“ตลาดธุรกิจสัตว์เลี้ยง” ทั้งในระดับโลก และในไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันขยายไปยังสินค้า-บริการอีกหลากหลายกลุ่ม โดยในปี 2021 Euromonitor ประมาณการณ์ธุรกิจสินค้าและบริการเกี่ยวเนื่องกับสัตว์เลี้ยง มีมูลค่า 43,372 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมีมูลค่า 110,268 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่มูลค่าตลาดในไทย ธุรกิจสินค้าและบริการเกี่ยวเนื่องกับสัตว์เลี้ยงมีมูลค่า 3,954 ล้านบาท และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมีมูลค่า 40,638 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าในปี 2026 ตลาดสัตว์เลี้ยงโลก จะมีมูลค่าสูงถึง 217,651 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตเฉลี่ย (2021 – 2026) ปีละ 7.2% (CARG) เช่นเดียวกับมูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์คาดว่าจะเติบโตจากปี 2021 เฉลี่ยปีละ 8.4% (CARG) มาอยู่ที่ 66,748 ล้านบาทในปี 2026
จากมูลค่าตลาดธุรกิจสัตว์เลี้ยงดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่านับวันผู้คนจะหันมาเลี้ยงสัตว์มากขึ้น ซึ่งการเลี้ยงสัตว์ในทุกวันนี้ ไม่ได้เป็นเพียงสัตว์เลี้ยงเท่านั้น แต่ยังดูแลเหมือนลูก หรือสมาชิกในครอบครัว
ล่าสุด “วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล” หรือ “CMMU” เผยผลสำรวจตลาดธุรกิจสัตว์เลี้ยงในไทย ที่เติบโตสวนกระแส COVID-19 เป็นอย่างมาก สอดคล้องกับอัตราการเลี้ยงสัตว์ในไทยจากฐานข้อมูลเพื่อการขึ้นทะเบียนสุนัข-แมว มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากทุกปี ขณะที่อัตราการเกิดของเด็กในไทยตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แสดงให้เห็นถึงครอบครัวจำนวนมากนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยง เพื่อเข้ามาเติมเต็มครอบครัว
เมื่อความนิยมการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพิ่มมากขึ้น และเป็นเทรนด์ต่อเนื่องในระยะยาว ทำให้ปัจจุบันหลายแบรนด์หันมาทำการตลาดด้วยกลยุทธ์ “Pet Marketing” มากขึ้น เป็นกลยุทธ์การตลาดที่แบรนด์เลือกใช้ “สัตว์เลี้ยง” เข้ามาเป็นอัตลักษณ์ส่วนหนึ่งของแบรนด์ เพื่อช่วยในการสื่อสารและสร้างภาพจำ หรือเพื่อผลประโยชน์ทางการตลาด โดยภาพโฆษณาที่มีทั้งสัตว์และสินค้าอยู่ในโฆษณา จะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อมากขึ้น และยังส่งผลให้ “Pet Influencer” เติบโตเพิ่มขึ้น
49% ของคนไทยเลี้ยงสัตว์แทนลูก และกว่า 80% อยู่สถานะโสด
ผลการศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาวิจัยเชิงปริมาณ โดนใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,046 คนเก็บข้อมูลโดยใช้ผ่านแบบสอบถาม และการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 100 คน เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก กลุ่มตัวอย่างแบ่งออกเป็นเพศหญิง 66.8% เพศชาย 22.3% และเพศทางเลือก 10.9% โดยอยู่ในช่วง Generation Z (น้อยกว่า 24 ปี) 12% Generation Y (24 – 41 ปี) 77.3% และ Generation X (42 ปีขึ้นไป) 10.7%
จากผลสำรวจพบ 3 เหตุผลหลักของการเลี้ยงสัตว์เลี้ยง
– 49% เลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นลูก (Pet Parent) โดยเทรนด์การเติบโตของ Pet Parent เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในประเทศไทย โดยอัตราการเลี้ยงสัตว์ในไทยอ้างอิงจากฐานข้อมูลเพื่อการขึ้นทะเบียนสุนัข – แมว (Pet Register) เพิ่มมากขึ้นทุกปี ในขณะเดียวกัน อัตราการเกิดของเด็กไทยในช่วงปี 2560 – 2564 ก็ลดลงทุกปีอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
– 34% เลี้ยงสัตว์เพื่อสถานะทางสังคม (Pet Prestige)
– 18% เพื่อช่วยเหลือ และช่วยบำบัดรักษา (Pet Healing) โดยสัตว์เลี้ยงบำบัดมีประโยชน์ อาทิ เพิ่มความสุข เพราะช่วยเพิ่มระดับสาร Oxytocin ได้ 20% และทำให้สภาพจิตดี ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดความดันโลหิต รวมถึงช่วยเยียวยาจิตใจหรือร่างกาย
นอกจากนี้ การสำรวจยังพบว่า 80.7% ของผู้ที่เลี้ยงสัตว์มีสถานะโสด และ 19.3% มีสถานะสมรสแล้ว
ทาสหมา – ทาสแมวครองเมืองสูงสุด – คนเลี้ยงสัตว์ Exotic เพราะแตกต่าง เลี้ยงง่าย
การสำรวจครั้งนี้ ยังเจาะลึกว่าคนไทยนิยมเลี้ยงสัตว์อะไรมากที่สุด พบว่า
– 40.4% ของกลุ่มตัวอย่างเลี้ยงสุนัขมากที่สุด เนื่องจากสุนัขมีความซื่อสัตย์ ซุกซน ขี้เล่น ฉลาด แสนรู้ และคลายเหงาได้
– 37.1% ของกลุ่มตัวอย่างเลี้ยงแมว เนื่องจากไม่ส่งเสียงดัง น่ารัก ขี้อ้อน เลี้ยงดูง่าย เป็นสัตว์ที่รักสะอาด และไม่มีกลิ่นเหม็น
– 22.6% เป็นกลุ่มที่เลี้ยงสัตว์ Exotic เพราะสัตว์กลุ่มนี้ดูมีความแตกต่าง และอินเทรนด์ สามารถบอกตัวตนของคนเลี้ยงได้ อีกทั้งยังเลี้ยงง่าย ใช้พื้นที่น้อย อายุยืน เป็นโรคน้อย และสามารถเลี้ยงตามธรรมชาติได้
สำหรับสัตว์ Exotic ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด คือ ปลาสวยงาม เพราะไม่ต้องมีปฏิสัมพันธ์มาก รองลงมาคือ นก กระต่าย เต่า และหนู ตามลำดับ
นอกจากนี้ยังมีสัตว์แปลกที่คนนิยมเลี้ยงเช่นกัน อันดับ 1 คือ กิ้งก่า ตามมาด้วยชูก้าไกลเดอร์ แมงมุม งู ไก่สวยงาม ตามลำดับ
โดยช่องทางการรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง Exotic คือ Facebook Page/Facebook Group, YouTube หาความรู้ วิธีการดูแล-รักษา และ TikTok เพื่อคลายเครียด และดูเพื่อความบันเทิง
“เป็นทาส” ต้องพร้อมเลี้ยง – พร้อมดูแล – พร้อมรักษา เผยทาสสายเปย์ ยอมจ่ายกว่า 2 หมื่นต่อตัวต่อปี
ในการเลี้ยงสัตว์ ผู้เลี้ยง หรือเจ้าของต้องมีความพร้อม ทั้งความพร้อมในการเลี้ยง – พร้อมดูแล และพร้อมรักษา ซึ่งต้องมีการศึกษา หาข้อมูลต่างๆ เพื่อตัดสินใจ และมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องในการเลี้ยงสัตว์แต่ละชนิด รวมถึงค่าดูแลรักษาที่แตกต่างกันไป
-
พร้อมเลี้ยง
ช่องทางการรับข้อมูลเกี่ยวกับอาหารสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด คือ
– โซเชียลมีเดีย 39.8%
– จากเพื่อนและครอบครัว 28%
– ค้นหาทางอินเทอร์เน็ต 22.3%
– โฆษณาทีวี 9.9%
ช่องทางการซื้ออาหารสัตว์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ
– ร้านขายสินค้าสัตว์เลี้ยง 34.8%
– อีคอมเมิร์ซ 22.2%
– ซูเปอร์มาร์เก็ต 12.4%
– ไฮเปอร์มาร์เก็ต 11.8%
– คลินิกรักษาสัตว์ 8.2%
ขณะที่ความถี่ในการซื้อ มากกว่า 50% ซื้อมากกว่า 1 ครั้งต่อเดือน โดยปัจจัยหลักที่กระตุ้นการตัดสินใจในการซื้อ ได้แก่ โปรโมชัน ความหลากหลาย และคุณภาพของสินค้า
ทางด้านพฤติกรรมของผู้ซื้ออาหารสัตว์มักจะมุ่งเน้นการซื้อเพื่อสุขภาพที่ดีของสัตว์เลี้ยง ไม่ค่อยซื้อเพื่อตุนของ และ 62.6% ไม่ค่อยนิยมเปลี่ยนแบรนด์ เนื่องด้วยกลัวสัตว์เลี้ยงจะมีอาการท้องเสีย ไม่คุ้นกลิ่น และไม่คุ้นเม็ดอาหาร
สำหรับแบรนด์อาหารสัตว์ยอดนิมสำหรับสัตว์ทั่วไป ได้แก่ Royal Canin, SmartHeart และ Me-O
ในขณะที่อาหารสัตว์ Exotic แบรนด์ที่เป็นที่นิยม ได้แก่ Optimum, Sakura และ Prima
ส่วนค่าใช้จ่ายอาหารสัตว์ต่อเดือน พบว่าส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,001 – 2,000 บาทต่อเดือน
– ต่ำกว่า 1,000 ต่อเดือน อยู่ที่ 34.2%
– 1,001 – 2,000 บาทต่อเดือน อยู่ที่ 39.3%
– 2,001 – 3,000 บาทต่อเดือน อยู่ที่ 15.6%
– มากกว่า 3,000 บาทต่อเดือน อยู่ที่ 10.9%
-
พร้อมดูแล
ในด้านการดูแลเหล่าสัตว์เลี้ยงก็มีบริการยอดฮิตที่นิยมใช้ พบว่า
– อาบน้ำตัดขน 60.1%
– บริการรับฝากเลี้ยง 25.9%
– บริการสปานวด 6.7%
– บริการทำเล็บ 5.8%
ปัจจัยในการเลือกใช้บริการร้านเสริมสวยสัตว์เลี้ยง คือ
– ทำเลที่สะดวกต่อการเดินทาง
– รองลงมาคือความน่าเชื่อถือของสถานบริการ
– พนักงานมีจำนวนเพียงพอและเชี่ยวชาญ
– แบรนด์มีชื่อเสียง
ส่วนค่าใช้จ่ายต่อครั้งในการใช้บริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่อยู่ที่ 1,000 – 3,000 บาทต่อครั้ง
– 1,000 – 3,000 บาทต่อครั้ง อยู่ที่ 57.4%
– 3,001 บาทขึ้นไปต่อครั้ง อยู่ที่ 27%
– ต่ำกว่า 1,000 บาทต่อครั้ง อยู่ที่ 15.6%
ส่วนความถี่ในการนำสัตว์เลี้ยงไปใช้บริการ ส่วนใหญ่มักนำสัตว์เลี้ยงเข้ารับบริการดังกล่าวประมาณ 1 ครั้งต่อเดือน
นอกจากนี้สิ่งที่คนรักสัตว์ทั้งหลายต้องการมี 3 อย่าง คือ
1. Pet Wellness Center บริการตรวจสุขภาพ รักษาโรค อาบน้ำ ตัดขน สปาสัตว์เลี้ยง ฝากสัตว์เลี้ยง จำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์ และปรึกษาแพทย์ออนไลน์
2. Pet Training ฝึกนิสัยสุนัขพันธุ์ดุ คลินิกดัดนิสัยสุนัข-แมว หรือการฝึกกีฬาเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขัน
3. After Death Service บริการรูปปั้นสัตว์เลี้ยงหลังเสียชีวิต สร้อยล็อกเก็ตแทนใจ หรือตุ๊กตาสุนัขเหมือนจริง
-
พร้อมรักษา
ในด้านการรักษาพยาบาล พบว่าคนเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่เลือกนำสัตว์ไปรักษาในคลินิกเอกชน เนื่องจากเดินทางสะดวก และเวลายืดหยุ่น
– 43.3% เลือกที่จะนำสัตว์ไปรักษาในคลินิกเอกชน
– 41.2% เลือกนำสัตว์เลี้ยงเข้ารักษาที่โรงพยาบาลสัตว์เอกชน
– 9.8% เลือกรักษาในโรงพยาบาลสัตว์รัฐบาล
โดยปัจจัยที่พิจารณาเลือกโรงพยาบาล หรือคลินิกในการใช้บริการ คือ ความเชื่อมั่นในสัตวแพทย์เป็นอันดับ 1 รองลงมา คือ ทำเลที่ตั้ง และชื่อเสียงของคลินิก ทางด้านการรักษาของสัตว์เอ็กโซติก คลินิกเฉพาะทางยังมีไม่มากเท่าไรนัก
“Pet Marketing – Pet Influencer” ความน่ารักของสัตว์เลี้ยงดึงดูดให้คนสนใจ และมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ
ขณะที่การสื่อสารการตลาดจากแบรนด์ถึงคนเลี้ยงสัตว์ หรือที่เรียกว่า “การตลาดสัตว์เลี้ยง” (Pet Marketing) คือ กลยุทธ์การตลาดที่แบรนด์เลือกใช้ “สัตว์เลี้ยง” เข้ามาเป็นอัตลักษณ์ส่วนหนึ่งของแบรนด์เพื่อช่วยในการสื่อสารและสร้างภาพจำ หรือเพื่อผลประโยชน์ทางการตลาด
สำหรับการใช้สัตว์เลี้ยงในการโฆษณา (Pet on Advertising) พบว่า
– ภาพโฆษณาที่มีสัตว์และสินค้าอยู่ด้วยกันมีผลต่อการตัดสินใจซื้อมากที่สุด 43.82%
– รองลงมาคือ ภาพที่มีสินค้าอย่างเดียว 37.08%
– ภาพคน สัตว์ และสินค้า มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ 19.10%
โดยภาพที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อมากที่สุดอย่างภาพที่มีสัตว์และสินค้าอยู่ด้วยกันจะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ เพราะสัตว์จะช่วยดึงดูดได้ ดูไม่เน้นการขายมากจนเกินไป และสามารถเปรียบเทียบขนาดของสินค้าได้อย่างชัดเจน
สำหรับสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคอยากเห็นสัตว์เลี้ยงในการสื่อสารการตลาด ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค สายการบิน เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์
นอกจากนี้ยังมีสัตว์เลี้ยงที่ทรงอิทธิพลบนโลกโซเชียล หรือ “Pet Influencer” หมายถึง สัตว์เลี้ยงที่มีอิทธิพลที่สามารถทำให้เกิดประโยชน์ด้านการตลาด
ประโยชน์ของ Pet Influencer มีทั้งช่วยโปรโมทสินค้า หรือบริการเพื่อคนรักสัตว์ ช่วยในการโปรโมทกิจกรรมและการท่องเที่ยวเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง และมอบความบันเทิงแก่ผู้ติดตาม และสร้างรายได้จากคอนเทนต์ต่างๆ
โดยประเภทของคอนเทนต์ที่โดนใจผู้ชมมากที่สุด คือ คอนเทนต์บันเทิง ขำขัน โชว์พฤติกรรมสัตว์เลี้ยงน่ารักๆ โดยคลิปสั้น หรือ Short Clip ถือเป็นหัวใจสำคัญในการทำคอนเทนต์
“PETSUMER Marketing” กลยุทธ์มัดใจทาสสายเปย์ และโอกาสทางธุรกิจ
จาก Insights ของภาพรวมตลาดสัตว์เลี้ยง และเหล่าทาส ทีมวิจัยได้พัฒนากลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อมัดใจเหล่าทาสสายเปย์ และสร้างโอกาสทางธุรกิจ โดยพัฒนาออกมาเป็นกลยุทธ์ “PETSUMER” ดังนี้
กลยุทธ์ทางด้านสินค้า และบริการ
– Personalization – ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะด้าน
– Easy Access – ความสะดวกและเข้าถึงง่าย คือ หัวใจ
– Trustworthiness – มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ น่าไว้วางใจ
– Social Influence – อิทธิพลจากคนในสังคมสำคัญต่อการตัดสินใจ
กลยุทธ์ด้านการสื่อสาร
– Uniqueness – สร้างเอกลักษณ์ให้โดดเด่นและเป็นที่จดจำ
– Mental Support – การสื่อสารโดยใช้สัตว์เพื่อคลายเครียด
– Engagement – สร้างความผูกพันกับลูกค้าจนเกิด Loyalty
– Rights – ให้ความสำคัญกับสิทธิของสัตว์เลี้ยง
โดยมีช่องทางในการสร้างโอกาสจากตลาดเหล่าทาสสายเปย์ได้มากมาย ได้ในด้านสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง ได้แก่ การขายของที่ระลึก หรือของแทนใจ การขายอาหารเสริม หรือวิตามิน และแฟชั่นสัตว์เลี้ยง
ส่วนด้านการบริการสำหรับสัตว์เลี้ยงก็มีโอกาสในการธุรกิจเช่นกัน อาทิ ศูนย์บริการสัตว์เลี้ยงครบวงจร คลินิกสำหรับสัตว์ Exotic บริการ Telemedicine และบริการฝึกสัตว์เลี้ยง