หลายเดือนที่ผ่านมา ผมได้รับโอกาสให้ปฏิบัติหน้าที่กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์และการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ของสภาผู้แทนราษฎร กรรมาธิการชุดนี้ตั้งขึ้นเพื่อศึกษาผลกระทบของธุรกิจออนไลน์ในแง่มุมต่างๆ ที่มีต่อประชาชนและภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) เช่น ผลกระทบจากกฎระเบียบภาครัฐ ผลกระทบจากการประกอบการของธุรกิจรายใหญ่จากต่างประเทศ
วันนี้ผมมีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งได้จากการประชุม และคิดว่าเป็นประโยชน์หากนำมาเล่าสู่กันฟัง และเพื่อเป็นการเผยแพร่งานส่วนหนึ่งของคณะกรรมาธิการชุดนี้
จากการให้ข้อมูลของสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทำงานร่วมกับ e – Marketplace 3 รายหลัก คือ Lazada, Shopee และ JD Central ทำการเก็บข้อมูลการซื้อขายสินค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มต่างๆ พบว่า ในปี 2561 มีรายการสินค้าเพียง 74 ล้านรายการ ขณะที่ในปลายปี 2562 รายการสินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 174 ล้านรายการ หรือเพิ่มกว่า 100 ล้านรายการ คิดเป็นการเพิ่มมากกว่าเท่าตัว ซึ่งนับว่าสูงและรวดเร็วมาก
สาเหตุการขยายตัวมีหลายประการ ประการแรก ผู้บริโภคคุ้นเคยกับการซื้อของออนไลน์และระบบชำระเงินออนไลน์มากขึ้น ประการที่สอง จากการแข่งขันอย่างรุนแรงระหว่างแพลตฟอร์มต่างๆ โดยอุดหนุนค่าการตลาด ทำโปรโมชั่น ให้ส่วนลดแก่ผู้ซื้อ เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคมาช้อปปิ้งผ่านแพลตฟอร์มของตน ช่วยให้ผู้ซื้อสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาถูก ประการที่สาม จากผู้ผลิตและผู้ขายจำนวนมากเรียนรู้วิธีขายออนไลน์ เกิดผู้ขายหน้าใหม่ ช่วยให้สินค้าหลากหลาย รองรับความต้องการของผู้บริโภคได้ทุกกลุ่ม
จากข้อมูลปี 2562 ยังพบอีกว่า ยอดขายออนไลน์ในแต่ละช่องทาง มีส่วนแบ่งดังนี้ 47% ผ่าน e – Marketplace เช่น Lazada, Shopee JD Central ขณะที่อีก 38 % ผ่าน Social Media เช่น Line Instagram Facebook Twitter และ 15% เป็นการขายสินค้าของผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่มีช่องทางหลักคือออฟไลน์อยู่แล้ว เช่น Big c Lotus Power Buy
จากข้อมูลยังพบประเด็นน่าสนใจว่า ในจำนวนนี้ 77% เป็นสินค้าที่มาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน เช่น สินค้าแฟชั่น เคสโทรศัพท์เคลื่อนที่ อุปกรณ์กีฬา
การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้าไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ดูได้จากมูลค่าการนำเข้าของเร่งด่วน ผ่านสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2559-2563 (เดือนพฤษภาคม)
- ปี 2559 : 9229.51 ล้านบาท
- ปี 2560 : 10,651.46 ล้านบาท
- ปี 2561 : 14,348.48 ล้านบาท
- ปี 2562 : 20,380.76 ล้านบาท
- ปี 2563 : 13,568.20 ล้านบาท (8 เดือน)
หรือดูจากจำนวนใบตราส่งสินค้าการนำเข้าของเร่งด่วน ผ่านสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระหว่างปีงบประมาณ 2559-2563 (เดือนพฤษภาคม) (ราคา FOB <= 40,000 บาท)
- ปี 2559 : 3,330,248 ฉบับ
- ปี 2560 : 7,756,247 ฉบับ
- ปี 2561 : 11,986,590 ฉบับ
- ปี 2562 : 27,383,105 ฉบับ
- ปี 2563 : 23,847,561 ฉบับ (8 เดือน)
จะเห็นว่าการนำเข้าพัสดุสินค้าจากต่างชาติมายังไทยทั้งในส่วนใบตราส่งสินค้าและมูลค่าสินค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นอกจากนี้ สาเหตุสำคัญอีกประการที่ทำให้สินค้าจากต่างประเทศเข้ามาในไทยจำนวนมาก เกิดจากช่องว่างทางกฎหมาย ยกเว้นให้สินค้าที่ราคาไม่เกิน 1,500 บาท ไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเห็นว่าด้วยเกณฑ์มูลค่ายกเว้นดังกล่าว มีสินค้าจำนวนมากที่เข้าข่ายได้รับการยกเว้น ขณะเดียวกันก็มีสินค้าอีกจำนวนมากที่แสดงราคาอันเป็นเท็จเพื่อให้เข้าข่ายได้รับการยกเว้นด้วย
จากการประมาณการ เฉพาะปี 2562 มูลค่าสินค้าที่ไทยนำเข้าผ่านการสั่งแบบออนไลน์รวมสูงถึง 200,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ ประเมินว่าเป็นสินค้าที่มูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาทต่อครั้ง มากถึง 170,000 ล้านบาท และนี่คือมูลค่าสินค้าจากต่างประเทศที่เข้ามาทดแทนหรือแย่งชิงกำลังซื้อไปจากผู้ประกอบการไทยทั้งระบบ ไม่ว่าจากโรงงานผู้ผลิต หรือผู้อยู่ในธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง
สำหรับช่องทางการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่ผ่านแพลตฟอร์ม Marketplace เช่น Lazada Shopee JD Central aliexpress ในลักษณะให้ลูกค้าสั่งซื้อสินค้า ซึ่งมีทั้งสินค้าที่มีสต๊อกในประเทศไทยอยู่แล้ว และไม่มีอยู่ในไทย ต้องส่งมาจากต่างประเทศ โดยผู้ขายจำนวนมากเป็นคนต่างชาติ หรือเป็นโรงงานในต่างประเทศ เช่น จีน
ภายใต้สถานการณ์นี้ นับเป็นความเสี่ยงต่อผู้ประกอบการไทยไม่ว่าจะผู้ผลิตสินค้า หรือผู้ค้าปลีกค้าส่ง เพราะผู้ประกอบการไทยยากที่จะแข่งขันได้ทั้งราคาและต้นทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากในอนาคต มี EEC Free – Trade Zone ซึ่งดำเนินการแบบพื้นที่ปลอดภาษี อนุญาตให้นำเข้าสินค้ามาก่อน ยังไม่ต้องชำระภาษี ซึ่งจะช่วยให้ผู้ขายสามารถขายสินค้าที่มีราคาถูก และส่งสินค้าได้เร็วขึ้น
ผู้ประกอบการไทยไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตสินค้า ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ควรทราบความเสี่ยงเหล่านี้ เพื่อปรับตัว เตรียมรับมือผู้ขายออนไลน์จากต่างประเทศที่มีจำนวนมาก และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในมุมที่สินค้ามีราคาถูกขึ้น หลากหลายขึ้น ส่งได้ไวขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยอาจต้องพิจารณาออกมาตรการที่เหมาะสมเพื่อดูแลผู้ประกอบการในประเทศให้สามารถแข่งขันได้ ขณะเดียวกันก็ไม่ให้กระทบกับประโยชน์ของผู้บริโภคด้วย