จีนถึงเป็นหนึ่งประเทศที่สำคัญต่อประเทศไทย โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวที่มีการสำรวจมาก่อนหน้านี้ว่า ไทยเป็นประเทศที่คนจีนนิยมมาท่องเที่ยวมากที่สุด ด้วยเหตุผลที่ไทยมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับจีน แถมคนไทยมีนิสัยโอบอ้อมอารีช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ค่าครองชีพก็ไม่แพงและสถานที่ท่องเที่ยวอย่างทะเลและเกาะต่างๆ ก็สวยงามกว่าจีน
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเกาะเล็กเกาะน้อยของจีนน้อย ส่วนมากเป็นเกาะขนาดใหญ่มีความเป้นเมืองสูงอย่างเกาะฮ่องกง เกาะไหหลำ นอกจากนี้อิทธิพลจากภาพยนตร์อย่าง Lost in Thailand ยังมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย ยิ่งไปกว่านั้นการเดินทางเที่ยวในไทยสะดวกใช้เวลาไม่นาน วีซ่าท่องเที่ยวของไทยก็มีระยะเวลานานถึง 30 วันในการเดินทางท่องเที่ยวในไทย
แต่ในช่วงที่ผ่านมาหลังค่าเงินบาทแข็งตัว ประกอบกับเศรษฐกิจจีนที่มีการชะลอตัวส่งผลให้การเดินทางท่องเที่ยวในไทยลดลง ยิ่งผลกระทบจากอุบัติเหตุเรือท่องที่ยวก่อนหน้านี้ ยิ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการเดินทางมาเที่ยวในไทย และเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นเมื่อ อาลีเพย์ (Alipay) เปิดเผยข้อมูลการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงวันหยุดยาวเฉลิมฉลองวันชาติจีนหรือ Golden Week ช่วงวันที่ 1–7 ตุลาคมที่ผ่านมา
โดยผลการสำรวจพบว่า ประเทศไทยกลายเป็นประเทศอันดับ 2 ในแง่ของจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจีน โดยญี่ปุ่นขึ้นตำแหน่งครองแชมป์ประเทศที่น่าท่องเที่ยวของชาวจีนเป็นครั้งแรก แต่ถึงอย่างนั้นปริมาณธุรกรรมของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทยทั้งหมดก็ยังเพิ่มขึ้น 1.2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ที่สำคัญ จำนวนยอดใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนเพิ่มขึ้น 1.22 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่สถานที่ที่มีปริมาณการทำธุรกรรมการเงินสูงสุดจะเป็นร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าปลอดภาษี และห้างสรรพสินค้า โดยจากข้อมูลจาก Fliggy บริษัทด้าน OTA รายใหญ่ 1 ใน 3 ของจีนของระบุว่า นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมายังประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากเมืองกลุ่ม Tier 1 อย่างมณฑลกวางตุ้ง, เซี่ยงไฮ้และปักกิ่งตามลำดับ
ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนมีการทำธุรกรรมการเงินในร้านค้าทั่วโลกเพิ่มขึ้น 110% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งในปีนี้ประเทศกัมพูชาและฟิลิปปินส์ติดอันดับ 10 ปรเทศจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจีนเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ที่มีปริมาณธุรกรรมทางการเงินของนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้น 26 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ประกอบการร้านค้าเริ่มปรับตัวหันมาให้บริการรับชำระเงินผ่านอาลีเพย์มากขึ้น ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนสะดวกในการจับจ่ายใช้สอย
ไม่เพียงเท่านี้ ยอดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนเฉลี่ยต่อคนเพิ่มขึ้น 15% เป็น 2,500 หยวนหรือราว 350 ดอลลาร์ (ประมาณ 11,000 บาท) โดยประเทศที่มียอดใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนสูงที่สุดคือ มอลตา ตามมาด้วยโมนาโกและสเปน ที่สำคัญประเทศในกลุ่มยุโรปครองอันดับสูงสุดในแง่ของยอดใช้จ่ายต่อคนสูงสุด โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และญี่ปุ่นครองอันดับสูงสุดสำหรับประเทศนอกทวีปยุโรป
จากข้อมูลยังชี้ให้เห็นว่า นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ที่เกิดในช่วงทศวรรษ 2000 นิยมเดินทางไปต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 130% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะนักท่องเที่ยวเดิมที่เกิดก่อนช่วงทศวรรษ 1960 มีอัตราเพิ่มขึ้นเพียง 30% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ชาวจีนที่นิยมใช้เงินที่มีมากกว่าการเก็บเงินเพื่อใช้ในอนาคต
นอกจากนี้จากข้อมูลยังพบอีกว่า นักท่องเที่ยวจีนเริ่มแสวงหาจุดหมายปลายทางที่ “แปลกใหม่” กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น โดย Fliggy ชี้ว่า ยอดการจองแพ็คเกจท่องเที่ยวสำหรับประเทศมอนเตเนโกรเพิ่มขึ้น 14 เท่า อุซเบกิสถานเพิ่มขึ้น 4.7 เท่าและเซอร์เบียเพิ่มขึ้น 1.8 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป้นเพราะนักท่องเที่ยวจีนต้องการประสบการณ์ที่แตกต่าง โดยมียอดขายตั๋วรถไฟในยุโรปผ่านทาง Fliggy เพิ่มขึ้น 35%
ซึ่งการเดินทางเที่ยวที่แปลกใหม่นี่เอง ยังส่งผลดีต่อประเทศไทย โดยเฉพาะแพ็คเกจ “ทัวร์ชิมทุเรียน” ในประเทศไทยและมาเลเซียมียอดขายเพิ่มขึ้น 60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว Golden Week จึงไม่ใช่แค่วันหยุดยาวของคนจีน แต่ยังเป็นโอกาสในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยผู้ประกอบการกว่า 300,000 รายใน 55 ประเทศเข้าร่วมในแคมเปญ Golden Week ของอาลีเพย์ในปีนี้
จากข้อมุลจึงชี้ให้เห็นว่าทิศทางการท่องเที่ยวของไทยควรต้องปรับตัว เพื่อให้ยังคงสามารถครองใจประเทศจุดหมายปลายทางของนักท่องดที่ยวจีน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะโดยธรรมชาติคนจีนกลัวการหลอกลวง (คนจีนยังกลัวคนจีนด้วยกันหลอก) ดังนั้นเมื่อคนจีนเชื่อมั่นสิ่งใดแล้วจะเชื่อใจแบบยาวๆ ตราบที่เมื่อไหร่เริ่มรู้สึกว่าถูกหลอก คนจีนก็จะหนีจากสิ่งนั้น ที่สำคัญคนจีนนิยมบอกต่อแบบปากต่อปากอีกด้วย