ผลวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคเกี่ยวกับการซื้อสินค้าในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย ที่จัดทำโดย บริษัท วายแอนด์อาร์ จำกัด ซึ่งนำเสนอไปเมื่อเร็วๆ นี้ สะท้อนภาพตลาดและกำลังซื้อสินค้าต่างๆ ว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย มีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคแล้วอย่างชัดเจน
งานวิจัยนี้ เป็นการสำรวจในช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย.2552 จากกลุ่มผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 600 ตัวอย่าง มีการปรับพฤติกรรมการซื้อสินค้าในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยพบว่ามีสูงถึง 78.5% ที่เปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าในรูปแบบที่ต่างกันไป
กลุ่มตัวอย่าง 74% ซื้อและใช้สินค้ายี่ห้อเดิมแต่ความถี่น้อยลง, 63% ซื้อและใช้สินค้ายี่ห้อเดิมแต่จำนวนน้อยลง, 57% ซื้อยี่ห้อที่แพงกว่า ถ้าสินค้าโดนใจ, 32% เปลี่ยนไปใช้ยี่ห้อที่ราคาถูกกว่า, 31% เปลี่ยนไปใช้ยี่ห้ออื่นเพราะเศรษฐกิจไม่ดี, 29% ซื้อยี่ห้อเดิมจำนวนมากเพราะเชื่อว่าถูกกว่า และพบว่า เพศชาย มีการปรับพฤติกรรมการซื้อชัดกว่าเพศหญิง
เมื่อดูรายละเอียดกลุ่มอายุพบว่า อายุ 30-39 ปี ปรับพฤติกรรมมากที่สุด 82% เนื่องจากเป็นกลุ่มคนทำงานหารายได้เอง สร้างฐานะและเลี้ยงครอบครัว รองลงมาคือกลุ่มอายุ 40-50 ปี ปรับพฤติกรรม 80% ส่วนวัยเริ่มต้นทำงานอายุ 23-29 ปี ปรับพฤติกรรม 77% ขณะที่หนุ่มสาววัย 18-22 ปี ปรับน้อยสุด คือ 75% แต่โดยภาพรวมถือว่าคนปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายในอัตราค่อนข้างสูง
ผลสำรวจนี้ ยังจำแนกกลุ่มตัวอย่างเป็น กลุ่มคนที่ดูแลสุขภาพ และกลุ่มที่ใส่ใจความงาม พบว่าทั้ง 2 กลุ่ม ปรับตัวเช่นกัน โดย 74% ซื้อและใช้สินค้ายี่ห้อเดิมแต่ลดความถี่ลง, 63% ซื้อและใช้สินค้ายี่ห้อเดิมแต่ลดจำนวนลง แต่กลุ่มที่สนใจความงาม มีถึง 72% ยังยินดีซื้อยี่ห้อที่แพงกว่าหากสินค้าโดนใจ (Stat: B) สะท้อนว่า สินค้าและบริการที่มีคุณภาพดี สื่อสารได้ตรงใจยังทำยอดขายได้ แต่ต้องใช้ความพยายามเข้าถึงผู้บริโภคให้มากขึ้น
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์