากกว่าเกือบทุกประเทศในโลกทีเดียวครับ
แหล่งที่มา
Thailand-Business, Posttoday, UNCTAD, Mskinsey