“โฮสเทล” ดาวรุ่งธุรกิจท่องเที่ยวปี 59 รับกระแส Solo Traveling

  • 17
  •  
  •  
  •  
  •  

Oldtown Hostel (2)-highlight

สำหรับธุรกิจโฮสเทลในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามสำหรับการประกอบธุรกิจโฮสเทลนั้นผู้ประกอบการจำเป็นต้องเข้าใจถึงจุดประสงค์ของนักท่องเที่ยวผู้เข้าพัก และออกแบบที่พักเพื่อตอบโจทย์ผู้เข้าพักมาที่สุด

คุณบุริม โอทกานนท์ รองคณบดีงานสนับสนุนการศึกษา และอาจารย์ประจำสาขาวิชาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า จากการเติบโตของธุรกิจโฮสเทลในปัจจุบันถือเป็นโอกาสดีสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้หลักเข้าประเทศ โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2558 ที่ผ่านมา มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว 22 ล้านคน โดยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศได้ถึง 1.8 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่นักท่องเที่ยวคนเดียวไม่ควรพลาดจากการจัดอันดับของเว็บไซต์ www.lifehack.org ซึ่งปัจจุบัน ในประเทศไทย มีโฮสเทลมากกว่า 2,000 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 12 ของที่พักนักท่องเที่ยวทั้งหมด ถือได้ว่ามีอัตราการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมากในช่วงปีที่ผ่านมา และหากพิจารณาถึงด้านรูปแบบของตัวธุรกิจแล้วนั้น โฮสเทลเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนสูงและไม่มีข้อจำกัดที่ตายตัว ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจโฮสเทลมีอิสระในการออกแบบรูปแบบของโฮสเทลได้ตามต้องการ โดยอาศัยความโดดเด่นและเอกลักษณ์ประจำตัวเป็นจุดขายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งนี้จากปัจจัยทั้งในแง่ของมูลค่าอุตสาหกรรมและเทรนด์พฤติกรรมการท่องเที่ยวในปัจจุบันทำให้ธุรกิจโฮสเทลจึงเป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่หันมาให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ทำให้ธุรกิจโฮสเทลมีโอกาสเพิ่มเติบโตขึ้นอีกกว่าร้อยละ 10 ภายในสิ้นปีนี้ โดยเฉพาะในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของประเทศไทย อาทิ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต

คุณอัฐภิญญา ปุณณมากุล นักศึกษาวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า ตนและสมาชิกในกลุ่มได้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนากลยุทธ์การทำธุรกิจโฮสเทลให้ประสบความสำเร็จ โดยสอบถามผู้ใช้บริการโฮสเทล 200 คน และสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มตัวอย่างทั้งนักท่องเที่ยวฝั่งยุโรปและเอเชียจำนวน 30 คน ดังนี้

5 กลยุทธ์พิชิตใจแบ็คแพ็คเกอร์

1. เข้าใจ – เข้าใจความต้องการและจุดประสงค์ในการเข้าพักของผู้เข้าพัก โดยผู้เข้าพักอาจไม่ได้ต้องการบริการที่เพียบพร้อมเหมือนเข้าพักในโรงแรม แต่ต้องการบรรยากาศสบายๆเสมือนบ้าน และแหล่งพบปะเพื่อนใหม่ๆในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การท่องเที่ยว

2. เข้าทาง – เข้าทางการดึงจุดเด่นของสถานที่มาเป็นจุดขาย หรือการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อสร้างความโดดเด่นและแตกต่าง ให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์และเกิดการจดจำ เนื่องจากสถานที่คือหนึ่งในจุดขายที่จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ดีที่สุด

3. เข้าพัก – สร้างให้ผู้เข้าพักได้เข้าพักโฮสเทลที่ใช่ มีคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจน เป็นที่จดจำของลูกค้าได้ นำไปสู่การบอกต่อในหมู่นักท่องเที่ยวได้ต่อไป

4. เข้าถึง – เข้าถึงช่องทาง โดยเฉพาะทางด้านเว็บไซต์ต่างๆที่สามารถทำการจอง และแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างผู้เข้าพักได้ โดยช่องทางนี้เป็นช่องทางที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกเข้าพักของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

5. เข้าหา – เข้าหาลูกค้าเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีใส่ใจในทุกรายละเอียดของลูกค้า เพื่อสร้างความสุขและสนุกสนานในการอยู่ร่วมกันเสมือนคนในครอบครัว ซึ่งการเข้าหาลูกค้านั้นยังทำให้ทางเจ้าของโฮสเทลได้รับทราบผลตอบรับเพื่อนำมาพัฒนาโฮสเทลให้ตรงใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น

เทรนด์การท่องเที่ยวคนเดียวกำลังมาแรง

อย่างไรก็ตามก่อนการศึกษาวิจัยดังกล่าวได้ศึกษาข้อมูลการท่องเที่ยวในปัจจุบันพบว่า เทรนด์การท่องเที่ยวคนเดียว (Solo Traveling) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวกล้าที่จะออกเดินทางท่องเที่ยวคนเดียวมากขึ้น โดยผลสำรวจของ Visa Global Travel Intentions Study ปี 2558 ที่สอบถามนักท่องเที่ยวจำนวน 13,000 คนจาก 25 ประเทศ พบว่ามีการท่องเที่ยวคนเดียว ร้อยละ 24 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ10 เมื่อเทียบกับปี 2557 และจากเทรนด์ดังกล่าวทำให้ธุรกิจโฮสเทลเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากร้อยละ 64 ของนักท่องเที่ยวคนเดียวนั้นเลือกใช้บริการที่พักประเภทโฮสเทล โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวในช่วงอายุ 18 – 30 ปี ซึ่งมีเหตุผลหลักคือเรื่องราคา ความต้องการพบปะเพื่อนใหม่ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ท่องเที่ยวระหว่างกลุ่มนักท่องเที่ยวด้วยกัน


  • 17
  •  
  •  
  •  
  •