ปัจจุบันโลกดิจิทัลไม่เพียงแต่ช่วยให้การพัฒนาธุรกิจเท่านั้น หากแต่ยังมีบทบาทในด้านการพัฒนาของหลายภาคส่วน แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ไม่สามารถใช้ความสามารถในด้านดิจิทัลได้เต็มประสิทธิภาพ ขณะที่บางส่วนยังเข้าไม่ถึงดิจิทัลเนื่องมาจากปัจจัยหลายๆ ด้าน ทำให้จำเป็นต้องมีการสำรวจเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
โดยหน่วยงานที่ดูแลและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล ตกเป็นหน้าที่ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Promotion Agency -DEPA) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งในกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) ล่าสุดได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลการใช้ดิจิทัลและซอฟต์แวร์ในภาคการศึกษาและภาคบริการสุขภาพ
ซึ่งผลการสำรวจการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในภาคการศึกษา โดยสำรวจเฉพาะครูวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนสังกัด กทม. และ สพฐ. จำนวน 923 โรงเรียนทั่วประเทศ พบว่า 99% โรงเรียนมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แต่มีครูเพียง 35% ที่มีความพึงพอใจต่อความเร็วของอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ 55% พบว่าโรงเรียนยังความขาดแคลนนักคอมพิวเตอร์อย่างรุนแรง
ไม่เพียงเท่านี้ยังพบว่ามีการแบ่งปันทรัพยากรดิจิทัลที่ครูสร้างขึ้นเอง แต่ 57% จะแบ่งปันเฉพาะภายในโรงเรียนเท่านั้น ซึ่งครูทุกคนสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ไอทีได้หลายชนิด ได้แก่ สมาร์ทโฟน พีซี และโน้ตบุ๊ค ในขณะที่นักเรียนประมาณครึ่งหนึ่งเข้าถึงได้เพียงสมาร์ทโฟนเท่านั้น
ข้อมูลดังกล่าวสามารถสรุปออกเป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มครูมีเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้งานเพียงพอ ขณะที่ความรู้ด้านไอทีอยู่ในส่วนค่อนข้างดี แต่ยังขาดการอบรมที่เพียงพอและสม่ำเสมอ รวมถึงขาดระบบการแบ่งปันทรัพยากรดิจิทัลเพื่อการเรียนการสอน ด้านกลุ่มนักเรียนพบนักเรียนมัธยมมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้งานมาก แต่นักเรียนประถมยังขาดแคลนเครื่องคอมพิวเตอร์ ส่วนด้านบุคลากรไอทียังคงขาดแคลนบุคลากรในด้านนี้
ขณะที่ผลสำรวจการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในภาคบริการสุขภาพ โดยเป็นการสำรวจในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลจำนวน 309 แห่ง เป้าหมายคือการสร้างระบบฐานข้อมูลกลาง (Centralization) โดยโรงพยาบาลทุกขนาดเห็นกับระบบดังกกล่าวมากกว่า 90% ขึ้นไปเพื่อแบ่งปันข้อมูลร่วมกัน รวมถึงยังต้องการให้เกิดรูปแบบการให้บริการที่มีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง โดยให้ผู้ป่วยมีการเคลื่อนที่น้อยที่สุด
แนวคิดดังกล่าวจะทำให้เกิดบริการรูปแบบที่มีระบบซอฟต์แวร์และไอทีที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศจากระบบปฏิบัติการโรงพยาบาล (Hospital Information System –HIS) ผ่านฐานข้อมูลกลางที่ออกแบบให้รองรับโครงสร้างข้อมูลในแต่ละจังหวัดให้สามารถแสดงผลอย่างถูกต้อง เพื่อให้ประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต่างๆ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถใช้ประโยชน์จากระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Personal Health Record: PHR) และสามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์และออกนโยบายการสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ผลสำรวจระบุว่าการพัฒนาและการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในภาคการบริการด้านสุขภาพจะนำไปสู่การให้บริการแบบ Homecare ที่จะช่วยให้คนไข้ได้รับบริการสาธารณสุขจากที่บ้านในอนาคต รวมทั้งสามารถดูแลตัวเองได้โดยใช้เครื่องมือ Wearable Device ที่เชื่อมต่อเข้ากับเซิร์ฟเวอร์หรือคลาวด์ของโรงพยาบาล เพื่อให้สามารถได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาลหากไม่จำเป็น หรือมีระบบแจ้งเตือนไปยังญาติหรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลอยู่ได้หากเกิดกรณีฉุกเฉิน ทำให้สามารถดูแลรักษาได้ทันท่วงที
Copyright © MarketingOops.com