หากลองสังเกตดูตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นตัวเราเอง หรือคนรอบข้าง ส่วนใหญ่มักจะทานอาหารนอกบ้าน ชอบไปนั่งชิลในร้านกาแฟเก๋ๆ โดยเฉลี่ยคนไทยทานอาหารนอกบ้าน 56 ครั้งต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่จำนวน 50 ครั้งต่อเดือน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มเติบโตขึ้น ในขณะเดียวกันผู้บริโภคก็มีตัวเลือกมากขึ้นเช่นกัน
จากการเก็บข้อมูลของ Nielsen ในหัวข้อ ‘FoodTrips’ ที่ข้อมูลพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคต่อการทานข้าวนอกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นความถี่ ลักษณะของการทานอาหารและการจับจ่ายในแต่ละมื้อ รวมถึงช่องทางการซื้ออาหาร เหตุผลในการเลือก และเทรนด์ของตลาด โดยสามารถแตกออกมาได้เป็น 4 เทรนด์ที่น่าจับตามอง
ร้านสะดวกซื้อกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันในการทานข้าวนอกบ้าน
ช่องทางในการทานข้าวนอกบ้านที่เป็นที่นิยม 3 อันดับแรกของผู้บริโภคชาวไทยคือ ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายอาหารที่เป็นแผงลอย (food stall) และอาหารข้างทาง (street food) เรียงตามลำดับ ซึ่งเป็นเทรนด์เดียวกันกับปี 2559 อย่างไรก็ตามเราจะเห็นได้ถึงการเติบโตของการเข้าถึงผู้บริโภคสำหรับทั้งสามช่องทาง โดยที่ร้านสะดวกซื้อนั้นมีการเติบโตที่ 7% เฉลี่ยแล้วมีผู้บริโภคเข้าร้านอยู่ที่ 21 ครั้งต่อเดือน และเหตุผลที่ผู้บริโภคเลือกที่จะเข้าร้านสะดวกซื้อหลักๆ แล้วคือเพื่อบรรเทาความหิวและเนื่องจากมีความรู้สึกว่าเป็นกิจวัตรประจำวัน
นอกจากนี้ ร้านสะดวกซื้อต่างๆ ก็ให้ความสำคัญกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมากขึ้น ทั้งการปรับตัวสู่การเป็น one-stop shopping destination ซึ่งมีทั้งขายของสด อาหาร บริการส่งสินค้า และแม้แต่ co-working space เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
ทานของว่างน้อยลง เน้นมื้อหลัก
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ที่ผ่านมาคนไทยทานอาหาร 7 ครั้งต่อวัน ทั้งอาหารมื้อเช้า อาหารว่างก่อนมื้อเที่ยง มื้อเที่ยง อาหารว่างช่วงบ่ายหลังมื้อเที่ยง อาหารว่างช่วงบ่ายแก่ๆ มื้อเย็น และอาหารว่างรอบดึก แต่ตามรายงาน Food Trips เผยว่า คนไทยทานอาหารว่างน้อยลง ในขณะที่เพิ่มการทานอาหารมื้อหลักอย่างมื้อเช้า กลางวัน เย็น มากขึ้นเมื่อเทียบระหว่างปี 2560 และ 2559 โดยมื้อเย็นนั้นมีอัตราการเติบโตสูงสุดที่ 5% เมื่อเทียบกับมื้ออื่นๆ
การเติบโตและมนต์เสน่ห์ของร้านคาเฟ่
เมื่อพูดถึงพฤติกรรมการทานอาหารนอกบ้าน คงจะเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่พูดถึงการดื่มชา/กาแฟซึ่งเป็นหนึ่งในเทรนด์การทานอาหารของคนไทยและมีการเติบโตที่น่าสนใจ ทั้งนี้อัตราการเข้าถึงของคอฟฟี่ชอปอยู่ที่ 60% ทั่วประเทศ โดยที่กรุงเทพฯ นั้นมีอัตราที่สูงกว่า (69%) เมื่อเทียบกับต่างจังหวัด (53%) และเฉลี่ยแล้วผู้บริโภคชาวไทยจะเข้าร้านชา/กาแฟประมาณ 6 ครั้งต่อเดือน
ในขณะที่ผู้บริโภคในกรุงเทพฯ เข้าร้านกาแฟโดยเฉลี่ยถึง 8 ครั้งต่อเดือน เหตุผลหลักคือเพื่อความรู้สึกสดชื่นและตื่นตัวระหว่างวัน อย่างไรก็ตาม เมื่อมองลึกลงไปถึงกลุ่มผู้บริโภคที่ดื่มกาแฟ และแยกเป็นแต่ละประเภท จะเห็นได้ว่ากลุ่มที่ดื่มกาแฟเพราะว่าแบรนด์ มองว่าจะสะท้อนและส่งเสริมภาพลักษณ์ของตนเองได้ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีจำนวนที่โตขึ้น เพราะฉะนั้น นอกจากคุณภาพและการบริการที่ดีแล้ว การสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งและมีจุดยืนที่ชัดเจนก็เป็นสิ่งที่เจ้าของธุรกิจกาแฟควรคำนึงถึงเพื่อดึงดูดลูกค้าในอนาคต
อาหารพร้อมทาน จับใจผู้บริโภคต่างจังหวัด
ประเภทอาหารพร้อมทาน หรือ Ready to Eat เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้บริโภคชาวไทยให้ความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และอัตราการเติบโตในต่างจังหวัดมีมากกว่าในกรุงเทพ ทั้งนี้กว่า 7 ใน 10 ของผู้บริโภคในต่างจังหวัดบริโภคอาหารพร้อมทาน โดยที่อาหารพร้อมทานประเภทแช่เย็น (Chill RTE) นั้นมีการเติบโตที่ 9% ประเภทอาหารแช่แข็ง (Frozen RTE) มีการเติบโตที่ 7% และประเภทอาหารพร้อมทานในอุณภูมิห้อง (Ambience RTE) มีการเติบโตที่ 1% ในต่างจังหวัดเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักที่ผู้บริโภคไม่ต้องการทำอาหารเองนั้นเป็นเพราะต้องใช้เวลาในการเตรียมวัตถุดิบต่างๆ และไม่ชอบการทำความสะอาดหลังทำอาหาร
จากการสำรวจนี้ จะเห็นว่ากลุ่มที่ทานข้าวนอกบ้านจะ “เลือก” มากขึ้น ส่วนกลุ่มที่มีรายได้ระดับกลาง-ต่ำ ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังไม่แน่นอน พวกเขาจะระมัดระวังการทานข้าวนอกบ้านมากขึ้น การที่ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มจะดึงดูดผู้บริโภคได้นั้น ต้องปรับตัวเข้าหาไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค ควบคู่กับการสร้างกลยุทธ์เพื่อแข่งขันทางธุรกิจ